nn ตอนที่โลกรู้จัก “อินเตอร์เนต”...ก็มีคนบอกว่า“อินเตอร์เนต”จะเปลี่ยนโลกแต่ก็ไม่มีคนเชื่อ...แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานทุกคนก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องจริง....ซึ่งเหมือนกันตอนนี้ที่ทั้งโลกยอมรับว่า “ดิจิทัล” กำลังจะเปลี่ยนโลก...และเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้วย....ทำให้ปัจจุบันทุกคนในสังคมโลก รวมทั้งสังคมไทย ต้องปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่โลกของยุค 4.0....ที่ระบบดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารทางด้านโทรคมนาคมที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสิ่งขับเคลื่อนที่เรียกว่า เทคโนโลยีดิจิทัล
สังคมยุคดิจิทัล....เป็นสังคมที่สื่อและเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตรอบด้าน เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านการติดต่อสื่อสารและสืบค้นข้อมูล สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลต่อทุกคนในสังคมทุกเพศทุกวัย ล้วนต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี และเรียนรู้การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด...เพราะว่าทุกอย่างบนโลกนี้มีสองด้านเสมอเมื่อ...ดิจิทัล...มีผลทางบวกก็ย่อมมีผลทางลบด้วยกัน....แต่เมื่อเราจำเป็นต้องอยู่กับมันให้ได้...ก็ต้องสร้างกติกาสร้างองค์ความรู้สร้างคนให้พร้อมรับกับสังคมดิจิทัล....เพื่อไม่ให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของคำว่า....ดิจิทัล ดิสรัปชั่น....
ปัจจุบันประเทศไทย มีการจัดตั้ง “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” ตามพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยพ.ศ.2562 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้รับการโอนกิจการจากสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (The Thai Federation of ICT Technology Association หรือ TFIT)
นอกจากเป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลในการเสนอความเห็น ประสานงาน และสนับสนุนการดำเนินงานด้านนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลแล้ว .....ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถทั้งของบุคลากรและผู้ประกอบธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดคุณภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาและกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล
ปัจจุบันมีสมาชิกของสภาดิจิทัล....มาจากสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล 22 สมาคม โดยมีบุคคลและนิติบุคคลกว่า 4,000 ราย อยู่ภายใต้สมาคมเหล่านี้ ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบด้านซอฟต์แวร์ ด้านบริการดิจิทัล ด้านดิจิทัลคอนเทนต์และด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล
สำหรับ...ยุทธศาสตร์สำคัญของการก้าวสู่ยุค 4.0ผ่านสภาดิจิทัลฯ คือการมุ่งเน้นการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลมิติต่างๆ...แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการขับเคลื่อนของสภาดิจิทัลฯไม่ได้มีแต่ผู้ประกอบการด้านธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น....แต่ยังเปิดให้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน....โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านต่างๆ รวม6 ราย....ได้แก่ 1.รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ 2. ดร.เพิ่มศักดิ์มกราภิรมย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม 3.นายแก้วสรรอติโพธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายดิจิทัล 4.พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านธุรกิจการดูแลด้านสุขภาพ 5.นายรุจิระ บุนนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ และ 6.รองศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสิทธิประชาชนอย่างทั่วถึง....ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านล้วนเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในแวดวงแต่ละด้าน ที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า กระบวนการผลักดันยุทธศาสตร์ต่างๆ จะเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง...
ทั้งนี้การพัฒนาด้านดิจิทัล ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน และใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้กำลังคนและเงินทุนมหาศาล โดยการขับเคลื่อนของสภาดิจิทัลฯต้องประกอบด้วยทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ผู้ใช้งานดิจิทัล รวมทั้งภาคสังคม ที่ทุกกลุ่มต้องเล็งเห็นประโยชน์ของสภาดิจิทัลและร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ....ซึ่งใจความสำคัญนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน
ดังความเห็นส่วนหนึ่งจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ ที่มองว่า สภาดิจิทัลฯ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยี ธุรกิจและสังคม โดยประชาชนจะเข้าถึงเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นและหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมาด้วย โดยโครงสร้างคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯที่มาจากสาขาวิชาชีพที่แตกต่างกัน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ทำให้มั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อนแนวทางต่างๆจะไม่ใช่เพื่อเอื้อกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เพราะมีการถ่วงดุลอำนาจอยู่แล้ว...สอดคล้องกับ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม ที่ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแรงมาก ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งสภาดิจิทัลฯจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมทั้งสังคม
ผู้ประกอบการ สังคมผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและสังคมผู้ด้อยโอกาสกับภาครัฐ เพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาไปด้วยกัน โดยในมิติสังคม จะส่งเสริมการพัฒนาเพื่อลดช่องว่างในสังคม และสนับสนุนด้านการศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและเกิดประโยชน์
เช่นเดียวกับมุมมองของ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์...ที่ระบุว่า สภาดิจิทัลฯจะมีบทบาท สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศครั้งใหญ่ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนในสังคม โดยเฉพาะผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น....ด้าน ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท รองประธานสภาดิจิทัลฯ ยืนยันว่า สภาดิจิทัลฯจะเป็นศูนย์กลางการรวมตัวของภาคเอกชนที่จะมีโอกาสเข้ามาร่วมคิดร่วมพัฒนา ซึ่งจะเกิดพลังและประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนมากกว่าต่างคนต่างทำโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือสมาคมของแต่ละอุตสาหกรรมเอง และเชื่อมั่นว่าโครงสร้างคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯจะมีกลไกตรวจสอบการดำเนินงานได้อย่างโปร่งใส โดยไม่เปิดให้ทำอะไรที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งอย่างแน่นอน....
จากมุมมองที่หลากหลายเหล่านี้...ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เมื่อโลกไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวล้ำ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การยอมรับและก้าวตามให้ทันโลกดิจิทัลและเรียนรู้การใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้ทุกคนทุกภาคส่วนในประเทศนี้ได้ประโยชน์ไปด้วยกัน....
กระบองเพชร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี