ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล และในประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายนให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีให้หมดสิ้นไป โดยใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายจะประดับปกเสื้อเพื่อแสดงถึงการร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” ทุกรูปแบบ แต่ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย
ในปีพ.ศ.๒๕๕๙ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เสนอให้รัฐภาคีแห่งสหประชาชาติทำการรณรงค์ “รวมพลังเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี” (UNiTE to End Violence against Women) โดยให้ทุกวันที่ ๒๕ ของทุกเดือนเป็น “วันสีส้ม” (Orange Day) ซึ่งเป็นสีแห่งความสว่างไสวและมีความคาดหวังถึงอนาคตที่สดใส งดงาม และปราศจากการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงในทุกรูปแบบ ประกอบกับในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้เกิดข้อตกลงใหม่ ซึ่งได้รับการรับรองโดยประเทศภาคีสมาชิกแห่งสหประชาชาติทุกประเทศ คือข้อตกลงว่าด้วยวาระแห่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ๑๗ เป้าหมาย เป้าหมายที่ ๑ ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบทุกที่ เป้าหมายที่ ๒ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเป้าหมายที่ ๓ ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิตและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ เป้าหมายที่ ๔ ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน เป้าหมายที่ ๕ บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน เป้าหมายที่ ๖ ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน เป้าหมายที่ ๗ ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
เป้าหมายที่ ๘ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ ๙ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม เป้าหมายที่ ๑๐ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ เป้าหมายที่ ๑๑ ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๒ ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๓ ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น เป้าหมายที่ ๑๔ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๕พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศน์บนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ ๑๖ ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวมมีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ เป้าหมายที่ ๑๗ เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) และ ๑๖๙ เป้าประสงค์ เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะบรรลุในอีก ๑๕ ปีข้างหน้าคือ ปี ๒๕๗๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๓๐เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความมุ่งหมายในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ๓ มิติ คือ มิติทางเศรษฐกิจมิติทางสังคม และมิติทางสิ่งแวดล้อม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ ๕ ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ (gender equality) และการเสริมพลังสตรี (empowerment of women) ในฐานะที่เป็นความสำคัญในลำดับต้นๆ และเพื่อสอดคล้องกับปณิธานที่ว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” (“no one willbe left behind”) เป้าหมายที่ ๕ มุ่งไปสู่การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กหญิง โดยมีเป้าประสงค์ “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกรูปแบบ” ซึ่งเป็นเป้าประสงค์สำคัญที่ต้องบูรณาการและจะแยกออกไปมิได้ ในทั้ง ๑๗ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้เอง การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก ๑๕ ปีข้างหน้าจึงขึ้นอยู่กับการดำเนินการที่ต้องพึ่งพิงกัน คู่ขนานกัน และเชื่อมต่อกันของทั้ง ๑๗ เป้าหมายเพื่อป้องกันและขจัดการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน
ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวได้ขยายวงกว้างขึ้นและมีระดับของความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากระบบฐานขอมูลความรุนแรงตอเด็กและสตรี และความรุนแรงในครอบครัว จากเว็บไซต www.violience.in.th ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่า กว่าร้อยละ ๘๐ ของผู้กระทำความรุนแรงเป็นคนใกล้ชิด เป็นคู่สมรสหรือเป็นบุคคลในครอบครัว ร้อยละ ๘๑ ของผู้กระทำความรุนแรงเป็นชาย ร้อยละ ๑๐ของผู้กระทำความรุนแรงเป็นหญิง โดยที่ ร้อยละ ๘๘ ของผู้ถูกกระทำเป็นผู้หญิง ในขณะที่ร้อยละ ๑๑ ของผู้ถูกกระทำเป็นชาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่กระทำความผิดหรือมีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงที่พบเห็นในสังคมส่วนใหญ่เป็น “ผู้ชายในครอบครัว” โดยที่เหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิงและเด็กในครอบครัว” ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีหลายรูปแบบทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางวาจา และทางเพศ เช่น การทำร้ายร่างกาย การบังคับจิตใจ การข่มขู่ การใช้วาจาด่าว่า ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ การควบคุมกักขัง การข่มขืนกระทำชำเรา และการกระทำอนาจาร เป็นต้น การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของชีวิต เป็นอุปสรรคในการพัฒนาของผู้หญิง และการสร้างสังคมที่สันติสุข รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในการดำรงชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดย คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงเห็นควรดำเนินการจัดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “รวมพลังยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก” ในวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ ห้องกรุงธน โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังของบุรุษที่ติดริบบิ้นสีขาว ที่ไม่นิยมการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก และพลังของทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้หน่วยงานรัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมพลังเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก และร่วมกันขจัดและลดทอนปัญหาความรุนแรงในสตรี เด็ก และบุคคล ในครอบครัวให้หมดสิ้นไปโดยการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือการทำงานร่วมกันในการป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว รวมทั้งเพื่อเปิดเวทีในการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ มีรายละเอียด ดังนี้
- การเสวนา เรื่อง “ รวมพลังยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก” โดยวิทยากร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์วันทนีย์ วาสิกะสิน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี นางสาวณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ ดารา/นักแสดง นายสุกิจ นรินทร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ดำเนินการเสวนา โดยนายสุรวัฒน์ ชมภูพงษ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี
ทั้งนี้ รายละเอียดกิจกรรมดังกล่าวจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๖
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี