วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 มุขมนตรีของรัฐมหาราษฎระ ที่อยู่ตอนกลางของประเทศอินเดียมีเมืองหลวงของรัฐคือ เมืองมุมไบ ได้ออกประกาศสำคัญของรัฐให้เปลี่ยนชื่อเมือง “ออรังกาบาด”(AURANGABAD) ให้เป็น ชัตตราปาติ ซามบาห์จี นาการ์(CHHATRAPATI SAMBHAJI NAGAR)
หรือเรียกสั้นๆว่า ซามบาห์จี นาการ์
(ทันทีที่มีการประกาศให้เปลี่ยนชื่อเมือง ออรังกาบาด เป็น ซามบาห์จี ก็มีการเขียนชื่อใหม่ของเมืองมาปิดที่ป้ายของสถานีรถไฟทันที)
และยังประกาศให้ชื่อเขตออสมานาบาด (OSMANABAD DISTRICT) ในรัฐมหาราษฎระเช่นกันให้เปลี่ยนมาเป็น ธาราชีฟ (DHARASHIV) อีกด้วย
(แผ่นที่ขอรัฐมหาราษฎระ ประเทศอินเดีย แสดงที่ตั้งของเมืองออรังกากบาด และ ออสมานาบาด)
เป็นผลจากความพยายามอย่างยาวนานกว่า 5 ปี ที่เริ่มจากมติของสภานิติบัญญัติของรัฐมหาราษฎระ แล้วส่งไปให้กับสภาแห่งประเทศอินเดีย ที่กรุงเดลี เพื่อลงมติอนุมัติ
เป็นความพยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่ชาวมุสลิมผู้รุกราน และ เคยปกครองอินเดียไว้เป็นเวลายาวนานได้ฝากเอาไว้ในอดีตที่แสนเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชวงศ์โมกุล ให้กลับไปสู่ความเป็นฮินดูแต่ดั่งเดิม
(จักรพรรดิ ออรังเซป ของราชวงศ์โมกุล - ภาพจากวิกิพีเดีย)
ชื่อ ออรังกาบาด นั้น ตั้งชื่อตามจักรพรรดิ ออรังเซป(AURANGZEB) แห่งราชวงศ์โมกุล ออรังเซป เป็นโอรสของจักรพรรดิ ชาห์ จาฮาน(SHAH JAHAN) ผู้สร้างทัชมาฮัล
ปีค.ศ. 1689 หลังจากที่ออรังเซป ทำสงครามเอาชนะต่อกษัตริย์ชัตตราปาติ ซามบาจี ผู้ปกครององค์ที่ 2 แห่งรัฐมาราธา(MARATHA STATE) ที่บิดาของพระองค์คือ กษัตริย์ชัตตราปาติ ชีวะจิ มหาราช(CHHATRAPATI SHIVAJI MAHARAJ) ผู้ซึ่งได้สถาปนาราชวงศ์เอาไว้
หลังจากได้ชัยชนะ ออรังเซปก็สั่งให้ประหารชีวิต ซามบาจิ ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือ ไม่ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
ด้วยเหตุนี้ ชาวฮินดูจึงเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อเมืองรัฐออรังกาบาด ให้กลับไปเป็นชื่อของกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนที่จะถูกออรังเซปประหารชีวิต
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ออรังเซป เป็นผู้กระทำทารุณกรรมต่อชาวฮินดูเอาไว้มากมาย
(เมียร์ ออสมาน อาลี ข่าน นิซามองค์สุดท้ายของไฮเดอร์ราบาด - ภาพจากวิกิพีเดีย)
ส่วนเขตปกครอง ออสมานาบาด นั้นก็ตั้งชื่อตาม นิซาม(NIZAM)คนที่ 7 ที่ชื่อ เมียร์ ออสมาน อาลี ข่าน(MIR OSMAN ALI KHAN) และ เป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายของรัฐเจ้าชายแห่งไฮเดอร์ราบาด ระหว่างปีค.ศ. 1911-1948 ก่อนที่จะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย หลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
“นิซาม” คือ ตำแหน่งของผู้มีอำนาจในการปกครองในดินแดนต่างพระเนตรของจักรพรรดิโมกุลในดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากอักรา เมืองหลวงของอาณาจักรโมกุล
ส่วนชื่อใหม่ของเขตปกครอง ออสมานาบาดที่เปลี่ยนใหม่เป็น ธาราชีพ นั้น มาจากชื่อของหมู่ถ้ำที่ถูกแกะสลักเพื่อสร้างให้เป็นศาสนสถาน หรือ เป็นอาราม แบบเดียวกับหมู่ถ้ำ อาชันตา และ หมู่ถ้ำเอลลอราที่อยู่ห่างจากเมืองออรังกาบาดไม่มากนัก
(หนึ่งในเจ็ดถ้ำของ ธาราชีพ- ภาพจากวิกิพีเดีย)
หมู่ถ้ำธาราชีพมีอยู่ด้วยกัน 7 ถ้ำ ห่างจากเมืองออสมานาบาดไปเพียง 7 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึง 7 หลังการสร้างถ้ำอาชันตาแต่ก่อนหน้าการสร้างหมู่ถ้ำเอลลอรา
นักวิชาการไม่แน่ใจนักว่า เป็นถ้ำทางศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาเชน กันแน่ แต่มีความเห็นไปในทางว่า เป็นถ้ำของศาสนาพุทธก่อน แล้วถูกเปลี่ยนไปเป็นของศาสนาเชนในเวลาต่อมา
คำว่า ธาราชีพ มาจากชื่อของคนสองคนคนแรกมีชื่อว่า ธารา (DHARA) ที่แปลว่า แม่น้ำ อีกคนมีชื่อว่า ชีพ หรือ ศิวะ(SHIVA) แน่นอนว่าทั้งสองคนเป็นชาวฮินดู
ตำนานเล่าว่า ทั้งสองมีหน้าที่ดูแลถ้ำดังกล่าว ไม่ให้ใครมาทำลาย ในเวลาต่อมา จึงมักจะเรียกชื่อถ้ำดังกล่าวด้วยการเอาชื่อของทั้งสองมารวมกัน เรียกว่า ธาราชีพ
เรื่องชื่อ “ธาราชีพ” ดังกล่าวเป็นแค่ตำนาน ซึ่งยังไม่อาจหาหลักฐานมายืนยัน อย่างไรก็ตาม ถ้ำดังกล่าวก็ถูกเรียกขานว่า ธาราชีพ มาจนปัจจุบันนี้
ติดตามเรื่องราวการเปลี่ยนชื่อรัฐ และ เมืองของอินเดียต่อในตอนหน้าครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี