การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยเชื่อว่าทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงส่วนที่สำคัญที่สุดนั่นคือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการเริ่มสร้างกลไกการมีส่วนร่วมสำหรับประชาชน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการลดหรือร่วมแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การให้ความรู้กับการประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและการใช้งบประมาณต่างๆ การเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชันที่ประชาชนพบเห็นเพื่อส่งถึงหน่วยงานภาครัฐโดยตรง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนชาวไทยในการเข้าร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 63 ว่า รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งการสร้างกลไกให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร้องเรียน หรือชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันนั้น มีช่องทางการรับเรื่องของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ได้แก่
หนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถือเป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีพันธกิจส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีค่านิยมให้สังคมเกิดค่านิยมต่อต้านการทุจริต
สอง สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเพื่อดำเนินการไต่สวน และวินิจฉัยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
สาม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบการเงิน ทรัพย์สิน การจัดเก็บรายได้ การจัดซื้อจัดจ้าง ว่ามีการดำเนินการที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โดยคุ้มค่า ได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่ รวมทั้งทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานในกรณีที่การใช้จ่ายของหน่วยรับตรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทุจริตหรือปฏิบัติไม่เป็นไปภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
สี่ ศูนย์ดำรงธรรมจัดตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและดูแลการไม่ได้รับความเป็นธรรม ของประชาชนที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ
ห้า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในส่วนราชการ
หก สำนักนายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นความเป็นอยู่ของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ การแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย
ถึงแม้ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานภาครัฐจะมีครอบคลุมปัญหาด้านต่างๆ และมีหลากหลายรูปแบบให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นทางจดหมาย โทรศัพท์ สายด่วนเว็บไซต์ หรือจะร้องเรียนด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่พบเจอเรื่องราวทุจริตแต่ไม่กล้าร้องเรียน จากผลสำรวจประสบการณ์การใช้ช่องทางการร้องเรียนของประชาชนต่อหน่วยงานภาครัฐ ผ่านเพจต้องแฉ Mustshare พบสาเหตุสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกลไกแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แต่ยังไม่กล้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนเรื่องทุจริตต่อหน่วยงานภาครัฐ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ร้องเรียน สอง ขั้นตอนการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ต้องอาศัยกระบวนการที่ละเอียดรอบคอบ เอกสารที่ครบถ้วนเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้ใช้เวลาในการพิจารณาแก้ปัญหาต่างๆ เป็นเวลานาน รวมทั้งไม่มีช่องทางให้ประชาชนเข้ามาร่วมติดตามความคืบหน้าของเรื่องที่ร้องเรียนได้
นอกจากจะมีหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสการทุจริตจากประชาชนแล้ว ผลสำรวจจากเพจต้องแฉ Mustshare ยังพบว่ามีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบุคคล หรือภาคประชาสังคมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อร่วมเป็นสื่อกลาง และขับเคลื่อนประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เพจต้องแฉ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน กลุ่มนักข่าวประจำจังหวัด และยังมีชมรมต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนจากภาคประชาชนในการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ และยังสามารถทำงานร่วมกับภาครัฐได้ ซึ่งผลที่ได้รับจากการสำรวจพบว่าผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจในความปลอดภัย และยังเห็นถึงความคืบหน้าในการร้องเรียนได้อย่างรวดเร็วต่อการใช้ช่องทางของภาคประชาสังคม
ความร่วมมือของภาคประชาสังคมนอกจากจะสร้างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์แล้ว ยังได้ร่วมกันสร้างเครื่องมือให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบความผิดปกติของการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ โดยมีฐานข้อมูลและระบบวิเคราะห์กลโกงอัจฉริยะ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้ในการหาข้อมูลได้ง่ายผ่าน ACTai.co โดยมีความสามารถหลักคือ หนึ่ง เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต สอง ค้นหาข้อมูลได้สะดวก แค่กรอกรายละเอียดบางส่วนของโครงการ สาม มีระบบแจ้งเตือนหากพบความผิดปกติ โดยจะปรากฏสัญลักษณ์เครื่องหมายอัศเจรีย์ในกรอบสามเหลี่ยมสีเหลืองสี่ แสดงผลในรูปแบบที่ง่ายต่อการวิเคราะห์ ตาราง แผนภูมิชัดเจน และห้า สะดวกต่อผู้ใช้งาน
จะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเองต่างมีความพร้อมในการขับเคลื่อนกลไกการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันผ่านกระบวนการร้องเรียนแจ้งเบาะแส และการสร้างเครื่องมือสำหรับประชาชนเพียงแต่ยังขาดความเชื่อมโยง หรือการร่วมมือกันในการแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานดังกล่าว ซึ่งอาจจะต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาการทำงานร่วมกัน และหวังว่าพวกเราจะไม่ท้อต่อการเป็นส่วนสำคัญเพื่อร่วมพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี