ฐานรากเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่ง
ต้องเร่งยกระดับSME
nn วันก่อนเหลือบไปเห็นข่าวๆ หนึ่งซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ก็เลยอยากจะหยิบเอามาฝากท่านผู้อ่านในวันนี้...เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า...ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank….ได้เปิดให้บริการ...“ตรวจสุขภาพทางธุรกิจ” หรือ “Business Health Check” แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th)
ทั้งนี้ ระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ารับบริการตรวจสุขภาพทางธุรกิจ รวมกว่า 9,200 กิจการ พบว่ามีทักษะ 3 ด้านที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ ได้แก่ อันดับ 1 ด้านการบริหารจัดการเงิน ระดับคะแนนประเมินผลอยู่ที่ 1.8 จากคะแนนเต็ม 5 ตามด้วย อันดับ 2 ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี (2.6 คะแนน) และอันดับ 3 ด้านการสื่อสารการตลาด (3.6 คะแนน) โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกขนาดธุรกิจ ล้วนมีจุดอ่อนใน 3 ด้านนี้เหมือนกัน แตกต่างกันในรายละเอียดและความซับซ้อนในทักษะที่ต้องพัฒนา
สำหรับด้านการบริหารจัดการเงิน กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) มีคะแนนต่ำที่สุด ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการทำบัญชี ไม่แยกเงินส่วนตัวกับธุรกิจ ไม่เข้าใจหลักการบัญชีเบื้องต้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการคำนวณกำไรขาดทุน รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Small) มีการบันทึกข้อมูลทางการเงิน แต่ขาดเครื่องมือหรือการลงทุนในระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงขาดการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อวางแผนระยะยาว ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium) ต้องการทักษะการวิเคราะห์ทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้น และในหลายกิจการขาดการบูรณาการข้อมูล
ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่รู้ว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่ช่วยธุรกิจเล็กๆ ได้บ้าง และยังไม่สามารถเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใดเหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง และไม่มีแผนหรือนโยบายที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของธุรกิจ รวมถึงไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะล้มเหลวจากการลงทุนในนวัตกรรม สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ด้านการสื่อสารการตลาด ผู้ประกอบการรายย่อย ขาดทักษะในการใช้ Social Media ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการตลาด รวมถึงไม่เข้าใจการตลาดพื้นฐาน ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขาดทักษะในการใช้เครื่องมือและการวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด ไม่รู้วิธีวัดผลลัพธ์จากการทำการตลาด ทำให้กระทบต่อการวางแผนการตลาดอย่างเป็นระบบ ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดเชิงลึกและการบูรณาการข้อมูลจากทุกช่องทาง
ทั้งนี้ ผลการตรวจสุขภาพทางธุรกิจ พบว่า ในภาพรวม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีทักษะที่เข้มแข็ง 2 ด้าน ได้แก่ การบริหารประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการ และการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเป็นศักยภาพที่ควรเสริมให้แกร่งขึ้นในยุคที่ความไม่แน่นอนสูง การบริหารจัดการต้นทุนทำได้ยากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการประสิทธิภาพตามแนวทางธุรกิจสีเขียว เพื่อให้กำไรสูงสุดภายใต้เงื่อนไขการปล่อยคาร์บอนต่ำสุด
ต้องไม่ลืมว่า ผู้ประกอบการ SME คือฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย มีมากถึง 99% ของวิสาหกิจทั้งระบบ และมีการจ้างงานมากว่า 10 ล้านคน...ดังนั้นเมื่อ เห็นข้อมูลชุดนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดได้ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อยกระดับ SME ไทยในเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งสำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี