เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีร่วมกันกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในคดี คำให้การพยานความเร็วรถยนต์ฯ เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหา เพื่อให้พ้นผิด หรือรับโทษน้อยลง
1. ศาลพิพากษา จำคุก 3 ปี นายเนตร นาคสุข
จำคุก 2 ปี นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม
และยกฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมจำเลยที่เหลือ 5 ราย
2. คำพิพากษาศาลบางตอน
ศาลพิเคราะห์ว่า นายชัยณรงค์ จำเลยที่ 4 เข้าไปโดยอวดอ้างตน “ขอความกรุณา ไม่ให้เกิน 80 เพราะตามกฎหมายไม่ให้เกิน 80” ซึ่งทุกคนในห้องได้ยินชัยณรงค์กล่าวอ้างสถานะและบทบาทหน้าที่การเป็นอัยการ ศาลมองว่าชัยณรงค์ใช้สถานะตัวเองแทรกแซงพนักงานสอบสวนไม่ให้ทำหน้าที่อิสระ เป็นการกระทำความผิดส่วนตัว
นายเนตร จำเลยที่ 8 อดีตรองอัยการสูงสุด ศาลฯ พิจารณาว่า ใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีโดยมิชอบ มีเจตนาช่วยเหลือนายวรยุทธให้ได้รับโทษน้อยลง จากการรับฟังพยาน 2 ปากที่ได้มาให้การใหม่เรื่องความเร็วรถซึ่งผ่านมานานแล้ว ทำให้คำให้การของพยานไม่น่าเชื่อถือ แต่จำเลยที่ 8 ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ทั้งที่ตัวเองเป็นอัยการระดับสูง ควรต้องใช้ดุลพินิจโดยรอบคอบ อีกทั้งศาลเห็นว่าจำเลยที่ 8 วินิจฉัยคดีโดยไม่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ทั้งที่ควรนำตัวนายวรยุทธเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้องค์กรอัยการเสียหาย
พิพากษาว่า นายชัยณรงค์ จำเลยที่ 4 มีความผิด สั่งจำคุก 2 ปี
นายเนตร จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สั่งจำคุก 3 ปี
และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-3 และ 5-7
ที่น่าสนใจ คือ ศาลให้ออกหมายขัง จำเลยที่ 1-3 และ 5-7 ระหว่างอุทธรณ์
คือ ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ แม้ว่าจะยกฟ้องจำเลยเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม จำเลยทุกคนก็มีสิทธิประกันตัว
3. แต่ที่อาจทำให้จำเลยคดีนี้ นอนไม่หลับต่อไป คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ทำความเห็นเเย้ง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 8 คน
เนื้อหาและถ้อยคำในความเห็นแย้ง มีเหตุผลแน่นหนา น่าสนใจมาก
บางตอนเช่น
“....ตามภาพจากกล้องวงจรปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุค่อนข้างโล่ง การจราจรไม่หนาแน่น และ ความเร็วของรถยนต์ที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิดแล่นด้วยความเร็วสูง การเฉี่ยวชนของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์คันที่นายวรยุทธและดาบตำรวจวิเชียรขับชนกันลักษณะขับตามกันไป
เมื่อพิจารณา สภาพแวดล้อมทั้งหมดและความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว ความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับ และพันตำรวจเอกธนสิทธิคำนวณความเร็วได้ในครั้งแรกนั้น แม้จะมีความคลาดเคลื่อนของความเร็วรถยนต์ไปบ้าง ความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับก็น่าจะเกินกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างแน่นอน
จึงฟังได้ว่าการสอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติมทั้งสองครั้ง เกี่ยวกับวิธีการคำนวณหาความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับและมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ลงเหลือ 79.22 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น มีเจตนาและวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธ ขับให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกินกว่าความเร็วที่กฎหมายกำหนดและเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธในการที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
และพันตำรวจเอกธนสิทธิลงลายมือชื่อในคำให้การเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ในการสอบสวนเพิ่มเติมทั้งสองครั้ง เนื่องจากถูกโน้มน้าว กดดันให้ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การด้วยความสมัครใจ
การเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์มีการกระทำกันเป็นขบวนการ ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
โดยจำเลยที่ 5 ทนายความของนายวรยุทธได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไปที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มี จำาเลยที่ 1 เป็นกรรมาธิการ และร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการในคดีที่นายวรยุทธเป็นผู้ต้องหาเพื่อขอให้สอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับ
ก่อนวันสอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ให้พลตำรวจโทมนูพาพันตำรวจเอกธนสิทธิไปพบที่บ้านพัก จำเลยที่ 1 พูดขอให้ลดความเร็วรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับ
วันสอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุด จำเลยที่ 2 เป็น ผู้บังคับบัญชาของพันตำรวจเอกธนสิทธิเข้าร่วมในการประชุมด้วย เพื่อสร้างความกดดัน และพูดโน้มน้าวให้พันตำารวจเอกธนสิทธิให้การเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์ลง
ซึ่งจากการถอดเทปการสนทนา (เทปที่ 2) จำเลยที่ 4 ได้พูดในที่ประชุมว่า “อยากให้ขอให้เป็น 79.22 ตามที่อาจารย์สายประสิทธิ์ คำนวณ” (หมายถึงจำเลยที่ 7) จำเลยที่ 2 พูดว่า “เราคำนวณตามอาจารย์ได้ไหม”
คำพูดของจำเลยที่ 2 เป็นการสนับสนุนคำพูดของจำเลยที่ 4 ให้เปลี่ยนความเร็วรถยนต์ลงจาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 79.22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นทนายความของนายวรยุทธ
จำเลยที่ 6 รู้จักกับนายเฉลิม อยู่วิทยา บิดาของนายวรยุทธ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสยามไวเนอรี่ จำกัด ผู้ที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่สโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ที่จำเลยที่ 6 ดูแล
และจำเลยที่ 7 ได้เบิกความตอบศาลถามว่า เกี่ยวกับคดีนี้จำเลยที่ 5 และที่ 6 มาขอพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อติดต่อขอพบข้าฯ อธิการบดีอนุญาตและโทรศัพท์ให้ข้าฯ ไปพบที่ห้องทำงานของอธิการบดี ข้าฯ ได้พบกับจำเลยที่ 6 แต่ไม่แน่ใจว่ามีจำเลยที่ 5 อยู่ด้วยหรือไม่ หลังจากนั้นก็ พบจำเลยที่ 6 อีกประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง และเคยไปรับประทานอาหารกับจำเลยที่ 6 ที่ร้านอาหารที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว แต่ในการพูดคุยไม่ได้พูดคุยเฉพาะเจาะจงกำหนดความเร็วให้ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 น่าจะรู้จักและมีความคุ้นเคยกันมาก่อน
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้ร่วมกันประสานงานให้จำเลยที่ 7 มาแสดงวิธีการคำนวณความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับ เพื่อให้พันตำรวจเอกธนสิทธิเห็นคล้อยตามและยอมให้การเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์
จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานอัยการอาศัยความรู้ ในด้านกฎหมายเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ความเร็วรถยนต์ และช่วยพูดโน้มน้าวให้มีการลดความเร็วรถยนต์
จำเลยที่ 7 เป็นนักวิชาการเข้าร่วม ประชุมเพื่อแสดงวิธีการคำนวณความเร็วรถยนต์ และทราบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าการสอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติมเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับให้เหลือความเร็วของรถยนต์ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากจำเลยที่ 4 พูดในที่ประชุมว่า “เปล่าคือตามกฎหมายเนี่ยห้ามขับเกิน 80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ range ตรงนั้น” “อันนี้ ขอความกรุณาท่านผู้การ คือ ทางอัยการเค้าสั่งมาอย่างนี้ คือเค้าก็มองว่าเค้าจะช่วยนะ คือก็อยากให้เค้าสบายใจนิดนึง ใช่ไหมฮะ เวลาเค้าจะสั่ง คือที่เค้าสั่งมาเนี่ยเค้าตั้งใจจะช่วยเต็มที่ แล้วก็อยากจะขอความกรุณานะฮะ เรียนตรงๆ เลยฮะ”
ถ้าไม่มีการตกลงรายละเอียดเรื่องการลดความเร็วของรถยนต์กันไว้ก่อนแล้วจำเลยที่ 4 ก็ไม่น่าจะพูดประโยคเหล่านั้นในที่ประชุม เพราะผู้ที่ได้รับฟังย่อมเข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งในการประชุม พันตำรวจเอกธนสิทธิก็ยังคงยืนยันความเร็วของรถยนต์ตามวิธีการคำานวณของตนเช่นเดิมจนต้องมีการสอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติมถึง 2 ครั้ง
พยานในชั้นไต่สวนมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พันตำรวจเอกธนสิทธิลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การเพิ่มเติมทั้งสองครั้งโดยไม่สมัครใจ
จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนปล่อยให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสอบปากคำพันตำรวจเอกธนสิทธิเพิ่มเติม พูดโน้มน้าวให้พันตำรวจเอกธนสิทธิเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถ และจัดทำบันทึก คำให้การเพิ่มเติมของพันตำรวจเอกธนสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนจำเลยที่ 8 หลังจากมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากจำเลยที่ 5 ทนายความของนายวรยุทธแล้ว เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งคดี และวินิจฉัยสั่งคดีไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลังจากพันตำรวจเอกธนสิทธิลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับลงเหลือความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว จำเลยที่ 3 ส่งมอบบันทึกคำให้การเพิ่มเติมของพันตำรวจเอกธนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 8 ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีของนายวรยุทธพิจารณา จำเลยที่ 8 วินิจฉัยสั่งคดีโดยไม่ฟ้องนายวรยุทธในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายทั้งที่ก่อนหน้านั้นพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีได้มี คำสั่งฟ้องนายวรยุทธในข้อหาดังกล่าวไว้แล้ว
การกระทำของจำเลยทั้งแปดมีเจตนาช่วยเหลือนายวรยุทธ เพื่อไม่ให้ต้องรับโทษในความผิดในข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ส่วนจำเลยที่ 8 เป็นพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยสั่งคดี
จำเลยที่ 3 และที่ 8 ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ ไม่ให้ต้องได้รับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 8 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนและในการวินิจฉัยสั่งคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของเจ้าพนักงาน แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 จะร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 8 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวการ เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 8 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86”
สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย
จำเลยที่ 1 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ที่ 1
จำเลยที่ 2 พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบก.กองพิสูจน์หลักฐาน ที่ 2
จำเลยที่ 3 พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน(สบ 3) สน.ทองหล่อ ที่ 3
จำเลยที่ 4 นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส
จำเลยที่ 5 นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร
จำเลยที่ 6 นายธนิต บัวเขียว ที่ 6
จำเลยที่ 7 รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักฟิสิกส์ อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ ม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
จำเลยที่ 8 นายเนตร นาคสุข อดีตรอง อสส.
คำพิพากษาข้างต้น ยังไม่ถึงที่สุด ต้องรอติดตามคำพิพากษาในชั้นสูงขึ้นไป
อีกครั้ง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี