ใครที่ชอบอ่านหนังสือแนวการเงินส่วนบุคคล น่าจะเคยได้ยินแนวคิด “อิสรภาพทางการเงิน” (Financial Freedom) ที่นิยมนิยามกันว่า หมายถึง การที่เรามีรายได้จากทรัพย์สิน หรือ Passive Income มากกว่า รายจ่ายรวม (Total Expense)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีรายจ่ายต่อเดือน 30,000 บาท แต่เรามีบ้านเช่าและธุรกิจ ที่เก็บค่าเช่าและมีเงินกำไรให้เราทุกเดือน เดือนละ 30,000 บาท โดยที่เราไม่ต้องทำงานหนักทุกวัน แบบนี้ก็จะถือว่ามีอิสรภาพทางการเงินได้
แนวคิดดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างฮิตและได้รับความนิยมอย่างมาก จนทำให้หลายๆ ธุรกิจ ใช้แนวคิดดังกล่าวในการชักชวนผู้คนให้ไปรวมทำธุรกิจด้วย โดยอ้างว่าได้รับPassive Income แบบง่ายๆ ไม่ต้องออกแรงมาก
แล้วก็เริ่มดูแคลน “คนที่ทำงานเพื่อเงิน” หรือ Active Income ว่าเป็นพวกที่ห่างไกลจากอิสรภาพทางการเงินเสียเหลือเกิน
ในมุมมองของผมแนวคิดการสร้างรายได้จากทรัพย์สิน ถือเป็นแนวคิดที่ดีครับ เพราะเป็นแนวคิดที่ช่วยให้เราผ่อนแรงได้ในอนาคต เน้นทุ่มเทเวลาไปกับการสร้างทรัพย์สิน เพื่อให้ทรัพย์สินทำเงินให้เราอีกต่อหนึ่ง และทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยหนักกับการทำงานไปตลอด
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมก็เชื่อว่า รายได้จากการทำงาน (Active Income) ก็ใช้ว่าจะสร้างอิสรภาพทางการเงินให้กับคนเราไม่ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ในความเป็นจริงแล้ว รายได้จากการทำงานก็ทำให้คนเรามีอิสรภาพทางการเงินได้เหมือนกัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ดาราดังที่มีชื่อเสียงในบ้านเรา ที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย ถ้าไม่ฟุ่มเฟือยเกินเหตุเกินควร ผมเชื่อว่าพออายุสักสามสิบ พวกเขาน่าจะมีเงินเก็บกันคนละหลายสิบล้านบาท (บางคนอาจจะไปถึงร้อยล้าน) และน่าจะมีอิสรภาพทางการเงินกันได้สบายๆ
อีกตัวอย่างที่มันส์มากๆ ก็อย่างพี่โน้ส อุดม แกเปิดเดี่ยวปีละครั้ง ก็มีกินมีใช้จ่ายสบายๆ ไปได้อีกนานเลย ยิ่งเปิดทุกปี คราวนี้ยิ่งไปกันใหญ่
หรือไม่ต้องถึงระดับดาราที่มีชื่อเสียง หรือพี่โน้ส เพื่อนผมหลายคนในวัย 40 ปี ทำงานประจำอย่างเดียว หน้าที่การงานเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มานั่งคุยกัน แต่ละคนมีเงินเก็บกันเกิน 10 ล้านบาทแล้วทั้งนั้น แค่ศึกษาและเรียนรู้เรื่องการลงทุนต่อยอดให้เป็นไม่นานพวกเขาเหล่านี้ก็มีอิสรภาพทางการเงินกันได้สบายๆ
ถึงตรงนี้บางคนอาจแย้งว่า คนทำงานประจำกว่าจะมีอิสรภาพทางการเงินได้ อายุก็ปาเข้าไปเกือบ 50 ปี
คนที่มีมุมมองเรื่อง “ความสุข” กับ “ความสำเร็จ” เป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน หรือมองเป็นขั้นเป็นตอน เช่น ชีวิตที่ประสบ “ความเร็จ” ถึงจะเป็นชีวิตที่มี “ความสุข” หรือ ต้องประสบความสำเร็จก่อนจึงจะใช้ชีวิตที่มีความสุขได้อย่างเต็มที่ พวกนี้มักคิดและมีปรัชญาชีวิตกันอย่างนั้น
แต่ถ้าเรามองใหม่ว่า “ชีวิตที่มีความสุขต่างหากนำมาซึ่งชีวิตที่ประสบความสำเร็จ” บ้างหละ
พวกเขาทำงานเพราะสนุกกับมัน มีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถเป็นของแถม จัดเวลาพักผ่อนและท่องเที่ยวได้ตามที่ต้องการ (คนไม่เก่ง ความสามารถไม่พอ มักทำแบบนี้ไม่ได้ แล้วชอบโทษงานประจำ)
เพื่อนสนิทผมแต่ละคนทำงานประจำกันอย่างมีความสุข มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจในงานตัวเองสูง แถมยังมีรายได้กันล้นเหลือ แม้จะเที่ยวกันเก่งเหลือเกิน แต่ก็ยังเก็บเงินเก่ง ลงทุนเก่ง มีความมั่งคั่งกันแบบสบายๆ
เรียกได้ว่าบางคนแทบจะเลิกทำงานได้วันนี้พรุ่งนี้เลย แต่ด้วยความที่มีความสุขกับการทำงาน พวกเขายังอยากทำงานต่อ จึงเลือกทำงานต่อไป
เช่นเดียวกับใครอีกหลายคนที่มีเงินเก็บ มีพอร์ตลงทุน 8 หลัก แต่ก็ยังสนุกกับการทำงาน และทำงานของพวกเขาต่อไป
“สิทธิในการเลือกใช้ชีวิต” แบบนี้ต่างหากที่ผมเรียกว่า ชีวิตที่มี “อิสรภาพ”
ซึ่งหากเราศึกษาเรื่องความมั่งคั่งกันแบบลึกซึ้งมากขึ้น เราจะพบว่า เส้นทางสู่ความมั่งคั่งมีอยู่มากมายหลายวิธี บางวิธีใช้ทรัพย์สินเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่ง (Passive) ในขณะที่บางวิธีใช้ตัวเรา ใช้ชื่อเสียงเรา เป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่ง (Active)
แต่ไม่ว่าจะเป็น Passive หรือ Active มันก็พาเราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ อิสรภาพทางการเงินได้เหมือนกัน
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เรารู้จริตและความสามารถของตัวเองหรือเปล่าว่า เราเป็นใคร มีคุณค่าอย่างไร และทางเลือกในการสร้างอิสรภาพทางการเงินแบบใดที่เหมาะกับเรา
THERE ARE MILLION WAYS TO BE RICH … มั่งคั่งในแบบตัวเอง คือ การสร้างความมั่งคั่งที่มีแรงเสียดทานต่ำสุด
#TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี