วันนี้ (วันที่ 22 เมษายน 68) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง(ศาลปราบโกง) นัดอ่านคำพิพากษาคดีสำคัญ
คดีกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐาน คำให้การพยาน ความเร็วรถยนต์ฯ เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา เพื่อให้พ้นผิด หรือรับโทษน้อยลงจากกรณีที่นายวรยุทธขับรถสปอร์ตหรูเฉี่ยวชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต (กระทั่งอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ก่อนจะถูกตรวจสอบและสั่งฟ้องภายหลัง)
1. เป็นคดีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบหมายเลขดำ อท 131/2567
พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์
ฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุดกับพวกรวม 8 คน เป็นจำเลย
ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 200, 83, 86 พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172,192
2. จำเลยเป็นคนดัง มีหน้ามีตาในสังคม ได้แก่
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. จำเลยที่ 1
พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบก.กองพิสูจน์หลักฐาน ที่ 2
พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.ทองหล่อที่ 3
นายเนตร นาคสุข อดีตรอง อสส.ที่ 4
นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ที่ 5
นายธนิต บัวเขียว ที่ 6
นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ที่ 7
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักฟิสิกส์ อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ ม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ 8
อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้ง 8 คน ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวคนละ 2 แสนบาท
3. คดีนี้ ป.ป.ช.มีหนังสือถึงอัยการสูงสุด แจ้งมติที่ขอให้ดำเนินคดีอาญา ฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5, พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7, นายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10, นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9, นายธนิต บัวเขียว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12, นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13, รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19
ดำเนินคดี พล.ต.อ.สมยศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, พล.ต.ต.ธวัชชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ
พ.ต.อ.วิรดล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานสืบสวนสอบสวน (สบ 3) สน.ทองหล่อ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายเนตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 13 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4, 7 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
นายชัยณรงค์ พนักงานอัยการ นายธนิต นายชูชัย และ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
รวมให้ดำเนินคดีอาญาผู้ถูกกล่าวหา 8 คน
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ ได้แก่ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ พ.ต.อ.วิวัฒน์ สิทธิสรเดช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติกันไว้เป็นพยาน
พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง หรือคทาธร พัชรนามเมือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 และ พล.อ.ท.สุรเชษฐ ทองสลวย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ. อาญา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 63
พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ถูกกล่าวที่ 11 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 64
นายธานี อ่อนละเอียด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พ.ต.ท.ทรงวุฒิ เจริญวิชยเดช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 นายอุสาห์ ชูสินธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17 และ น.ส.ณัฎณิชา ทองชื่น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิด
4. ประเด็นสำคัญที่รอติดตามในคำพิพากษา คือ เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงความเร็วรถหรูของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555
ตามข้อมูลที่คณะกรรมการชุดนายวิชา มหาคุณ นำส่งให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี
คำพิพากษาจะปรากฏข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง?
ประการสำคัญ... ตำรวจพิสูจน์หลักฐานผู้คำนวณความเร็วรถ ได้นำพยานหลักฐานสำคัญเป็น “เทปบันทึกเสียง” มอบให้กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชามหาคุณ เป็นประธาน
เป็นพยานหลักฐานที่อาจารย์วิชายืนยันว่า ได้ผ่านการพิสูจน์ตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ และทำให้คณะกรรมการเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ถึงที่มาของเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสาร 7 หน้าที่เป็นรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานไว้ว่า เทปบันทึกเสียงในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถที่ส่งมอบให้กับคณะกรรมการชุดนายวิชา นอกจากยืนยันตัวบุคคลในห้องแล้ว ยังระบุเนื้อหาอย่างน้อย 2 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.การเลือกกำหนดให้ลงวันที่สอบปากคำ 2.การกำหนดตัวเลขความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.และ 3.ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลข้อเท็จจริงในคดีนี้
เนื้อหาจากการถอดเทปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2559 บางตอน เช่น
พ.ต.อ. ว.คนที่ 1 : วันนี้ยังไม่ทันด้วย ธนสิทธิ ยังไม่คำนวณเลย ถ้าให้การวันนี้เลย จะดู
อัยการ : อยากให้ขอให้เป็น 79.22 ตามที่ อาจารย์สายประสิทธิ์คำนวณ
พล.ต.ต. : เราคำนวณตามอาจารย์ได้หรือไม่
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : คำนวณก็อาจจะได้สูงกว่านั้นนิดหน่อย แต่คงสูงถึง 100 กว่า
อัยการ : เปล่า คือ ตามกฎหมายเนี่ย ห้ามขับเกิน 80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ที่ range ตรงนั้น
พ.ต.อ. ว.คนที่ 2 : เดี่ยวลองไปดูตัวเลขก่อน
พล.ต.ต. : อาจารย์คิดได้ 79.22
อัยการ : ครับผม
....
5. ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการตรวจสอบของคณะกรรมการชุด นายวิชา มหาคุณ ระบุถึงขบวนการแทรกแซงวิ่งเต้นคดีบอส
บ่งชี้ว่า มีอัยการบางคนพยายามตัดตอนคดี, มีคนวิ่งเต้นคดีช่วยเหลือผู้ต้องหา, มีการปั้นแต่งพยานหลักฐานเท็จ ฯลฯ
พยานปากเอกที่เสียชีวิตกะทันหันที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็พบว่าเป็นลูกน้องของอดีต สว.ที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับอัยการสูงสุดบางคน ถึงขนาดมีภาพไปร่วมงานบุญงานบวชกันมา
ในรายงานผลการตรวจสอบฯ ระบุอย่างชัดเจนว่า รองอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้องคดีบอส ใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบ
“...คณะกรรมการเห็นว่า การใช้อำนาจในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม และต่อมา การสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ ต้องรับโทษ เพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมและรับฟังเฉพาะพลอากาศโท จ. และ นาย จ. ซึ่งเป็นพยานเคยถูกสอบไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า มิใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ผู้พิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้ง อันได้แก่ รองอัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุดได้เคยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือและนาย น. เชื่อคำพยานพลอากาศโท จ. เพียงเพราะเป็นข้าราชการระดับสูง แต่กลับไม่เชื่อเหตุผลและดุลพินิจ ของอดีตอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดที่สั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมในทุกครั้งก่อนหน้า อีกทั้งไม่นำพาต่อความเห็นและเหตุผลของพนักงานอัยการผู้ทำความเห็นชั้นต้นที่เสนอให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมที่สอดคล้องกับเหตุผลการยุติความเป็นธรรมทั้งสิบสามครั้งก่อนหน้า
การใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องของนาย น. จึงอยู่บนพยานหลักฐานเก่าที่ได้มีการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง เป็นการกลับดุลพินิจอันเป็นความเห็น ของอดีตผู้บังคับบัญชาและอดีตรองอัยการสูงสุดซึ่งทำหน้าที่มาก่อนตนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๐๙/๒๕๔๙ ซึ่งวินิจฉัยว่า การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการต้องอยู่บนรากฐานและอยู่ในกรอบของความสมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าพนักงานอัยการจะมีอิสระในการใช้ดุลพินิจเพื่อใช้ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน กลั่นกรองคดี แต่ย่อมเป็นความมีอิสระที่มีกรอบของความชอบด้วยกฎหมาย และขอบเขตของความสมเหตุสมผล เป็นเหตุผลที่สามารถชี้แจงได้…”
ช่างบังเอิญ... รองอัยการสูงสุดคนเดียวกันนี้เอง ที่สั่งไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินพานทองแท้ ทั้งๆ ที่ คดีฟอกเงินพานทองแท้ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นควรพิพากษาลงโทษให้จำคุกจำเลย 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และทำความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษาด้วยครั้งนั้น
วันนี้ ติดตามคำพิพากษาคดีกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐาน คำให้การพยานความเร็วรถยนต์ฯ เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา
ตั้งแต่มือชง ยันมือตบ ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี