ไม่ว่าจะอย่างไร “แชร์ลูกโซ่” หรือการหลอกลวงลงทุน จะไม่มีวันหมดไปจากโลก เพราะคนเลวที่ตั้งใจจะโกง มันก็พร้อมจะสร้างวงแชร์ใหม่ หน้ากากใหม่ๆ มาหลอกคนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนคนเปลี่ยนเกม ภายใต้หลักการและกลไกแบบเดิมๆ
ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การห้ามพวกมันทำเลว แต่คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ด้วยความรู้การเงินง่ายๆ ดังนี้
ลักษณะต้องสงสัยที่ควรระมัดระวัง ว่าสิ่งที่เรากำลังถูกชักชวนลงทุน อาจเป็นแชร์ลูกโซ่
1. เป็นการลงทุน “สำเร็จรูป”
คือ แค่ลงเงิน ไม่ต้องทำอะไร มีคนดูแลจัดการให้ทุกอย่าง ผู้ลงทุนมีหน้าที่รับทรัพย์อย่างเดียว รับเต็มๆ แบบไร้ความเสี่ยง ตัวโครงการอาจจะมีรายละเอียดดูยุ่งยาก แต่เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่ซับซ้อน (กรณีชวนเทรด) หรือการจัดการที่มีรายละเอียดมากมาย (กรณีชวนลงทุนธุรกิจ) ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่จ่ายเงินแล้วรอรับผลตอบแทนตามอัตราที่สัญญาไว้เท่านั้น
ถ้ามีใครมาชวนลงทุนแบบนี้ต้องหัดเอะใจว่า มันรวยง่ายไปหรือเปล่า มีแต่ได้ไม่มีเสีย ฟังแล้วดูดีเกินไปมั้ย ถ้ามีแบบนี้จริง แล้วชวนคนมาลงทุนกันเยอะๆ ประเทศไทยก็ไม่น่าจะมีคนจนแล้วจริงมั้ย
2. ชักชวนโดยคนที่น่าเชื่อถือ
ถ้ามีใครบอกคุณว่า การลงทุนเป็นเรื่องง่าย ห่างพวกมันไว้มากหน่อยก็ดีนะ การลงทุนจริงๆ นั้นไม่หมู ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ในสินทรัพย์ที่ลงทุน และมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน เป็นเหรียญที่มีสองด้าน เงินที่ลงทุนไปมีโอกาสได้ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ขนาดศึกษามาดี วางแผนมาดียังขาดทุนได้
ดังนั้น ถ้าชักชวนกันขนาดต้องเอาดาราหรือคนดัง (Influencer) มาจูงใจ หรือพวกกูรูขายวิญญาณมาหลอกรับประทาน สอนลงทุนแล้วรับลงทุนให้ เปิดพอร์ตให้ดู โชว์เทรดว่าได้เร็วได้ง่าย หรือเอาเงินมาวางโชว์ นอนโฆษณาบนฝากระโปรงรถหรู มีหน้าม้ามาสรรเสริญระบบทำงานของพวกมัน เจอแบบนี้รีบหนีให้ไว
3. การันตีผลตอบแทน
พวกเราคงเคยได้ยินข้อความ “การลงทุนมีความเสี่ยง” แล้วรู้มั้ยว่า “ความเสี่ยง” แปลว่า อะไร
ความเสี่ยง คือ โอกาสในการได้รับผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาด คือ มันเป็นไปได้ทั้งมากกว่าที่คาดและน้อยกว่าที่คาด (อาจไปถึงขาดทุนได้) ว่ากันตามจริง ข้างหลังทุกการลงทุน มันก็คือ ธุรกิจนั่นแหละครับ ซึ่งใครก็รู้ว่าการทำธุรกิจอะไรสักอย่างเป็นเรื่องที่โคตรเสี่ยง มีโอกาสทั้งรวยและเจ๊งได้ด้วยกันทั้งนัั้น บางครั้งทำทุกอย่างดีหมด เจอเรื่องไม่คาดฝัน ก็อาจหมดเนื้อหมดตัวได้ (ดูช่วงโควิดเป็นตัวอย่าง)
การชักชวนลงทุนที่มีการรับประกัน จึงเหมือนกับการโกหกคุณว่า “เอาเงินมาลงกับธุรกิจฉันสิ ได้กำไรทุกเดือนไปตลอดชีวิตแน่ๆ” ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร
ดังนั้น ถ้าเจอการชักชวนลงทุนที่อ้างว่ามีการ *รับประกัน หรือ *การันตี ผลตอบแทน ก็แยกย้ายเลิกคุยกับพวกมันได้เลย
4. ให้ผลตอบแทนสูงเกิน 10% *ต่อปี
การลงทุนทั่วไป ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาว ระดับ 10% ต่อปี(แบบไม่การันตีนะ) ก็ถือว่าสูงแล้วครับ ไม่ได้บอกว่าคนเราทำผลตอบแทนมากกว่านี้ไม่ได้ แต่เวลาเราคุยกัน เราต้องคุยผลตอบแทนที่คนส่วนใหญ่พอทำได้ ไม่ใช่คนเก่งหรือเซียนหรือคนที่อุทิศเวลาให้กับการลงทุนอย่างจริงจัง
ดังนั้น ถ้าไม่ต้องทำอะไรเลย วางเงินอย่างเดียว แล้วได้ระดับ 5% ต่อเดือน (60% ต่อปี) หรือ 10% ต่อเดือน (120% ต่อปี)
ลองคิดดูว่า พวกมันต้องทำธุรกิจอะไร ทำกำไรได้เท่าไหร่ ถึงจะแบ่งเราได้มากขนาดนั้น แล้วมันเป็นไปได้มั้ย
5. อ้างอิงการลงทุนที่มีความซับซ้อน
อย่างการลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Forex เป็นการลงทุนที่มีจริงนะครับ นักลงทุนเขาลงทุนกันจริงๆ แต่ Forex-3D เนี่ย มันเป็นแชร์ลูกโซ่ หลอกคนไปลงทุน แล้วเอาเงินมาหมุนเวียนจ่าย คำถามคือ คนที่ลงเงินใน Forex-3D มีใครรู้เรื่อง Forex จริงๆ บ้าง รู้หรือเปล่าว่ามันทำกำไรได้อย่างไร ถ้าไม่รู้ เอาเงินไปลงทุนกับเขา เราก็ตรวจสอบอะไรเขาไม่ได้หรอก ถ้าเขาจะโกงก็หวานเจี๊ยบ
หรืออย่าง “ฟาร์มเห็ด” ที่มีปัญหากันล่าสุด ถ้าเราเข้าใจธุรกิจ เราน่าจะพอเห็นเรื่องขนาดการลงทุนไม่สอดคล้องกับเงินที่ระดมไปเงินลงทุนเป็นพันล้าน มีอาคารราคาถูกๆ อยู่ไม่กี่หลัง หรือต่อให้เพาะเห็ดแล้วกำไรได้มากแค่ไหน ก็คงจะแบ่งเรา 60-120% ต่อปี ไม่ไหวหรอกครับ คิดดูสิเขาต้องกำไรสูงแค่ไหนถึงจะแบ่งเราขนาดนั้นได้
ในประเทศของเรา การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่อประชาชน มีความซับซ้อน จะมีเรื่องของการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ก.ล.ต. หรือผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ลงทุน อยู่ด้วย ดังนั้นเวลาลงทุนตรวจสอบเรื่องตรงนี้ไว้บ้างก็ดีครับ
6. มักมีอัตราผลตอบแทนพิเศษจากการชวนคน เพิ่มวง เพิ่มเงินลงทุน
ก็แน่นอนแหละ เขาจะหลอกรับประทานเรานี่หน่า ถ้าได้เงินมาลงทุนกันเยอะๆ ก็ยิ่งดี ก็เลยเอากลไกนี้มาล่อให้เราใส่เงินเพิ่ม ชวนญาติพี่น้องมาลงทุนกันเพิ่ม มันจะได้หลอกกินได้เต็มที่ โดยให้ผลตอบแทนเพิ่มเหมือนค่านายหน้า สร้างเป็นระบบทีม มีลูกข่าย มีคนสมัครต่อ
ที่จริงยังมีข้ออื่นๆ ปลีกย่อยอีกเยอะแยะแตกต่างกันไป เช่น อ้างว่าได้รับรางวัลระดับประเทศ (ประเทศนี้ได้รางวัลง่าย) แต่ 6 ข้อนี้คือลักษณะเด่นที่แชร์ลูกโซ่ในทุกยุคทุกสมัยมักมีร่วมกัน
เขียนไว้เพื่อเตือนคนไม่รู้ ให้ไม่โลภเกินไป จะได้ไม่พลาดเป็นเหยื่อพวกคนเลวที่พร้อมจะหลอกลวง ส่วนคนที่รู้ว่าเสี่ยง แต่ยังคงขอลองรู้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่คิดว่าเราเข้าเร็วออกเร็วคงไม่เป็นไร (เอาจริงนี่ก็โลภ หรืออาจจะเลวประมาณนึงเลยนะ)
เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวก็คงมีกองอื่นๆ ระเบิดกันออกมาอีก เพราะเห็นอยู่ เตือนกันก็ไม่เชื่อ แล้วพอโดนก็อีเมลกันมา เอาเงินออมมาลงทุนว่าเจ็บแล้ว เล่นมั่นใจกู้มาลงทุนกันเต็มเหนี่ยว ยิ่งแก้ไขยาก
ยังไงก่อนลงทุนอะไร อ่าน 6 ข้อข้างบนนิดนึงหน่อยก็ดี
ไม่รู้ + โลภ + มักง่าย ถ้ามีครบ 3 องค์นี้ ยังไงก็ “ฉิบหาย” ทุกครั้งไปครับ
#TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี