คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ ได้พิจารณาติดตามการดำเนินงานของกองทุนผู้สูงอายุ ปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา และแผนงานในปี ๒๕๖๑ โดยเชิญผู้แทนจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคณะกรรมาธิการ ดังนี้
กองทุนผู้สูงอายุจัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีศักยภาพ ความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๖๐ กองทุนได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๑,๓๗๔ ล้านบาท ในปีพ.ศ. ๒๕๖๑ ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๓๘ ล้านบาท และมีเงินทุนหมุนเวียน จำนวน ๓๗๕,๓๗๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๑๕,๓๗๐,๐๐๐ บาท โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม ๒๕๖๑ กองทุนมีเงินคงเหลือ ๓๘๐,๒๘๖,๐๐๗.๙๒ บาท กองทุนผู้สูงอายุให้การสนับสนุนกิจกรรมของผู้สูงอายุ ๒ กิจกรรมหลัก ได้แก่
๑) การให้ผู้สูงอายุกู้ยืมเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพโดยต้องชำระเงินคืนเป็นรายงวดทุกเดือน ระยะเวลา ๓ ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย แบ่งเป็นการกู้ยืมรายบุคคล รายละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท และต้องมี ผู้ค้ำประกัน จำนวน ๑ คน ซึ่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่า ๘,๐๐๐ บาท/เดือน
หรือการกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า ๕ คน ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ไม่มีการขอกู้ยืมเป็นรายกลุ่ม เนื่องจากการรวมกลุ่มผู้สูงอายุเป็นไปได้ยาก
สำหรับขั้นตอนการขอกู้ยืมเงินกองทุนและการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืม ดังนี้
(๑) ผู้สูงอายุที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถเขียนแบบฟอร์มการขอกู้ยืมเงินและยื่นเรื่องได้ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ
(๒) ผู้สูงอายุที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในต่างจังหวัด สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
(๓) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ
(๔) เจ้าหน้าที่ดำเนินการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ขอกู้ยืมเงิน
(๕) เจ้าหน้าที่ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล
ทั้งนี้ กรณีผู้สูงอายุไม่ได้มีภูมิลำเนาตรงตามทะเบียนบ้าน หรือกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน เจ้าหน้าที่จะพิจารณาไม่ให้กู้ยืมเงิน
(๖) เจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อมูล
(๗) เสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุพิจารณา
(๘) เสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุพิจารณาอนุมัติ
๒) การสนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุให้แก่ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการ ศูนย์อเนกประสงค์ในชุมชน และโครงการสำหรับองค์กรผู้สูงอายุ องค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุในชุมชนและเครือข่ายผู้สูงอายุ โดยแบ่งเป็น ๑) โครงการขนาดเล็ก ในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ๒) โครงการขนาดกลาง วงเงินเกิน ๕๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท และ ๓) โครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไป
สำหรับขั้นตอนการขอสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนและการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนมีดังนี้
(๑) ชมรมผู้สูงอายุ องค์กรผู้สูงอายุ และภาคีเครือข่ายเพื่อมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเกื้อกูลและดูแลผู้สูงอายุ เขียนโครงการตามแบบเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน โดยหากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นเรื่องได้ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ และต่างจังหวัด
ยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
(๒) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ
(๓) เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์โครงการ
(๔) เสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุพิจารณา
(๕) เสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุพิจารณาอนุมัติ
ผู้สูงอายุที่ขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคลจากกองทุนผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ร้อยละ ๔๒.๐๓ ปศุสัตว์หรือประมง ร้อยละ ๒๔.๐๑ และเกษตรกรรม ร้อยละ ๒๑.๓๑
สาเหตุที่ผู้สูงอายุไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืม เช่น กู้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น กู้ให้บุตร ใช้หนี้ผู้ค้ำประกันไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น อาชีพ รายได้ ภูมิลำเนา คำร้องขอกู้ยืมไม่สมบูรณ์ เช่น กรอกข้อมูลผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ครบถ้วน ขาดรายละเอียดเกี่ยวกับประมาณการค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ คำร้องขอกู้ยืมไม่ผ่านการรับรองจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดผู้กู้ไม่ผ่านความคิดเห็นของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เช่น มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ติดเหล้า ติดการพนันไม่ได้นำเงินกู้ไปประกอบอาชีพจริง ผู้ค้ำประกันมีอายุเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (อายุ ๕๙ ปีขึ้นไป)
สาเหตุที่โครงการไม่ได้รับการสนับสนุน เช่น หลักการและเหตุผลไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้สูงอายุองค์กรที่ขอรับการสนับสนุนไม่ใช่องค์กรที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ และเป็นหน่วยงานภาครัฐ ผลการดำเนินงานขององค์กรที่ผ่านมาไม่ใช่กิจกรรมด้านการส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองผู้สูงอายุ รายการค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ให้การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนผู้สูงอายุ
ลักษณะกิจกรรมไม่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล เช่น ระบุปัญหาในหลักการและเหตุผลผู้สูงอายุเป็นโรคเกี่ยวกับเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แต่ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยการซื้อเครื่องออกกำลังกายให้แก่ผู้สูงอายุ
การค้างชำระเงินกู้ยืม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๐- ธันวาคม ๒๕๖๐ มีดังนี้
- รายบุคคล ค้างชำระตั้งแต่ ๒ งวดขึ้นไป จำนวน ๓๓,๖๕๐ ราย ของจำนวนผู้กู้ยืมรวม ๓๖,๑๑๐ ราย เป็นจำนวนเงิน ๒๔๒,๓๕๔,๖๔๓ บาท (คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๘๑) ของจำนวนเงินกู้ยืมรวม ๖๒๔,๕๑๙,๙๐๒ บาท ซึ่งจำนวนเงินค้างชำระหนี้ดังกล่าวที่มีจำนวนมาก เนื่องจากผู้สูงอายุบางคนกู้ยืมเงินเพื่อนำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปศุสัตว์ หรือประมง ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องรอรอบผลผลิตออก จึงจะสามารถขายผลผลิตได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุดังกล่าวจะได้เงินทุนต่อเมื่อได้ขายผลิตภัณฑ์จากการประกอบอาชีพดังกล่าว ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมได้ตามกำหนดเวลา
- รายกลุ่ม ค้างชำระตั้งแต่ ๒ งวดขึ้นไป มีกลุ่มที่ค้างชำระ จำนวน ๖ กลุ่ม เป็นจำนวน ๑๐๕,๖๔๕ บาท คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๐๖ ของจำนวนเงินกู้ยืมรวม ๖,๙๔๘,๓๖๐ บาท
สำหรับการดำเนินงานกองทุนตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๖๑ มีการตัดจำหน่ายหนี้สูญการกู้ยืมประเภทรายบุคคล จำนวน ๓ ราย
คิดเป็นร้อยละ ๐.๐๑ นอกจากนี้การดำเนินการติดตามหนี้ที่ต้องเร่งรัดชำระหนี้ คือ ลูกหนี้ค้างชำระตั้งแต่ ๒ งวดขึ้นไป ได้แก่ ๑) ลูกหนี้ครบกำหนดสัญญา และ ๒) ลูกหนี้เสียชีวิตและครบกำหนดสัญญา เนื่องจากกรณีลูกหนี้ที่ครบกำหนดสัญญาและเสียชีวิตจะต้องเร่งรัดดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ซึ่งการกำหนดการค้างชำระตั้งแต่ ๒ งวดขึ้นไปดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีปัญหาบางประการจึงทำให้ไม่สามารถชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งได้ แต่ในระเบียบกำหนดไว้ว่าหากค้างชำระ ๑ งวด ถือว่าผิดนัดชำระหนี้และให้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุพิจารณา
ช่องทางการชำระหนี้เงินกู้ให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ
๑) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
๒) ธนาคารกรุงไทย ซึ่งผู้สูงอายุต้องส่งสลิปการชำระเงินให้แก่กองทุน
๓) ธนาณัติทางไปรษณีย์
๔) บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง ซึ่งใบเสร็จการชำระเงินให้บริษัทถือเป็นใบเสร็จรับเงินของกองทุน โดยกองทุนจะมีหนังสือแจ้งกลับไปยังผู้สูงอายุต่อไป ทั้งนี้กรม ไม่ได้เข้มงวดในการบังคับชำระหนี้เงินกู้ยืมกับผู้สูงอายุ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการกองทุนผู้สูงอายุ คือ เพื่อการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ ดังนั้น ระเบียบการขอกู้ยืมเงินกองทุนจึงไม่ได้กำหนดให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถขอกู้ยืมเงินได้ แต่ผู้ดูแลผู้สูงอายุและครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุประกอบอาชีพ ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินไม่ชำระหนี้หรือเสียชีวิต จะมีหนังสือทวงถามไปยังผู้กู้ และให้ทายาทและผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน สำหรับกรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิตได้กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกัน นอกจากนี้กรณีผู้สูงอายุผิดนัดชำระหนี้ กรมฯ ได้ขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้เพื่อให้ผู้กู้คืนเงินกู้ให้ครบถ้วน
กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไม่ได้กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องชำระหนี้เป็นงวด แต่กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องชำระหนี้ภายใน ๓ ปี จึงส่งผลให้มีหนี้ค้างชำระจำนวนน้อย และไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ขอความอนุเคราะห์จากบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิสให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวทุก ๖ เดือน
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพได้ออกจากบ้านเพื่อมาทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุคนอื่นโดยให้ชมรมผู้สูงอายุ องค์กรด้านผู้สูงอายุ และสมาคมต่างๆ ร่วมดำเนินการ โดยใช้เงินอุดหนุนของกองทุนผู้สูงอายุดำเนินการ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชน โดยได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ การส่งเสริมสุขภาพและอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้แก่ผู้สูงอายุ
กองทุนผู้สูงอายุได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของผู้สูงอายุที่มายื่นขอกู้ยืมเงิน พบว่าผู้สูงอายุมีความพอใจ ซึ่งเงินดังกล่าวสามารถช่วยเหลือครอบครัวให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่รู้จักกองทุนผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงจะได้ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ กรมฯ ได้ให้ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินงานกองทุนผู้สูงอายุ ในประเด็นการให้กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพสามารถช่วยให้ชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้นอย่างไร ผู้สูงอายุที่ไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพมีสาเหตุมาจากอะไร และการติดตามประเมินผลการให้เงินสนับสนุนกิจกรรมโครงการแก่ชมรมผู้สูงอายุ องค์กรด้านผู้สูงอายุ และเครือข่ายผู้สูงอายุ ได้ส่งผลให้ผู้สูงอายุได้ประโยชน์อย่างไรและมีการดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่
ข้อคิดเห็นจากที่ประชุม ดังนี้
๑.ควรให้สถาบันการเงินดำเนินการบริหารจัดการการติดตามบังคับชำระหนี้ให้แก่กองทุน เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในอนาคต และในขณะที่ประเทศไทยมีกองทุนทางสังคมจำนวนมาก การให้สถาบันการเงินดำเนินการให้จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของภาครัฐได้ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้เงินกองทุน
๒.กรมกิจการผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ของการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุและการให้กู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพว่าผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินสามารถพึ่งพาตนเองได้จริงหรือไม่ ซึ่งการกู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพต้องไม่ทำให้ผู้สูงอายุมาขอกู้ยืมบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่องในระยะยาว หากมีการกู้ยืมเงินซ้ำแสดงว่าการให้กู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้สูงอายุไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดีขึ้นได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวควรนำไปพิจารณาในกองทุนทางสังคมอื่นๆ ด้วย
๓.กรมกิจการผู้สูงอายุควรแก้ไขระเบียบการชำระหนี้เงินกู้ให้มีความถูกต้อง โดยควรกำหนดให้การค้างชำระตั้งแต่ ๒ งวดขึ้นไป ถือว่าผิดนัดชำระหนี้และให้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนด
๔.กรมฯ ควรประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามการดำเนินงานของกองทุนผู้สูงอายุและตรวจสอบว่าผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ โดยกรมฯ ควรให้การยกย่องผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จจากการประกอบอาชีพที่ได้จากการกู้ยืมเงินกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้เงินกองทุนและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
๕.การกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ ในแต่ละอาชีพควรมีความแตกต่างกัน เช่น เกษตรกรรม ปศุสัตว์ หรือประมง ควรกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ตามฤดูกาล
๖.ควรให้เครือข่ายชุมชนมีส่วนร่วมดูแลและติดตามการชำระหนี้เงินกู้ เพื่อให้การใช้เงินกองทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๗.ควรพิจารณาทบทวนคุณสมบัติของผู้ค้ำประกันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
๘.อนาคตกองทุนจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐในจำนวนที่น้อยลง ดังนั้น กองทุนต้องบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กรมฯ จึงควรพิจารณาเตรียมการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของผู้สูงอายุที่อาจเพิ่มมากขึ้นด้วย
๙.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นหน่วยงานสำคัญในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนโครงการเพื่อขอกู้ยืมเงินหรือเงินอุดหนุนจากกองทุนผู้สูงอายุให้แก่ผู้สูงอายุ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะสามารถช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในชุมชนของตนเอง และเป็นการนำเงินกองทุนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๑๐.ควรให้หน่วยงานต่างๆ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมฯ
๑๑.เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสีย เนื่องจากคุณสมบัติผู้ค้ำประกันมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้แทนผู้กู้ และผู้สูงอายุอาจเสียชีวิตเร็ว จึงควรให้มีการทำประกันการชำระหนี้
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๕-๖โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๖
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคมหรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี