nn ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานในหลานเซกเตอร์...โดยเฉพาะภาคการผลิต และการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เหตุเพราะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และตามไม่ทันกับกระแสใหม่ของโลกที่มาเร็วและแรง ทั้ง กระแสดิจิทัล ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ในภาคการส่งออก กลุ่มสินค้าที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าว เนื่องจากที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยค่อนข้างทรงตัวในระดับต่ำนานกว่า 20 ปี ส่วนผลผลิตกุ้ง ส่วนแบ่งตลาดส่งออกกุ้งของไทยลดลงจาก เพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ถูกจีนและเวียดนามตีตลาดจนส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 0.8% ในปี 2565 แม้แต่สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเองก็ถูกแทนที่จากสินค้าจีน
นอกจากนี้กระแส Digital ที่ทั่วโลกต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไทยกลับเสี่ยงที่จะตกขบวนทั้งภาคสินค้าและภาคบริการเพราะไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) ต่ำ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ต้องการแล้ว และยังไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับ AI จึงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์น้อย ส่วนภาคบริการของไทยยังอยู่ในโลกเก่า (Traditional services) เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งมี value added น้อยเทียบกับบริการสมัยใหม่ (Modern services) เช่น ธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม บริการด้านสุขภาพ และการศึกษา ที่ใช้ประโยชน์จาก digital platform และบริการ streaming ต่างๆ โดยสัดส่วน modern services ต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 14% ต่ำกว่าฟิลิปปินส์และมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 19% และสิงคโปร์ 33%
เรื่องของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มีการแบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้นทำให้รูปแบบการค้าของโลกเปลี่ยนไป จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หันมาพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น ลดการนำเข้า ซึ่งกระทบการส่งออกสินค้าและบริการของไทยโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ที่จีนเร่งลงทุนเพื่อผลิตเองในประเทศทดแทนการนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 การส่งออกของไทยในหมวดนี้ไปจีนจึงหดตัวติดกัน 2 ปีล่าสุด (2565-2566) ส่วนภาคบริการ จีนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ทำให้กระทบภาคท่องเที่ยวไทยสูง ส่วนกระแสของเศรษฐกิจสีเขียว แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวไปแล้ว แต่ SMEs ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก โดยเกือบ 30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทย (ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี) ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้การผลิตรถที่มีอยู่ชะลอลง
ภายใต้โลกใหม่ที่เปลี่ยนเร็วและมีการแข่งขันสูง หากปรับตัวไม่ทัน เศรษฐกิจไทยจะโตช้าลงและจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรเร่งทำ คือ การปรับกฎกติกาจากภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจจากกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน ลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการปฏิรูปนโยบายเชิงโครงสร้าง (supply-side reform) ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เข้าถึงได้ง่าย โดยมีต้นทุนเหมาะสม การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้าง value added การพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill and reskill) ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล
ยอมรับว่าเรื่องเรานี้ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หากยังไม่เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้อีกไม่นานไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในอาเซียน
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี