ll SME ถือว่าเป็นหน่วยธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในระบบของเศรษฐกิจไทย หากนับจากจำนวนที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย หรือคิดเป็นมากกว่า 90%ของวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศแต่เมื่อเทียบจากมูลค่าทางธุรกิจของ SME ทั้งหมดอยู่ที่ 6-7 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับ GDP ของไทยซึ่งอยู่ที่ 16-17 ล้านล้านบาท ที่สำคัญ SME ไทยถือว่าเป็นวิสาหกิจที่เปราะบางมากที่สุดในโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เพราะขาดศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ การแข่งขันที่ทำได้ยากลำบาก อำนาจต่อรองทางการที่ต่ำ และที่สำคัญแรงทนทานที่มีต่อการปรับขึ้นของต้นทุนก็ต่ำมากเช่นกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จัดงานเสวนาเรื่อง “กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน” โดยผลการศึกษาของ ธปท. เกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และบทบาทของกลไกค้ำประกันเครดิต พบว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ถึงปัจจุบัน (ล่าสุด ณ ไตรมาส 1ปี 2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1%) นอกจากนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ธปท. พบว่าจากจำนวน SMEs ในระบบทั้งหมด 3.2 ล้านราย มี SMEs ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จากทั้งการมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน การมีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอและไม่มีหลักประกัน รวมทั้งมูลค่า สินเชื่อมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับต้นทุนของสถาบันการเงินในการประเมินและติดตามความเสี่ยง ทำให้โดยรวมสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือให้สินเชื่อด้วยต้นทุนกู้ยืมที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อชดเชยความเสี่ยง แม้ว่าที่ผ่านมาการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นกลไกสำคัญ ที่แบ่งเบาความเสี่ยงของ SMEs ทำให้สถาบันการเงิน กล้าปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึงขึ้นซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่ อ(Portfolio Guarantee Scheme-PGS) ของ บสย. แต่ละโครงการ รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูในช่วงโควิด-19 มีส่วนช่วยให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้แม้ในช่วงวิกฤต
อย่างไรก็ดี กลไกค้ำประกันในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น 1.ขอบเขตการค้ำประกันที่จำกัด โดยครอบคลุมเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุนบริษัทเครดิตฟองชิเอร์) และบริษัทลูกเท่านั้น 2.ข้อมูลและเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้การประเมินความเสี่ยงของ SMES แต่ละรายทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม(portfolio guarante) ที่คิดค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้เท่ากัน ทุกรายในแต่ละโครงการ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าความเสี่ยงของตนเอง 3.การค้ำประกันขาดความยืดหยุ่นในการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง/ ยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤต เห็นได้จากในช่วงโควิด-19 ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ SMEs ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม
จากข้อเสนอแนะของเวทีนี้ของ ธปท. คือกลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ควรตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ยืม และ SMEs ภายใต้แรงจูงใจที่เหมาะสมร่วมกัน โดยตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในประเทศที่มี SMEs เป็นแกนหลักคล้ายกับไทย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน ที่มีลักษณะสำคัญ 5 ข้อ คือ 1.ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมอยู่ที่เฉพาะสินเชื่อทำให้สามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMES ในรูปแบบที่หลากหลาย2.มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ (risk-based pricing)3.มีความยืดหยุ่น 4.มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน และภาษีธุรกิจอื่นๆ ตามความสมัครใจ ทำให้ทั้งรัฐ สถาบันการเงิน และเอกชนต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ 5.ให้การสนับสนุน SMEs มากกว่าเพียงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจร ทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการเงิน
ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงกาคลังกำลังจะพยายามแก้ไขการเข้าถึงแหล่งทุนของ SME โดยเตรียมมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio
Guarantee Scheme (PGS11) โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปีค้ำประกันตลอดโครงการไม่เกิน 30%และให้ความสำคัญในการค้ำประกัน “SMEs รายใหม่” เป็นลำดับแรก เพื่อกระจายการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายนนี้
ส่วนความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คือ การแก้ไขปัญหาของ SME ให้เกิดความยั่งยืน มี 3 ข้อหลัก1.“เติมความรู้ควบคู่ทุน” สลับวาล์วหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบที่มีคุณภาพ ปรับโครงสร้างหนี้เสียสู่หนี้ชั้นดี สร้างกลไกรัฐยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือนทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สถาบันการศึกษา สถาบันการเงินรัฐ บสย. สถาบันการเงินนอกกำกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการในแต่ละระดับ สสว.จังหวัด เครือข่ายภาคเอกชนและประชาสังคม ซึ่งต้องเชื่อมโยงส่งต่อกลไกรัฐร่วมเอกชนที่มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และใช้ประโยชน์จากหน่วยงานต่างๆ ที่มีขีดความสามารถ อาทิ บสย. คลินิกแก้หนี้ ลงลึกหมู่บ้านทำเรื่อง Financial literacy การยกระดับ Digital Citizenship ผ่านมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ETDA และ DEPA และยกระดับมาตรฐานแรงงาน พัฒนาทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถแรงงานและเอสเอ็มอีผ่านกลไก BDS สสว. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งจัดสรรสินเชื่อเข้าถึงง่าย ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ พัฒนาอาชีพเดิมที่ใช้ความสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และความเป็นผู้ประกอบการ
2.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับการค้ำประกัน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนเอสเอ็มอีที่ต้องมุ่งทำในกลุ่มเปราะบาง และทบทวนเกณฑ์คุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่น ขั้นตอนสะดวกรวดเร็ว ระยะเวลาพิจารณาสั้น นำ AI มาประยุกต์ใช้กับการบริหารวิเคราะห์ข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งงบประมาณต้องมุ่งเป้าใช้กับสถาบันการเงินของรัฐ และให้ครอบคลุมถึงกองทุนต่างๆ ที่สามารถดึงกลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อยเข้าระบบได้ด้วย อาทิ กองทุน สสว. กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ร่วมด้วยจะเป็นโอกาสและประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมเข้าถึงแหล่งทุนในระบบอย่างยั่งยืนให้ดำเนินการควบคู่กับข้อ 1
3.นวัตกรรมทางการเงิน “บัตรส่งเสริมเครดิตการค้าเพื่อ เอสเอ็มอี” อาจครอบคลุมถึงวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรด้วย เพื่อนำไปใช้ในการจัดหา จัดซื้อจ่ายค่าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต จ้างงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่งเพื่อการประกอบอาชีพ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินทุนหมุนเวียน และสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจฐานราก สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบสิทธิประโยชน์ ส่วนลด ลดค่าครองชีพต้นทุนประกอบอาชีพ และมีระบบเครดิตสกอร์ริ่ง (Credit Scoring) ในการประเมินการพัฒนาผู้ประกอบการที่เหมาะสมตามความต้องการ พร้อมระบบส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาต่อเนื่องจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการทั่วประเทศ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี