ประเด็นการควบคุมงานก่อสร้าง ที่มีปมว่า มีวิศวกรเซ็นชื่อ ปลอมลายเซ็นหรือไม่? ควบคุมงานจริงหรือเปล่า? (วิศวกรไทยทั้งนั้น)
ควบคุมงานก่อสร้างอย่างไรให้การก่อสร้างมีการแก้แบบลดความหนาผนังปล่องลิฟต์ (บริษัทออกแบบก็คนไทย) กระทบกับโครงสร้างหรือไม่? เป็นจุดวิบัติถล่มของอาหารหรือไม่? กำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
1. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาชี้แจงและให้ข้อมูล กรณีการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เอกสารที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นำมาชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ดังนี้
ส่วนแรก คือ รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้างก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แห่งใหม่ วงเงินตามสัญญา 2,131,024,533.65 บาท มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ออกแบบ : บจก.ฟอ-รัม อาร์คิเทค และ บจก.ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) วงเงินจ้าง 73 ล้านบาท
ผู้ควบคุมงาน : กิจการร่วมค้า PKW วงเงิน 74,653,200 บาท
ผู้รับจ้างก่อสร้าง : กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี
สัญญาจ้าง : เลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1-9)
งบประมาณผูกพันข้ามปี 2563-2569 : 2,560 ล้านบาท
วงเงินตามสัญญา : 2,136 ล้านบาท
วงเงินตามสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติม : 2,131,024,533.65 บาท
ระยะเวลาก่อสร้าง : 1,080 วัน เริ่มก่อสร้าง 15 มกราคม 2564 กำหนดเสร็จ 31 ธันวาคม 2566
การขยายเวลาก่อสร้าง : 2 ครั้ง ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567
กำหนดตามแผน : ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2568
ค่าปรับร้อยละ 0 : ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2568
รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ
ด้วยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ สำหรับรองรับการปฏิบัติงานของบุคลากร จำนวน 2,400 คน หน่วยงานภายใน 50 หน่วยงาน โดยมีขนาดพื้นที่ใช้สอย 82,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยรับตรวจและประโยชน์ในการติดต่อประสานงานของหน่วยรับตรวจและประชาชน รวมถึงรับรองผู้แทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศ
2.การประกวดราคา
ข้อมูลส่วนที่สอง ระบุว่า งานจ้างก่อสร้าง ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อยสำคัญ ได้แก่
1.รายละเอียดงบประมาณ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2,560 ล้านบาท วงเงินตามสัญญาจ้าง 2,136 ล้านบาท และวงเงินตามสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติม 2,131,024,533.65 บาท
2.กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (งานจ้างก่อสร้าง โดยวิธี e-bidding)
16 ธันวาคม 2562 ผตง. แต่งตั้ง คกก.ราคากลาง
24 กุมภาพันธ์ 2563 สตง. ขอเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม
16 เมษายน 2563 คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต แจ้งไม่คัดเลือกโครงการก่อสร้าง เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม
13 พฤษภาคม 2563 ผตง. เห็นชอบ ราคากลาง 2,529,092,00.00 บาท ตามที่ คกก.ราคากลาง เสนอ
15 พฤษภาคม 2563 ประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง
22 พฤษภาคม 2563 ผตง. อนุมัติจัดจ้างก่อสร้าง โดยวิธี e-bidding (ครั้งที่ 1)
27 พฤษภาคม 2563 นำร่างประกาศไปเผยแพร่วิจารณ์ ครั้งที่ 1 มีผู้วิจารณ์ 11 ราย
12 มิถุนายน 2563 นำร่างประกาศไปเผยแพร่วิจารณ์ ครั้งที่ 2 มีผู้วิจารณ์ 4 ราย
23 มิถุนายน 2563 ผตง. ยกเลิกการเผยแพร่ประกาศ และให้คำนวณราคากลางใหม่ เนื่องจากกรมบัญชีกลางเปลี่ยน Factor F (ดอกเบี้ย) หมายเหตุ เอกสารประกวดราคาที่นำไปผ่านเผยแพร่วิจารณ์ ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด
30 มิถุนายน 2563 ผตง. เห็นชอบ ราคากลาง 2,522,153,00.00 บาท ตามที่ คกก.ราคากลาง เสนอทบทวน
3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง (ฉบับใหม่)
9 กรกฎาคม 2563 ผตง. อนุมัติจัดจ้างก่อสร้าง โดยวิธี e-bidding (ครั้งที่ 2)
14 กรกฎาคม 2563 นำร่างประกาศไปเผยแพร่วิจารณ์ มีผู้วิจารณ์ 1 ราย
22 กรกฎาคม 2563 ประกาศประกวดราคา 20 วันทำการมีผู้สนใจซื้อเอกสาร 16 ราย
25 สิงหาคม 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคา จำนวน 7 ราย ดังนี้ 1. บริษัท อาคาร 33 จำกัด 2. บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด 3. บริษัท คริสเตียนีและนีลเส้น (ไทย) จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 6. กิจการร่วมค้าวรเรียล 7. กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี
ปรากฏว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติและเสนอเอกสารหลักฐานต่างๆ ถูกต้อง ครบถ้วน ตามเงื่อนไขที่กำหนดจำนวน 4 ราย ดังนี้
1. กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี เสนอราคา เป็นเงิน 2,136,000,000.00 บาท
2. บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เสนอราคา เป็นเงิน 2,163,800,000.00 บาท
3. บริษัท อาคาร 33 จำกัด เสนอราคา เป็นเงิน 2,194,463,000.00 บาท
4. บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา เป็นเงิน 2,368,000,000.00 บาท
นั่นทำให้กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี เสนอราคาต่ำสุด
14 กันยายน 2563 ผตง. อนุมัติ จ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี -ซีอาร์อีซี เป็นเงิน 2,136 ล้านบาท
15 กันยายน 2563 ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา
23 พฤศจิกายน 2563 ลงนามสัญญาจ้าง
10 กุมภาพันธ์ 2564 ลงนามข้อตกลงคุณธรรม ความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดย สตง. เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 600,000 บาท
3. ข้อมูลรายละเอียดการตรวจรับและรายละเอียดการเบิกจ่าย
สตง.ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างก่อสร้างได้มีการตรวจรับงานจ้างไปแล้วทั้งหมดจำนวน 22 งวด
รวมทั้งสิ้น 966,792,280.90 บาท
แบ่งออกเป็น งบประมาณจากรัฐ จำนวน 725,592,280.90 บาท เงินรายได้ สตง. จำนวน 241,200,000 บาท
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ค่าจ้างล่วงหน้า จำนวน 320,400,000 บาท (งบประมาณจากรัฐ)
เบิกค่างวดที่ 1-22 จำนวน 405,192,280,90 บาท (งบประมาณจากรัฐ) 241,200,000 บาท (เงินรายได้ สตง.) รวม 646,392,280.90 บาท
4. การจ้างบริษัทควบคุมงานก่อสร้าง
ข้อมูลความจริง ว่าด้วยงานจ้างควบคุมงาน ระบุว่า
รายละเอียดงบประมาณ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 76,800,000 บาท
วงเงินตามสัญญาจ้าง 74,653,200 บาท แบ่งออกเป็นงบประมาณจากรัฐ (ร้อยละ 70) จำนวน 52,257,200 บาท เงินรายได้ของ สตง. (ร้อยละ 30) จำนวน 22,396,000 บาท
กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง งานจ้างควบคุมงาน โดยวิธีการคัดเลือก โดยใช้เกณฑ์คุณภาพตามหนังสือกรมบัญชีกลาง
16 เมษายน 2563 ผตง. แต่งตั้ง คกก. ร่างขอบเขตของงานและกำหนดราคากลาง
21 พฤษภาคม 2563 ประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง
27 พฤษภาคม 2563 ผตง. เห็นชอบร่างขอบเขตงานและราคากลาง 76,800,00.00 บาท
28 พฤษภาคม 2563 ผตง.อนุมัติจัดจ้างออกแบบ โดยวิธีคัดเลือก + แต่งตั้ง คกก.ดำเนินการจ้างควบคุมงาน
9 กรกฎาคม 2563 คกก.ดำเนินการจ้างควบคุมงาน ได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการมายื่นข้อเสนอ จำนวน 19 ราย
30 กรกฎาคม 2563 มีผู้ให้บริการมายื่นข้อเสนอจำนวน5 ราย ดังต่อไปนี้
1. บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมค้าหลักเข้าร่วมค้ากับ บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ทีม คอนสตรัคชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด
2. กลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW (Joint Venture) โดย บริษัท พีเอ็นซิงคโครไนซ์ จำกัด เป็นผู้ร่วมค้าหลักเข้าร่วมค้ากับ บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด
3. บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด
4. บริษัท ซีอีแอล เอ็นจิเนียส์ จำกัด เป็นผู้ร่วมค้าหลักเข้าร่วมค้ากับบริษัทอลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
5. บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)
คกก.ดำเนินการจ้างควบคุมงาน ได้พิจารณาโดยใช้เกณฑ์คะแนน ดังนี้
หมวด ก ด้านวิธีการดำเนินงาน ร้อยละ 50
1. ความรู้ความเข้าใจในงานที่กำหนดในข้อกำหนด ร้อยละ 10
2. ระบบและวิธีการจัดการบริหารการดำเนินงาน ร้อยละ 10
3. ความถูกต้องเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน ร้อยละ 20
4. แผนการจัดบุคลากร ร้อยละ 5
5. ข้อเสนออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับโครงการ ร้อยละ 5
หมวด ข ด้านบุคลากร ร้อยละ 40
1. บุคลากรที่ปรึกษาด้านเทคนิค ร้อยละ 8
2. บุคลากรประจำสำนักงานสนาม ร้อยละ 20
3. บุคลากรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ร้อยละ 10
4. บุคลากรด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับโครงการ ร้อยละ 2
หมวด ค ด้านประสบการณ์ ร้อยละ 10
1. มีผลงานควบคุมงานโครงการตามเกณฑ์ ร้อยละ 8
2. มีผลงานควบคุมงานที่เป็นประโยชน์กับโครงการ ร้อยละ 2
หมายเหตุ ร่างขอบเขตงานและเกณฑ์คะแนนข้างต้น ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานอัยการสูงสุด
น่าสังเกตว่า คะแนนด้านประสบการณ์แค่ ร้อยละ 10 !!!!
ทั้งๆ ที่ การควบคุมงานก่อสร้างต้องใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ
ในที่สุด ก็ได้กิจการร่วมค้า PKW ชนะ 76.45 คะแนน
เป็นบริษัทไทย
ถ้าเรียงตามลำดับคะแนน ดังนี้
1.กลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW (Joint Venture) โดย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด ร่วมค้าหลัก เข้าร่วมค้ากับ บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์จเม้นท์ จำกัด ได้ 76.45 คะแนน
2.บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด ได้ 70.10 คะแนน
3.บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมค้าหลักเข้าร่วมค้ากับ บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ทีม คอนสตรัคชั่น แมเนจเมนท์
จำกัด ได้ 66.50 คะแนน
4.บริษัท ซีอีแอล เอ็นจิเนียส์ จำกัด เป็นผู้ร่วมค้าหลักเข้าร่วมค้ากับ บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ 60.75 คะแนน
5.บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ 41 คะแนน
ในที่สุด 1 ธันวาคม 2563 ผตง. อนุมัติ จ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW (Joint Venture) โดย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด ร่วมค้าหลักเข้าร่วมค้ากับ บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นเงิน 74,653,200 บาท
4 ธันวาคม 2563 ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา
14 มกราคม 2564 ลงนามสัญญาจ้าง
5. ข้อมูลสมมุติฐานที่นักวิชาการวิเคราะห์ และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในขณะนี้ คือ ผนังปล่องลิฟต์ เป็นจุดเริ่มต้นตึก สตง.ถล่ม ?
น่าจะมาจากปล่องลิฟต์ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า จุดตั้งต้นของตึกถล่มมาจากปล่องลิฟต์ด้านหลังอาคารที่ถล่มลงมาก่อน จากนั้นโครงสร้างทั้งหมดยุบตัวลงมา
การแก้ไขแบบผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) โดยปรับแบบผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงเฉือน (Shear Wall) ให้บางลงเป็น 25 ซม. จาก 30 ซม. อาจกระทบการรับน้ำหนักโครงสร้างได้
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย วิเคราะห์ พร้อมนำเสนอแบบจำลองคร่าวๆ ว่าต้นเหตุอาคารวิบัติถล่มลงมาแบบแพนเค้กครั้งนี้ น่าจะมาจากผนังปล่องลิฟต์ เป็นจุดตั้งต้นของการถล่มเป็นแพนเค้ก
สตง.ยอมรับว่ามีการแก้แบบปล่องลิฟต์จริง เนื่องจากแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน
ข้อมูลทั้งหมด ไล่ดูคร่าวๆ บ.ออกแบบ/แก้แบบก็ไทย บ.ควบคุมงานก่อสร้างก็ไทย บ.รับเหมาหลักก็ไทย สตง.ตรวจรับงานก็ไทย
ถ้าพิจารณาว่าโดยปราศจากอคติ
ตึก สตง.ถล่ม ต้นเหตุเพราะ “นอมินีจีน” จริงหรือ?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี