nn ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างรายได้ภาษีสรรพสามิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในระยะยาว นอกจากรายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ลดลงแล้ว รายได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมได้รับผลกระทบตามมาจากปริมาณการใช้รถไฟฟ้าที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 20% ในระยะเวลาเพียง 4 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่ต้องเริ่มวางแผนแนวทางการหารายได้สรรพสามิตเพิ่มเติม เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปทั้งจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและจากมาตรการในการตรึงราคาน้ำมันที่รัฐบาลนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าอื่นๆ เช่น สุรา บุหรี่ซิกาแรต และยาสูบอื่น
ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงทางการคลังและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่ถือเป็นภาษีที่สร้างรายได้ให้แก่รัฐเป็นอันดับที่สองรองจากภาษีสรรพากร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการหารายได้สรรพสามิตเพิ่มเติมด้วยการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าที่มีความยืดหยุ่นในการบริโภค อาทิ บุหรี่ซิกาแรต การปรับอัตราภาษีบุหรี่เป็นอัตราเดียวตามหลักการสากลจะช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้การขึ้นภาษียาสูบในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาเส้นมวนเอง หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ที่ยังไม่มีการจัดเก็บเช่นบุหรี่ไฟฟ้า จะช่วยลดการบริโภคและเพิ่มรายได้ให้รัฐ การขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอย่างต่อเนื่อง การปรับอัตราภาษีสุราตามที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากว่า 7 ปีแล้ว ก็จะช่วยลดปัญหาสุขภาพและเพิ่มรายได้ให้รัฐอีกด้วยเช่นกันการขยายฐานภาษีสรรพสามิตไปยังสินค้าใหม่ โดยเฉพาะสินค้าที่สร้างภาระภายนอก (externality cost) ยังเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐและสร้างความเป็นธรรมทางภาษี เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยการจัดเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวใช้แล้ว จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและสร้างรายได้ให้รัฐได้อีกทาง
การปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการปราบปรามการหลีกเลี่ยงภาษีจะช่วยลดการสูญเสียรายได้ของรัฐเช่นเดียวกัน เสริมด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการภาษี จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษี สำหรับการตรึงราคาน้ำมันเป็นมาตรการที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะปานกลาง แนวทางที่อาจพิจารณาได้เช่นการให้เงินอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม โดยรัฐบาลอาจให้เงินอุดหนุนผู้บริโภคเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผลกระทบสูง หรือการปรับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและการขนส่ง และออกมาตรการภาษีเพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (Green tax) เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยลดความผันผวนของราคาน้ำมันในระยะยาว
การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าที่มีความยืดหยุ่นในการบริโภค เช่น บุหรี่ซิกาแรต ยาเส้น หรือสุรา การขยายฐานภาษีสรรพสามิตไปยังสินค้าใหม่ และการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นแนวทางที่น่าสนใจในการหารายได้เพิ่มเติมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและอาจต้องมีมาตรการอื่นๆ มาประกอบพร้อมกับวางแผนชดเชยอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐในอนาคต
ทั้งหมดนี้คงขึ้นอยู่กับการผลักดันของกรมสรรพสามิตที่มุ่งหน้าสู่การเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่จะเสนอนโยบายภาษีกับรัฐบาลชุดใหม่ในเร็ววันนี้
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี