เมริห์ เดมิรัล กองหลังทีมชาติตุรกี โดนแบนเป็นจำนวน 2 เกม เนื่องมาจากการกระทำท่าดีใจ ทางการเมือง ระหว่างการแข่งขันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2024
เมื่อปีก่อนผมเพิ่งเขียนเรื่องชาติพันธุ์กับฟุตบอลยูโร รอบคัดเลือกไปหมาดๆ พร้อมกับทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เมื่อเหตุเกิดหนนี้ไม่ใช่ “ครั้งแรก”
ไม่มีทางเลยที่จะเป็น “ครั้งสุดท้าย”
อยู่ที่ว่า “ตัวละคร” ครั้งต่อไปจะเป็นใครให้ปวดศีรษะ!!!!
ต้องบอกว่า ช่วงหลังนี่เริ่มถี่ยิบมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดขึ้นอีกครั้งในบอลยูโร 2024 ที่เยอรมนี คราวนี้ขยับไปเป็น “พวกเติร์ก”
สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป(ยูฟ่า) สั่งแบน เมริห์ เดมิรัล กองหลังทีมชาติตุรกี เป็นจำนวน 2 เกม เนื่องมาจากการกระทำท่าดีใจ ทางการเมือง ระหว่างการแข่งขันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2024
เดมิรัล ทำสัญลักษณ์ของ “เกรย์ วูล์ฟส์” แนวนีโอฟาสซิสต์ หลังจากทำประตูในเกมยูฟ่า ยูโร 2024 รอบ 16 ทีมสุดท้าย กับ ออสเตรีย
เคสนี้ผิดมาตรา 16, 2 (e) ของโปรโตคอลการดำเนินการทางวินัยของยูฟ่า ได้ประกาศห้าม “การใช้ท่าทาง คำพูด วัตถุ หรือวิธีการอื่นใดในการส่งข้อความยั่วยุที่ไม่เหมาะกับการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะข้อความยั่วยุที่เป็นทางการเมือง อุดมการณ์ ศาสนา หรือลักษณะที่น่ารังเกียจ”
มาตราในลักษณะนี้ถูกหยิบยกมาบ่อยมากทั้งจากยูฟ่า และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า
องค์กรเกรย์ วูล์ฟส์ นี้ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 1969 ในชื่อ“ไอเดียลลิสต์ ฮาร์ตส์” (Idealist Hearts) เป็นกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการต่อต้านแนวคิดสังคมนิยมในหมู่ปัญญาชนชาวตุรกี โดยพรรคการเมืองกิจชาตินิยม (Nationalist Action Party)
ต่อมาถูกเรียกว่า “หมาป่าสีเทา” จากโลโก้ของพวกเขาที่มาจากตำนานของตุรกี โดย เกรย์ วูล์ฟส์ เป็นขบวนการทางการเมืองแนวขวาจัดของตุรกี และเป็นกลุ่มองค์กรเยาวชนของพรรค Nationalist Movement Party (MHP) มาโดยตลอด
สิ่งที่มัดตัวของ เดมิรัล นั่นก็คือเขาโพสต์ภาพผ่านทางโซเชียลมีเดีย พร้อมบรรยายภาพว่า “Ne mutlu Türküm diyene” หรือ “คนที่บอกว่าเขาเป็นชาวเติร์กมีความสุขแค่ไหน” ซึ่งเป็นคำขวัญที่ตั้งโดย มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก(Mustafa Kemal Atatürk) รัฐบุรุษผู้ก่อตั้งตุรกี และเป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่มุมหนึ่งเป็นที่รู้จักในข้อหาก่ออาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวอาร์เมเนียและคนอื่นๆ ชนกลุ่มน้อย
เกมปะทุเดือดอื้อฉาวไปทั่วโลกระหว่าง เซอร์เบีย กับ แอลเบเนีย เมื่อปี 2015
เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย และเสียงแตก
นับเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ 2 ในยูโรหนนี้โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในช่วงรอบคัดเลือก ระหว่าง โรมาเนีย กับ โคโซโว
เกมถูกหยุดชั่วคราวในนาทีที่ 18 ภายหลังจากเสียงเชียร์จากแฟนบอลชาวโรมาเนียส่วนหนึ่งที่ อารีน่า เนชันนาล่า ในบูคาเรสต์
ผู้เล่นโคโซโว เดินออกจากสนามระหว่างเกมกับ โรมาเนีย หลังจากที่แฟนๆ แดนผีดิบ ตะโกนว่า “โคโซโวคือเซอร์เบีย” พร้อมกับกางแบนเนอร์ขนาดเขื่องพร้อมข้อความแบบเดียวกัน!!!!
วิลลี่ เดลาจ็อด ผู้ตัดสินชาวฝรั่งเศส เป่ายุติเกม ก่อนที่การแข่งขันจะกลับมาลุยกันต่อในอีก 50 นาทีต่อมา
โฆษกสนาม ได้ส่งคำเตือนครั้งสุดท้าย ด้วยการประกาศขอให้แฟนบอล “อย่าตะโกนชื่อเพื่อนบ้านของเรา” และขอให้ “อย่าแสดงแบนเนอร์แบบเดียวกันนี้อีกเลย”
ไม่เพียงแต่ป้ายฉาว “โคโซโวคือเซอร์เบีย” แล้ว กลุ่มแฟนบอลกลุ่มเดียวกัน ยังทำแบนเนอร์ขนาดใหญ่ ที่มีข้อความว่า “เบสซาราเบีย คือ โรมาเนีย”
สโลแกนนี้เป็นคำ “ชาตินิยมโรมาเนียน” ที่ได้รับความแพร่หลายและใช้กันทั่วไป
กล่าวคือ คำนี้ถูกอ้างเกี่ยวกับภูมิภาค เบสซาราเบีย (Bessarabia) ซึ่ง “เคยเป็น” ส่วนหนึ่งของโรมาเนีย ระหว่างปี 1918-1940 แม้ว่าตอนนี้จะถูกแบ่งใหม่ และอยู่ในประเทศมอลโดวากับบางส่วนอยู่ใน ยูเครน
ทำให้สุดท้าย การตะโกนต่อต้านเหล่านักบอลแห่งโคโซโวมันแรงชนิดที่เรียกได้ว่า “ล้ำเส้น”
ด้วยการที่แผ่นดินถูก “จัดสรร” หลังจบทั้ง “สงครามโลก ครั้งที่ 1” กับ “สงครามโลก ครั้งที่ 2” แน่นอนว่า มันย่อมมีความทับซ้อนกันไปมา จากนั้นเมื่อได้รับเอกราชหลังจากการล่มสลายของพี่เอื้อยใหญ่คอมมิวนิสต์ อย่าง สหภาพโซเวียต
หลายที่ลุกเป็นไฟ
ตัวอย่างของชาติที่เกิดเหตุในสนามก็คือ แอลเบเนีย
ป้ายของแฟนบอลโรมาเนีย ที่ทำให้ โคโซโว ต้องวอล์กเอาท์ในยูโรหนนี้รอบคัดเลือก
ชาติที่หลอมรวมหลากหลายวัฒนธรรม เพราะเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ จากนั้นจึงถูกยึดครองโดย จักรวรรดิออตโตมัน
เท่ากับว่าได้รับประเพณีจาก กรีก, โรม และเวเนเชี่ยนส์ แล้วมีพื้นที่ดินแดนของตนติดอยู่กับ กรีซ,ยูโกสลาเวีย, โคโซโว, เซอร์เบีย และทะเลเอเดรียติก
เมื่อจบสงครามบอลข่าน ในปี 1913 “โคโซโว” ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย หรือ อดีตยูโกสลาเวีย โดยพื้นที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวแอลเบเนี่ยนอาศัยอยู่
ไม่แปลกที่จะเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
หนึ่งคือประชากรเชื้อสายแอลเบเนี่ยน กับอีกหนึ่งคือ ประชากรเชื้อสายเซิร์บ เพราะแอลเบเนีย มีพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกันกับ เซอร์เบีย
จุดนั้นมี “โคโซโว” คั่นกลาง
จากนั้นเกิดเรื่องผ่านศึกยูโร 2016 รอบคัดเลือก ระหว่างเซอร์เบียกับ แอลเบเนีย และศึกบอลโลก 2018 ระหว่าง สวิตเซอร์แลนด์ กับเซอร์เบีย
คือคำตอบเรื่อง “การแสดงออกถึงความขัดแย้ง”
ยูโร 2016 รอบคัดเลือก กลุ่ม ไอ เมื่อวันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2015 ที่สนามปาร์ติซาน สตาดิโอน เมื่อครั้งที่ แอลเบเนีย ไปเยือนเซอร์เบีย ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1967
ด้วยแผนที่โลกมันกองติดกันอยู่ตรงนั้น ไม่แปลกที่ โคโซโว จะมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายแอลเบเนีย ถึง 9 คนเกิดในโคโซโว
ก่อนแข่ง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ได้ทำการสั่งห้ามแฟนบอลทีมเยือนตามมาเชียร์เป็นอันขาด
เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุรุนแรง จากการเมือง....แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ
ท่าดีใจ “อินทรีสองหัว” ของ กรานิต ชาก้า กับ เซอร์ดาน ชาคิรี่ ในบอลโลก 2018
ผ่านได้เพียงครึ่งชั่วโมงก็มี เครื่องบินเล็กไร้คนขับ หรือ “โดรน”ลำหนึ่งบินเข้ามาในสนาม พร้อมกับธงกลุ่มชาตินิยมแอลเบเนีย
ธงดังกล่าวที่มีภาพของ อิสมาอิล เกมาลี่ ผู้นำการเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิออตโตมัน และก่อตั้งรัฐแอลเบเนีย ปี 1912 กับ อิซ่า โบเลตินี่ ผู้นำการประท้วงของชาวแอลเบเนีย เมื่อปี 1910
ไม่เพียงแต่ ธงกลุ่มชาตินิยมแล้ว ยังมีสัญลักษณ์แผนที่“เกรตเตอร์ แอลเบเนีย” อีกด้วย
กล่าวคือ “เกรตเตอร์ แอลเบเนีย” มาจาก ดินแดนที่กลุ่มชาตินิยมชาวแอลเบเนีย มีความประสงค์ให้เกิดขึ้น นอกเหนือจาก แอลเบเนีย กับ โคโซโว ยังมีพื้นที่ครอบคลุมที่น่าสนใจ
ประกอบไปด้วย ส่วนหนึ่งของ เปรเซโว, บูยาโนวัช กับ เม็ดเวด้า ในเซอร์เบีย, ดินแดนทางตะวันออกของมอนเตเนโกร, ดินแดนตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของมาซิโดเนีย และ ตะวันตกเฉียงเหนือของกรีซ
ระหว่างที่ทุกคนกำลังสับสนกับเหตุการณ์ ปรากฏว่า สเตฟาน มิโตรวิช เซ็นเตอร์ฮาล์ฟเซอร์เบีย พยายามดึงธงลงมา ทำให้นักเตะแอลเบเนีย ไม่พอใจ ก่อนจะเกิดการชุลมุน จนเหตุการณ์บานปลายมีการปะทะกันอย่างรุนแรงของนักบอลทั้งสองทีม รวมไปถึงแฟนบอลเซอร์เบียบางรายที่ลงมาในสนาม
มาร์ติน แอ็ตกินสัน ผู้ตัดสินจากอังกฤษ ต้องสั่งนักเตะเข้าห้องพักโดยด่วน และหลังหยุดไปนาน 30 นาที จึงมีการประกาศยุติการแข่งขันในนาทีที่ 41 เรื่องนี้ฉาวไปทั่วโลก
สงครามที่ปะทุอยู่ตลอดเป็นเวลานับร้อยปี ส่งผลให้ประชาชนของแอลเบเนียบางส่วนก็ลี้ภัยไปตามที่ต่างๆ ในยุโรป และสถานที่ที่พวกเขาไปพักพิงแห่งใหม่
หนึ่งในเป้าใหญ่ก็คือ “สวิตเซอร์แลนด์”
เหตุการณ์มาปะทุในบอลโลก 2018 สวิตเซอร์แลนด์ เจอกับ เซอร์เบีย
กรานิต ชาก้า ที่ครอบครัวอพยพจากโคโซโวมาอยู่ บาเซิ่ล ตั้งแต่ยังไม่เกิด ก่อนที่เขาเลือกเล่นให้ทีมชาติสวิส ผิดกับพี่ชายคือ ตูลองต์ ชาก้า เลือกเล่นให้ทีมชาติแอลเบเนีย!!!
พ่อของ ชาก้า เคยถูกคุมขังในอดีตยูโกสลาเวียเพื่อรณรงค์เพื่อสนับสนุนอิสรภาพแห่งโคโซโว
อีกคนคือ เชอร์ดาน ชาคิรี่ ปีกหุ่นมะขามครึ่งข้อ เขาเกิดที่เมืองจิลัน ทางตะวันออกของโคโซโว ซึ่งครอบครัวของเขาอพยพจากแดนสงคราม ในปี 1992 ซึ่ง ชาคิรี่ อายุแค่ขวบเดียวมาอยู่แดนนาฬิกา
ชะตาฟ้าลิขิตให้ทั้งสองคนนี้ยิงประตูได้ พร้อมกับทำท่าดีใจเหมือนกันนั่นคือ เอาสองมือแสดงสัญลักษณ์ เพื่อให้ดูเหมือน “นกอินทรีสองหัว”
ที่อยู่บนธงประจำชาติของแอลเบเนีย
กล่าวคือ “นกอินทรีสองหัว” เป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่ยุคคอนสแตนติโนเบิล เพื่อเน้นย้ำนำเตือนให้ผู้คนคำนึงถึงอุดมคติของความทรงพลัง ความทรงอำนาจ ความกล้าหาญ ความมีเสรีภาพ และความสูงส่งเรื่องเกียรติยศ
แน่นอนว่า เป็นการแสดงออกสัญลักษณ์ทางการเมือง และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง
เซอร์เบีย กับป้ายที่โดนฟีฟ่าแบนในบอลโลกหนล่าสุด
แม้ว่า ชาคิรี่ ยังบอกว่าไม่มีอะไร........แต่มันมีอะไรในนั้นแน่ ๆแต่ อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช หัวหอกเซิร์บ ก็ออกมาบอกว่าถ้ารักกันซะขนาดนั้น ทำไมไม่ไปเล่นให้ โคโซโว กันเลยล่ะ!!!
จากนั้นในบอลยูโร 2020 ที่ลงเตะกันในปี 2021 ซึ่งตามหลักใหญ่ใจความเดิมคนริเริ่มอย่าง มิเชล พลาตินี่ ระบุว่า ต้องการให้เป็น “ยูโร โรแมนซ์” แต่นอกจากไวรัสจะทำให้ความโรแมนติกหายไป เรื่องของชาติพันธุ์ยังทำให้เกิดเรื่องอีกต่างหาก
มาร์โก อาร์เนาโตวิช กองหน้าทีมชาติออสเตรีย แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหลังจากยิงประตูได้ ด้วยการไปตะโกนท้าทายใส่ เอซกาน อลิออสกี้ นักเตะนอร์ธ มาซิโดเนีย ว่า “กูจะ.....แม่พวกมึงไอ้แอลเบเนี่ยน!!!!”
ดาวิด อลาบา เพื่อนร่วมทัพพยายามใช้มือหุบปากเพื่อนแต่ก็ไม่ทันการณ์
ว่ากันว่าเหตุที่ อาร์เนาโตวิช หลุดคำผรุสวาทคำนี้ออกมานั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับสงครามโคโซโว ที่ เซอร์เบีย กับแอลเบเนีย มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในภูมิภาคนั้น
เป็นอีกหนึ่งภาพชัดของวงการฟุตบอลที่ไม่พ้นเรื่องการเมืองที่ปะทุความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ หลัง จากเด็กๆ ในรุ่นการล่มสลายของขั้วอำนาจในยุโรป เริ่มโตขึ้นมาตามปฏิทินกาลเวลา อ่านแล้วบางคนอาจเลิกคิ้วสงสัยว่า อ้าว...เป็นเกมระหว่าง ออสเตรีย กับ นอร์ธมาซิโดเนีย แล้วมันเกี่ยวอะไรกัน
เจาะลงรายละเอียดก็คือ พ่อของอาร์เนาโตวิชเป็นชาวเซอร์เบีย ซึ่งการที่เขาด่า อลิออสกี้ เป็นเหมือนกับการ “ด่าฝาก” เพราะต้องไม่ลืมว่า ลัทธิชาตินิยมแอลเบเนีย ในนอร์ธ มาซิโดเนีย ฝังรากมานานนั่นเอง!!!!
สายเลือด, เชื้อชาติ มันเป็นสิ่งที่ฟาดฟันกันมา เป็นเรื่องเปราะบาง และละเอียดอ่อน ซึ่ง อาร์เนาโตวิช จะมาโพสต์ผ่านโลกออนไลน์ตอนหลังว่า ไม่ได้ตั้งใจและขอโทษ ไม่ใช่พวกเหยียดเชื้อชาติ
แน่นอนว่ามันทันที่ไหน........
จากนั้นในบอลโลก หนล่าสุดที่กาตาร์ ปรากฏว่า ทีมชาติเซอร์เบีย ถูก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ปรับเงินเป็นจำนวน 20,000 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 7 แสนกว่าบาท จากกรณีข้อความบนธงชาติโคโซโว ในเกมนัดที่พบ บราซิล แล้วพวกเขาแพ้ไป 0-2
ฟีฟ่า จัดการปรับเงินครั้งนี้ หลังจากพบการแขวนธง ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า โคโซโว เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเซอร์เบีย ในห้องแต่งตัว
รูปภาพของธงที่มีข้อความว่า “เราไม่ยอมจำนน” ในภาษาเซอร์เบีย กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย เมื่อมันถูกแชร์โดยฮาจรูย่า เซกู รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และกีฬาของโคโซโว
โคโซโว ได้ประกาศเอกราชไปตั้งแต่ปี 2008 แต่ รัฐบาลเบลเกรด ยังคงถือว่า โคโซโว เป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบีย โดยมี รัสเซีย กับ สเปน หนุนหลังพวกเขา
แต่สหรัฐ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส รวมถึง ไทย รับรองให้เป็นรัฐเอกราชแล้ว
ย้ำเตือนความทรงจำอีกครั้งก็คือ เป้าประเด็นหลักอย่าง เซอร์เบียกับโคโซโว นั้นเคยเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดอย่างที่สุด เมื่อ เซอร์เบียส่งกองทัพฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในโคโซโวในปี 1998
จากนั้นในเดือนมิถุนายน 1999 สหประชาชาติ ได้ส่งทหารนาโต 40,000 คน เข้ารักษาความสงบในโคโซโว
จึงกลายเป็นสงครามระหว่าง ทหารเซิร์บ กับ ทหารนาโตสุดท้าย เซอร์เบีย ถอนทัพหลังโดนยำอย่างหนักถึง 3 เดือนเต็มๆ
จากนั้น โคโซโว จึงได้ชื่อว่าเป็นแคว้นหนึ่งของเซอร์เบีย เพียงในนามเท่านั้น เพราะการบริหารงานทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ โดยมีโดยกองกำลังทหารของสหประชาชาติ นำโดย นาโต เป็นผู้ดูแลความปลอดภัยในประเทศ
ประเด็นสำคัญก็คือ หลังจากเอกราชของโคโซโว หนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมรับเอกราชของพวกเขาคือ โรมาเนีย!!!!
พันตูกันดีเหลือเกิน และย้ำกันอีกทีว่า ไม่จบแค่เคสของ เดมิรัลแน่นอน!!!!!
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี