สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นมะเร็งตับมากอันดับ 1 แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีรายใหม่ปีละ 22,200 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตกว่า 16,288 คน ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ
ที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงอาการ จะทราบก็ต่อเมื่อตรวจร่างกายและพบค่าตับผิดปกติ หรือตรวจพบการติดเชื้อ กระทั่งโรคดำเนินมาถึงระยะตับแข็งและส่งผลให้เกิดมะเร็งตับในที่สุด โดยร้อยละ 90 ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย อาทิการดื่มสุรา การได้รับสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะสารอะฟลาท็อกซินซึ่งปนเปื้อนในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง ฯลฯ โรคทางพันธุกรรมและเมตาบอลิกต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งทำให้เกิดไขมันเกาะตับนำไปสู่การเป็นตับแข็ง และการได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น การได้รับฮอร์โมนเพศชายเป็นเวลานาน เป็นต้น
แพทย์หญิงอุไรวรรณ สิมะพิเชฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ Internal Medicine-Gastroenterology ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบมีทั้งหมด ٥ ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดีและอี (A-E) ชนิดที่พบในประเทศไทยมากคือ ชนิดบีและซี ซึ่งไวรัสทั้งสองชนิดนี้ มีโอกาสสูงที่ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ไปจนถึงตับแข็งและมะเร็งตับตามมา และเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง บวมมีน้ำในช่องท้อง ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ตับม้ามโตการที่จะแยกว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดนั้น ต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบ แต่ที่น่าสังเกตคือโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดอื่นๆ มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน และจะหายได้ภายในเวลา ٦ เดือน ถ้าหากมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรังก็มักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี
ไวรัสตับอักเสบบีและซี สามารถติดต่อผ่านทางเลือด น้ำเชื้อและน้ำหลั่งอย่างอื่น เช่น น้ำเหลือง โดยสามารถรับเชื้อได้หลายวิธี ตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน การเจาะหู การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บร่วมกัน การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ ซึ่งกรณีนี้ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อมากถึง 90% การถูกเข็มตำจากการทำงาน การสัมผัสกับเลือดน้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล อย่างไรก็ดี เชื้อนี้จะไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน การให้นม และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล)
อาการของโรค ไวรัสตับอักเสบบีแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ระยะเฉียบพลันผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังติดเชื้อ กล่าวคือเป็นไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวาอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ บางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากเซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้ ทั้งนี้ อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ กรณีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด การดำเนินของโรคจะก้าวเข้าสู่ระยะเรื้อรัง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายแม้ไม่มีอาการ ค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ดังนั้นก่อนแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อน
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอับเสบบี สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ควรฉีดวัคซีนมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิด และผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นพาหะ ควรตรวจเลือดเพื่อทราบถึงภาวะของการติดเชื้อก่อนการฉีดวัคซีน และการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดให้ครบชุดจำนวน 3 เข็ม
ขณะที่ ไวรัสตับอักเสบ ซี นั้นเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะแบ่งตัวและอาศัยอยู่ในตับ ระยะแรกทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักมีอาการไม่มาก โดยประมาณเกือบ 8% ของผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีการติดเชื้อเรื้อรังและตามมาด้วยตับอักเสบแบบเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่ามีตับอักเสบ กระทั่ง 30 ปีผ่านไป ตับที่ถูกทำลายมากขึ้นเริ่มมีอาการของตับแข็งปรากฏให้เห็น ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 15-20% อาจหายจากโรคได้เอง แต่ส่วนใหญ่ 75-85% จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด
การรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกันและตรวจคัดกรองหามะเร็งตับเนื่องจาก 90% ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี จึงควรต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับและตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ(alpha-fetoprotein) และตรวจอัลตร้าซาวนด์ตับทุก 3-6 เดือน สำหรับผู้ที่เป็นพาหะหรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากการตรวจเลือดนั้น แม้ว่าร่างกายยังแข็งแรง แต่ควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เพราะหากปล่อยไปถึงขั้นนั้นจะเสี่ยงกับอันตรายมากขึ้น และการรักษาจะยุ่งยากมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สามารถเข้ารับคำปรึกษาหรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โทร.02-2207999 Facebook : โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง Thonburi Bamrungmuang Hospital Line : @thbhospital และ เว็บไซต์ : https://www.thonburi
bamrungmuang.com/th/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี