นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน นโยบายด้านการเงิน หรือ Monetary Policy ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นจากนายวิทัย รัตนากร ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่เร่งดำเนินการเรื่องแรก ๆ คือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งสะสมมานานตั้งแต่วิกฤตโควิดจนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่หาได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผู้ประกอบการรายย่อยต่างประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและต้องปิดกิจการ
นอกจากนี้ปัญหาหนี้นอกระบบยังคงซ้ำเติมประชาชนและนำไปสู่ปัญหาลูกโซ่ทางสังคม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า คนไทยมีหนี้นอกระบบและในระบบรวมกันอยู่ถึง 104% ต่อ GDP การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบจึงควรถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ แบงก์ชาติต้องบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ธนาคาร และกลุ่ม Non-Bank ในการแก้ไขปัญหา เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการสร้างหนี้ที่มีคุณภาพ เสริมสร้างวินัยทางการเงิน และการวางแผนหนี้สินอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด ดังนั้น ธปท.ต้องดำเนินนโยบายด้านการเงินที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีทรัมป์ และช่วยในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ทั้งในด้านการปรับตัวของ Supply Chain และการหาตลาดใหม่เพิ่มเติม ที่สำคัญธปท.ต้องเข้ามากำกับดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป หรือมีความผันผวนสูง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) ในช่วงนี้
ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมติที่ประชุมครม.แต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คนใหม่ มีผลวันที่ 1 ต.ค.ว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การบ้านนโยบายการเงินใหญ่ 5 ข้อที่รอผู้ว่าการธปท.คนใหม่เข้ามาเร่งสานต่อและแก้ไข เรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ 1. การดูแลส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม และเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันนี้อัตราส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝากต่างกันมาก 2.การแก้ปัญหาหนี้ ของทั้งครัวเรือน และของภาคธุรกิจ ทั้งในระบบ และนอกระบบ ซึงปัญหานี้ ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้
ส่วนการบ้านข้อที่ 3.ต้องการให้เข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้เหมาะสม ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป กระทบต่อขีดความสามารถแข่งขันทางการค้าของไทย หากค่าเงินอยู่ในอัตราที่เหมาะสม จะช่วยผลักดันภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4. การเดินหน้านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อ ให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ 5.ขอให้มีทางเลือกใหม่ ๆ ในตลาดการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาเราพึ่งพิงแต่ธนาคารพาณิชย์มากเกินไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี