นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 954 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 227 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 727 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,106 ล้านบาท โดยปี 2567 จ้างงานคนไทย 5,040 คน เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่าปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 287 ราย (43%) มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 100,574 ล้านบาท (79%)
สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 254 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยเงินลงทุน 121,190 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ /พัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น 2. สิงคโปร์ 137 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 22,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่างๆ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
ส่วนอันดับที่ 3. จีน 123 รายคิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,547 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการทำเทคนิคด้านภาพสำหรับภาพยนตร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น 4. สหรัฐอเมริกา 121 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 24,675 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น และ 5. ฮ่องกง 69 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,281 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน 301 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 167 ราย (124%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 56,490 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 17,877 ล้านบาท (46%) โดยเป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 103 ราย ลงทุน 20,593 ล้านบาท *จีน 72 ราย ลงทุน 12,107 ล้านบาท *ฮ่องกง 20 ราย ลงทุน 5,698 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 106 ราย ลงทุน 18,092 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (อุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี