จากตำนานบันทึกทางศาสนาพุทธ ที่เรียกว่า “มหาวงศ์” (MAHAVAMSA) ระบุว่า
ผู้ที่ได้รับพิษเข้าไปในร่างกายในจำนวนที่มากพอแล้ว เขาผู้นั้นจะมีภูมิต้านทานพิษที่ศัตรูต้องการจะทำร้ายเขาได้ แต่บุคคลผู้นั้นก็มีจุดอ่อนเช่นกัน ดังที่พระเจ้าจันทรคุปต์ เป็นอยู่
วันหนึ่งชานัคคยา เข้ามาพบพระเจ้าจันทรคุปต์ ในพระราชวัง เป็นจังหวะพอดีกับที่จันทรคุปต์ กำลังทานอาหารกับ มเหสีที่กำลังตั้งครรภ์ และมีกำหนดจะคลอดในอีก 7 วันข้างหน้า
(กษัตริย์จันทรคุปต์ - ภาพจากวิกิพีเดีย)
ที่สำคัญก็คือ พระมเหสีของจันทรคุปต์ได้ทานอาหารร่วมถาดเดียวกันกับพระเจ้าจันทรคุปต์ นั่นหมายความว่า พระมเหสีได้สัมผัสน้ำลายของจันทรคุปต์ไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมได้รับพิษจากจันทรคุปต์ เฉกเช่นเดียวกับคนที่ทานอาหารร่วมกับคนที่ติดโควิด 19 ย่อมได้รับเชื้อไปด้วย
ดังนั้น พระมเหสีของจันทรคุปต์ จึงมีสภาพเหมือนถูกอสรพิษฉกกัดไปแล้ว และ ชนัคคยา รู้ทันทีว่า พระมเหสีกำลังจะสิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่อึดใจ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะเป็นความผิดพลาด หรือ ความสะเพร่าของชนัคคยา ที่ไม่ได้เตือนถึงอันตรายนี้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์เสียก่อน
ข้อห้ามก็คือ สำหรับผู้ได้รับพิษในจำนวนที่มากพอ ห้ามไม่ให้ทานอาหารร่วมกัน หรือ สัมผัสน้ำลาย กับผู้อื่นเป็นอันขาด มิเช่นนั้น ผู้ที่สัมผัสจะต้องตายจากการรับพิษ
แต่จะทำอย่างไรกับทารก ซึ่งเป็นรัชทายาท ที่กำลังจะเกิดในอีก 7 วันข้างหน้า
เพื่อที่จะรักษาชีวิตของรัชทายาท ชนัคคยา จัดการตัดคอของมเหสี แล้วผ่าท้องเพื่อเอาทารกในท้องที่ยังไม่เป็นเด็กทารกสมบูรณ์ออกมา แล้วนำไปใส่ไว้ในท้องของแพะที่ฆ่าใหม่ๆ และ ต้องเปลี่ยนท้องแพะใหม่ทุกวัน
หลังจากทารกอยู่ในห้องของแพะจนครบ 7 วัน ทารกก็ถือกำเนิดเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ ในช่วงที่ผ่าเอาเด็กทารกคนนี้ออกมา บังเอิญเลือดของแพะหยดหนึ่งได้หยดลงไปที่หน้าผากของทารกพอดี
จุดตรงกลางหน้าผากนี้ เรียกว่า บินดิ หรือ บินดุ (BINDI หรือ BINDU) ซึ่งเป็นเป็นหนึ่งในเจ็ดจุดจักรา ที่สำคัญของร่างกายมนุษย์
ด้วยเหตจุนี้ ทารกคนนี้จึงได้รับพระนามว่า พระเจ้าพินทุสาร (BINDUSARA) ซึ่งหมายถึงหยดเลือดบนหน้าผาก
(พระเจ้าพินทุสาร - ภาพจากวิกิพีเดีย)
เรื่องการผ่าตัดเอาเด็กที่ยังไม่ครบกำหนดคลอดออกมาจากครรภ์มารดาของอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว แล้วนำมาเลี้ยงต่อไว้นอกครรภ์มารดาจนสมบูรณ์เพียงพอที่จะคลอดออกมาเป็นทารก อาจจะฟังดูเป็นเรื่องเกินจินตนาการ หรือ เพ้อฝันสำหรับมุมมองของคนในยุคนี้
ในตำนานของอินเดียจากหลายแหล่งระบุชัดเจนว่า อินเดียมีเทคโนโลยี่ที่ว่านี้มานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ไม่น้อยกว่า 3 พันปี ตั้งแต่ยุค สงครามมหาภารตะ (MAHABHARATA)
ในโอกาสหน้า ผมจะนำเรื่องราวของการอุ้มบุญ หรือ ย้ายมดลูก ของอินเดียโบราณ และ การสร้างเด็กหลอดแก้วที่ว่ากันว่า อินเดียเป็นผู้คิดค้นได้ก่อนโลกตะวันตก
ย้อนกลับมาพูดถึงก่อนที่ชนัคคยา จะนำจันทรคุปต์ บุกเข้าตีเมืองปาตะลีบุตร ของกษัตริย์ ธนานันดา นั้น ชนัคคยาได้วางแผนตามที่เขาได้บทเรียนจากคำสนทนาของชาวบ้านปาตะลีบุตร ที่ให้ยึดครองดินแดนรอบนอกเสียก่อน ก่อนที่จะบุกเข้าตีเมืองหลวงเป็นจุดสุดท้าย
ในขณะที่ ชนัคคยา เริ่มทำสงครามรอบนอกเมืองหลวงนั้น เขาก็ได้ใช้กลยุทธที่ออกจะเป็นวิชามารสักหน่อยเข้ามาใช้ เรียกว่า
วิชะกัญยา (VISHAKANYA)
(วิชะกัญยา ที่ปรากฎอยู่บนวิหารคะชุระโห)
วิชะกัญยา คืออะไร มีที่มาอย่างไร รอติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ
ท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกเยอรมันบาวาเรียแบบดีลักซ์ทัวร์ กับผมในเดือนกันยายน สอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ ID KLINE 14092498
สวัสดีครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี