“เลือดของฉัน คือ กรุ๊ป A หากใครต้องการ สามารถติดต่อได้ทันที ฉันได้ลงชื่อบริจาคอวัยวะและร่างกายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว หากใครต้องการก็สามารถมาติดต่อเอาไปได้เลย และหวังว่ามันจะมีประโยชน์”
นี่เป็นข้อความสุดท้ายของ แองเจิ้ล หรือจาลซิน ซึ่งบางคนก็เรียกว่า “มะ เจ ซิน” หญิงสาวชาวพม่าวัย 19 ปี ที่ได้โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัว ก่อนจะเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา (2021) ด้วยกระสุนจริงจากทางเจ้าหน้าที่
สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters)นำเสนอบทสัมภาษณ์ของ “นายเมียต ธู”อายุ 23 ปี หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ประท้วงกลางเมืองมัณฑะเลย์เขาเล่าว่า มะ เจ ซิน เป็นหญิงสาวที่กล้าหาญ เธอเตะท่อน้ำจนแตกเพื่อให้เพื่อนร่วมการประท้วงล้างหน้าล้างตา หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ และยังเป็นคนขว้างกระป๋องแก๊สน้ำตากลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย
“ตอนแรกก็เป็นแค่แก๊สน้ำตา จากนั้นตำรวจก็เริ่มสาดกระสุนจริง ตอนที่เจ้าหน้าที่เปิดฉากยิง เธอบอกผมว่า นั่งลงๆ กระสุนจะโดนคุณนะ เธอเป็นห่วง และพยายามปกป้องผู้ชุมนุมทุกคน ซึ่งตอนนั้นพวกเราก็พยายามหลบและหนีตายกันอย่างชุลมุน พอเหตุการณ์เริ่มสงบลง ผมก็ได้รับการแจ้งข่าวว่า มีผู้หญิงเสียชีวิต1 คน ตอนนั้นผมไม่คิดว่าจะเป็นเธอ แต่เมื่อเห็นรูปภาพที่ได้รับการแชร์บนเฟซบุ๊คแล้วก็จำได้”
ภาพของ “มะ เจ ซิน” ที่มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายนั้น เป็นภาพหญิงสาวในเสื้อสีดำ สกรีนอักษรภาษาอังกฤษว่า “Everything will be OK” หรือ “ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น” โดยที่หญิงสาวคนดังกล่าวนอนเสียชีวิต และปรากฏแผลถูกยิงบริเวณศีรษะ พร้อมป้ายห้อยคอระบุตัวหนังสือเขียนว่า “ถ้าฉันถูกยิงตาย ช่วยเอาอวัยวะของฉันให้คนอื่นด้วย”
หลังการเสียชีวิตของเธอประชาชนชาวพม่าและทั่วโลกต่างโพสต์และส่งต่อรูปของเธอในเสื้อสีดำตัวเดียวกันนั้น ในช่วงเวลาที่เธออยู่แถวหน้าของการชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารพม่าอย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมคำชื่นชมมากมาย รวมไปถึงความหมายบนข้อความจากเสื้อของเธอได้รับการนำมาสร้างกำลังใจให้แก่กันในกลุ่มประชาชนชาวพม่าที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวความเสียใจ และความโกรธ ที่ประเดประดังเข้ามาในยามนี้
งานศพ “มะ เจ ซิน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม มีขบวนเคลื่อนร่างของเธอไปตามท้องถนนในเมืองมัณฑะเลย์และมีประชาชนเข้าร่วมในขบวนนี้เป็นจำนวนมาก ตามรายงานข่าวจากสื่อออนไลน์ที่ชื่อว่า Myanmar Now ได้สื่อสารในทำนองที่ว่า การตายของ “มะ เจ ซิน” ได้ปลุกเร้าให้เยาวชนทั่วประเทศพม่าสมัครใจมาเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหาร “มิน อ่อง หล่าย”ในหลายพื้นที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่า “มะ เจ ซิน”ไม่ใช่ศพแรก และศพสุดท้าย ความรุนแรงจากคณะรัฐประหารต่อกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยกระดับความโหดเหี้ยมอยู่ตลอดเวลา กระบอง ลูกเหล็ก กระสุนยางกระสุนจริง ถูกนำมาใช้กับมนุษย์ด้วยกันอย่างไร้ความปรานี หลายคลิปจากพม่าที่ได้รับการส่งต่อในโลกออนไลน์ แสดงถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ที่เกินกว่าแค่การควบคุมฝูงชน หรือสลายการชุมนุม แต่บริบทที่ถูกนำเสนออกมานั้น ไม่ต่างอะไรกับการแสดงออกด้วยความแค้น ความโกรธ และหมายเอาชีวิตหรือให้บาดเจ็บปางตาย คำถามก็คือว่า ในระดับนโยบายของโลก ทวีปหรืออาเซียน ได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้ซึ่งกำลังเกิดขึ้นที่ประเทศพม่าหรือไม่และจะหาทางออกให้กับความสูญเสียอันอำมหิตเช่นนี้อย่างไร
เพราะเป็นที่น่าแปลกใจว่า ก่อนการตายของ “มะ เจ ซิน” และผู้ชุมนุมอีกหลายคนในพม่า มีการร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (2 มีนาคม 2021) ซึ่งที่ประชุมดังกล่าว ได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในพม่า และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น ความยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงดำเนินการใดๆ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น ให้การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของทุกฝ่าย และแสวงหาทางออกโดยสันติผ่านการเจรจาที่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนั้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ก็ได้แสดงความยืนยันในความพร้อมของอาเซียนในการสนับสนุนให้พม่ากลับสู่สถานการณ์ปกติ ด้วยวิธีการเชิงบวก สันติ และสร้างสรรค์ และบางประเทศสมาชิก อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นางออง ซาน ซู จี”
และผู้ถูกจับกุมทางการเมือง และเปิดให้ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ (ด้านพม่า) เข้าไปร่วมพูดคุยเจรจากับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ถอยหลังไปจากนั้น คือเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2021“อู จ่อ โม ทูน” เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ (ที่มาจากรัฐบาลพลเรือน) ก็ได้ประกาศกลางที่ประชุมของสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมประณามการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า และให้เข้ามามีบทบาทช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแยังที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าขณะนี้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สามารถหยุดกระสุนของคณะรัฐประหารได้ เสียงปืนยังคงดังอย่างต่อเนื่องที่พม่า จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และความโกรธแค้นลุกลามไปยังแทบทุกพื้นที่ของประเทศ
ล่าสุด (4 มีนาคม) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ(ด้านพม่า) “นางคริสตีน สคราเนอร์เบอร์เกเนอร์” ได้ออกมาเปิดเผยถึงบทสนทนาระหว่างการพูดคุยกับ“พลเอกโซ วิน” รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกพม่า ว่าได้เตือนถึงการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง จะทำให้พม่าถูกแซงก์ชั่นอย่างแข็งกร้าวจากหลายประเทศ ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “เราคุ้นเคยดีกับการแซงก์ชั่นแล้วก็อยู่รอดมาได้ทุกครั้ง” และเมื่อเตือนต่อว่า อาจถูกโดดเดี่ยวจากทั้งโลก นายพลโซ วิน ก็ตอบว่า“เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะก้าวเดินต่อไปกับเพื่อนเพียงสองสามรายให้ได้”
ก็ต้องบอกตามตรงว่า สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้ ก็แค่การสื่อสารในเรื่องราวที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่ประชาชนคนทั่วโลกกำลังทำ และยังคงหวังให้ระดับนำอำนาจของโลก ทวีป หรืออาเซียน หาทางออกให้กับพม่าจงได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องหยุดความสูญเสีย และความโหดร้ายให้จบลงเสียที เพราะนี่มันไม่ใช่แค่เรื่องของเพื่อน หรือการเมืองภายใน แต่มันไปไกลถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์แล้ว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี