ป่านนี้ คงจะได้รู้ชะตากรรมของประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ กันแล้ว ว่าจะออกมาในรูปแบบใดหลังจากที่เขาสร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศและทั่วโลก ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อกลางดึกคืนวันอังคารที่ผ่านมา (3 ธ.ค.) โดยอ้างภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและกลุ่มต่างๆในเกาหลีใต้เองที่ต่อต้านอำนาจรัฐ แต่ประชาชนในประเทศรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องของเกาหลีเหนือที่เป็นสาเหตุของเรื่องนี้ แต่เป็นความพยายามแก่งแย่งกันครองอำนาจรัฐด้วยการประกาศกฎอัยการศึก นำมาซึ่งการลงถนนประท้วงของประชาชนต่อเนื่องตลอดหลายวันที่ผ่านมา
สมาชิกสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุนช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาเกาหลีใต้ (7 ธ.ค.) ซึ่งขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ยังไม่ทราบผลการลงมติ ว่าจะผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือไม่ หลังจาก สส.พรรคประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติถอดถอนเมื่อวันพุธ (4 ธ.ค.) เนื่องจากกฎหมายบังคับให้สภาจะต้องลงมติเพื่อผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือไม่ภายในเวลา72 ชั่วโมง ซึ่งจะครบกำหนดในวันเสาร์พอดี
แต่ฝ่ายค้านแม้ครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภา แต่ยังขาดอีก 8 เสียง จึงจะสามารถผ่านญัตติถอดถอนได้ ซึ่งจะต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรครัฐบาลมาสมทบด้วย เนื่องจากต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาที่มีทั้งหมด 300 คนหรือต้องการเสียงอย่างน้อย 201 เสียง
หากญัตติถอดถอนได้รับการอนุมัติใน ยุนจะถูกระงับการทำหน้าที่ประธานาธิบดีทันที และนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการ จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนยุน ซึ่งใช้เวลาสูงสุด 180 วัน องค์คณะผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มี 9 คน หาก 6 ใน 9 ผู้พิพากษาออกเสียงสนับสนุนการถอดถอน จะทำให้ยุนพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ยังได้เริ่มสอบสวนยุนที่ประกาศกฎอัยการศึก โดย คิม ซุง-วอน สมาชิกสภาจากพรรคประชาธิปไตยพรรคฝ่ายค้านระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุน ได้สร้างความหวาดกลัวและความสับสนให้แก่ประชาชน ถึงแม้ว่า คิม ยอง-ฮยอน รัฐมนตรีกลาโหมได้ยอมลาออก และประกาศว่าเป็นความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ของเขาในการประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม
ด้าน อี ซัง-มิน รัฐมนตรีมหาดไทยเกาหลีใต้ เป็นผู้เปิดเผยต่อสภาว่า คิม ยอง-ฮยอน นั่นเอง ที่เป็นผู้แนะนำให้ประธานาธิบดียุนประกาศกฎอัยการศึก ส่วน คิม ซอน-โฮ รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ให้การต่อสภาว่า เขาไม่รู้เรื่องการประกาศกฎอัยการศึกเลย และรู้จากข่าวในสื่อ ซึ่งแสดงว่าแทบไม่มีใครระแคะระคายว่ายุนจะประกาศกฎอัยการศึก
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเลือกตั้งที่โปร่งใส และการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในประเทศยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการแบ่งขั้ว
อดีตประธานาธิบดี โหห์ มู เฮือน จบชีวิตตัวเองขณะถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชั่นหลังพ้นตำแหน่ง ขณะที่ อี มยอง-บัก ผู้สืบทอดตำแหน่ง ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในคดีทุจริต ส่วนพัก กึน ฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ลูกสาวของ พัก ชุง ฮี อดีตผู้นำเผด็จการผู้ถูกลอบสังหาร ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากผู้ช่วยคนสำคัญและเพื่อนของเธอใช้อิทธิพลในทางมิชอบ เธอถูกตัดสินจำคุก 24 ปีข้อหาทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ต่อมาเธอได้รับการอภัยโทษ
ลีฟ เอริก อีสลีย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า การเมืองเกาหลีใต้มีความเข้มข้น กดดัน เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ พรรคการเมืองมักผูกโยงกับตัวตนของผู้นำมากกว่ายึดโยงกับอุดมการณ์หรือนโยบาย ยิ่งอยู่ในบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญและสื่อมุ่งเน้นเรื่องอื้อฉาว ประธานาธิบดีมักเผชิญความยากลำบากในการรักษาความนิยม
ส่วน อัน กวี-รยอง วัย 35 ปี โฆษกของพรรคประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ ผู้พยายามแย่งอาวุธปืนจากทหารนายหนึ่งท่ามกลางเหตุการณ์ที่วุ่นวายด้านนอกอาคารรัฐสภาเมื่อคืนวันพุธ และกลายเป็นคลิปที่เป็นไวรัลไปทั่วโลก และเป็นสัญลักษณ์ของชาวเกาหลีใต้ที่ต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดีบอกว่า รู้สึกใจสลายและผิดหวังที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเกาหลีในศตวรรษที่ 21 และว่าถึงแม้พรรคประชาธิปไตยของเธอ ได้เสนอยื่นถอดถอนประธานาธิบดียุนออกจากตำแหน่ง แต่เธอเชื่อว่า ประชาชนชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศต่างมีคำตอบในใจในเรื่องนี้แล้ว เพราะคงไม่มีใครไว้วางใจประธานาธิบดี ที่อยู่ๆ นึกอยากจะประกาศกฎอัยการศึกก็ทำไปอย่างง่ายๆ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในประเทศให้เป็นผู้นำทำหน้าที่บริหารประเทศได้อีกต่อไป
ความเคลื่อนไหวของยุนทำให้ประชาชนรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับยุคเผด็จการและตั้งคำถามถึงเสถียรภาพของประชาธิปไตยที่เคยแลกมาด้วยเลือดในอดีต ท่ามกลางการจับตาดูของโลก เกาหลีใต้กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่อาจชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง
หากประธานาธิบดียุนถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี ฮัน ดัก ซู จะขึ้นมาทำหน้าที่แทน แต่คำถามคือ เกาหลีใต้จะสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต่อสู้มานานกว่า 40 ปี ให้เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี