นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การเจรจาภาษีนำเข้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งไทยได้รับอนุญาตให้เจรจาโดยเหลือเวลาเพียง 6 วัน ก่อนถึงกำหนดการผ่อนปรนภาษีนำเข้าเหลือ 10% จากสหรัฐฯ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ตามปกติการเจรจาจะต้องเกิดขึ้นหลายรอบ เนื่องจากต้องมีการต่อรองเงื่อนไขระหว่างกัน แต่ไทยเพิ่งได้เริ่มเจจาวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอาจต้องมีการปรับหรือแก้ไขข้อเสนอใหม่ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายเวลาให้หรือไม่
ทั้งนี้กระแสข่าวที่ออกมายังค่อนข้างสับสน โดยนายสกอตต์ เบสเซนต์ รมว.คลัง สหรัฐฯ เคยตอบคำถามที่ว่าเมื่อต้องมีการเจรจา 100 กว่าประเทศ แต่เพิ่งแล้วเสร็จไป 3 ประเทศคือ อังกฤษ เวียดนาม จีน แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงแค่กรอบเท่านั้น ยังต้องได้รับความยินยอมจากสภาสูง หรือประธานาธิบดีทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนเวียดนามก็เป็นไปตามที่ทราบ
ในขณะที่ประเทศอื่น รมว.คลังสหรัฐฯบอกว่าจะขยายเวลาออกไปอีก แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความใจร้อน โดยอาจเลือกใช้กรอบหรือแนวทางและส่งจดหมายไปยังประเทศที่ยังไม่ได้เจรจา หรือเจรจายังไม่แล้วเสร็จอีก 100 กว่าประเทศ ด้วยวิธีการทยอยส่งครั้งละ 10 ประเทศ อีกทั้งยังมีคำขู่ด้วยว่าบางประเทศอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 70%
“ปัจจุบันยังไม่รู้ว่ากระแสข่าวใดที่ออกมาจริง หรือเท็จ โดยทรัมป์ระบุว่าจะเริ่มส่งจดหมายตั้งแต่วันศุกร์ของสหรัฐฯ หรือวันเสาร์ (5 กรกฎาคม 2568) ของไทย ซึ่งยังไม่รู้ว่าประเทศใดจะถูกหวยบ้าง และยังไม่รู้ว่าไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีเท่าไหร่ และติด 10 ประเทศแรกหรือไม่ ต้องคอยลุ้นทุกวัน เพราะ 100 ประเทศต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน”นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ดีหากเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ และเป็นไปในลักษณะที่การเจรจาไม่ทันกำหนด ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนามก็อาจจะเป็นต้นแบบหรือโมเดลให้กับประเทศในภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีการผลิตและจัดหาสินค้าจากประเทศที่เป็นพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ ย้ายฐานออกจากจีนไปสู่ประเทศที่เป็นมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ จะเห็นว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสูงสุดในภูมิภาค และเป็นลำดับ 3 ของโลก โดยในปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในขณะที่ไทยก็เป็น 1 ในประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯสูงประมาณ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นเวียดนามจึงถูกการประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ระดับ 46% ส่วนไทยถูกเรียกเก็บลดหลั่นลงมาที่ 36% เพราะได้ดุลการค้าน้อยกว่า
ส่วนประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีมากสุดคือ สปป. ลาว 49% ขณะที่กัมพูชาอยู่ที่ 48% ส่วนสิงคโปร์ถูกเรียกเก็บต่ำสุดในภูมิภาคที่ 10% จึงมองว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อสหรัฐฯไม่สามารถเจรจากับประเทศที่เหลือได้ทัน ก็อาจนำแนวทางเดียวกับเวียดนามมาใช้ โดยเก็บภาษี 20% กรณีเป็นสินค้าจากเวียดนาม ส่วนกรณีที่เป็นสินค้าที่มีการสวมสิทธิ์โดยผ่านเวียดนามจะถูกเรียกเก็บ 40% แต่ยังมีเงื่อนไขพ่วงด้วยคือเวียดนามจะไม่เก็บภาษีในการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯสู่เวียดนาม หรือภาษีเป็น 0% ทุกรายการ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่
นายเกรียงไกร กล่าวว่า หากสหรัฐฯนำแนวทางเวียดนามมาใช้ ก็ไม่รู้ว่าไทยจะยอมรับเงื่อนไขการไม่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องมาลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร หากได้ลดภาษีเท่ากับเวียดนามก็ยังพอไปไหว หรือหากได้ลดต่ำกว่าเวียดนาม 5-10% ก็จะเป็นผลดีกับไทย แต่กลับกันหากไทยไม่ได้รับการลดภาษี และสหรัฐฯยึดการเก็บภาษีที่ 36% ไทยจะเสียหายอย่างมาก แต่จะมากแค่ไหนต้องมาดูเป็นรายอุตสาหกรรมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าหนักใจเวลานี้คือ ข้อเสนอจากเวียดนามในการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯเป็น 0% แม้เบื้องต้นที่ได้มีการตรวจสอบจะไม่กระทบต่อสินค้าอุปโภค บริโภค และเอสเอ็มอี มากนัก เพราะในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯมีการปิดโรงงานและย้ายฐานผลิตไปหมด และส่วนใหญ่จะปรับไปสู่ภาคบริการ โดยเฉพาะดิจิทัล เรื่องคลาวด์ เทคโนโลยีชั้นสูง หรือเว็บไซต์ ปัญญาประดิษฐ์(AI) เซมิคอนดักเตอร์ ชิฟชั้นสูง และอุตสาหกรรมทางทหารคืออาวุธ หรือดาวเทียม เรียกว่าไฮเทคทั้งหมด หากเป็นด้านพลเรือนคือเครื่องบินโดยสาร ซึ่งไม่ค่อยมีประเทศที่แข่งขันกันได้ สินค้าดังกล่าวไทยไม่ได้สนใจมากนัก
นายเกรียงไกร กล่าวว่า แต่สิ่งที่ห่วงคือสินค้าภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันสินค้าทางการเกษตรจากสหรัฐฯที่ส่งออกมีราคาถูก และผลิตได้ประมาณมาก หากไทยไม่เก็บภาษี ก็จะมีสินค้าเข้ามาถล่มเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด หมู วัว ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกรและภาคปศุสัตว์ที่มีผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมาณ 20 กว่าล้านราย โดยปกติก็เป็นหมวดที่อ่อนแอ เปราะบาง ต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หากมีสินค้าสหรัฐฯเข้ามา ก็ยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับผลกระทบไหวหรือไม่ แต่กลับกันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น การนำวัตถุดิบราคาถูกจากสหรัฐฯเข้ามาแปรรูป ก็อาจจะทำให้ได้ต้นทุนทีดีขึ้น กำไรมากขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันกลุ่มผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปทั่วโลก โดยเครื่องในหมู เครื่องในวัวจากสหรัฐฯสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสุนัขและแมว ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากขึ้น และอาจขยายมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมีทั้งผู้ที่ได้และเสียเปรียบ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี