สัตว์เลี้ยงที่เราดูแลเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เขายังตัวเล็ก ๆ เมื่อเขาอยู่กับเรา เขาให้ความสุขทางใจกับเรามาโดยตลอด เมื่อเขาแก่ เราก็ต้องดูแลเขาอย่างดี จนกว่าเขาจะจากไป
สัตว์เลี้ยงที่อายุมาก มักมีโรคภัยไข้เจ็บตามมา ดังนั้น สัปดาห์นี้เรามาคุยกันถึงการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง หากสงสัยว่าเขามีอาการสมองเสื่อม คุณหมอจะรักษาเขาตามนี้
อันดับแรกคือซักประวัติ สอบถามความเป็นอยู่ การกินอาหาร และการขับถ่าย โดยเจ้าของต้องเล่าให้หมอฟังโดยละเอียด เพื่อช่วยในการรักษาได้อย่างตรงจุด ต่อไปคือกตรวจร่างกาย ฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ ดูสุขภาพช่องปาก ดูภาวะการขาดน้ำ ภาวะการเจ็บป่วยที่มี ตามมาด้วย ตรวจระบบประสาทเพื่อดูความผิดปกติ ดูการตอบสนองของเส้นประสาทต่าง ๆ ตรวจไขสันหลัง รวมถึงตรวจการทำงานของสมองทุกส่วน แล้วก็ตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติในระบบที่จะมีผลด้านพฤติกรรม เช่น ฮอร์โมน การทำงานของตับและไต
เครื่องมือสำหรับวินิจฉัยเชิงพฤติกรรมที่สัตวแพทย์จะใช้ร่วมกับเจ้าของเพื่อตรวจรักษาสัตว์
1.Canine Cognitive Dysfunction Rating Scale (CCDR) มี 13 คำถาม แบ่งเป็น 2 ส่วน โดย 7 ข้อแรกเน้น ความถี่ของพฤติกรรมที่พบ และ 6 ข้อต่อมา ดูการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
2.Canine Dementia Scale (CADES) มี 17 รายการ แบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ การรับรู้เชิงพื้นที่ การเข้าสังคม วงจรการนอนหลับ การขับถ่าย เพื่อใช้ติดตามการดำเนินโรคได้อย่างต่อเนื่อง จากผลการศึกษาพบว่า 71.45 เปอร์เซ็นต์ ของสุนัขอายุ 8–16 ปีโดยทั่วไปจะเริ่มมีภาวะ CDS ใน 12 เดือนหลังจากอายุถึงเกณฑ์
3.สำหรับแมว ปัจจุบันยังไม่มีแบบสอบถามเฉพาะ ซึ่งสัตวแพทย์จะดัดแปลงแบบสอบถามของสุนัขเพื่อใช้ตรวจแม้ โดยเพิ่มพฤติกรรมเฉพาะ เช่น การร้องเสียงดัง การใช้กระบะทราย พฤติกรรมการแต่งขน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค
การตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging)
สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ส่งต่อสัตว์ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเพื่อทำ MRI แต่จะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายสูง และความเสี่ยงจากการวางยาสลบในสัตว์สูงวัย ทำให้เจ้าของหลายรายมักปฏิเสธการทำ MRI แต่การตรวจ MRI อาจแสดงให้เห็นความผิดปกติของสมองได้ เช่น การฝ่อของเยื่อสมองส่วนหน้า (cortical atrophy) ความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อสีขาวรอบโพรงสมอง (periventricular white matter)
แต่ความผิดปกติเหล่านี้ ไม่จำเพาะเจาะจงกับโรค CDS แต่บางครั้ง MRI ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ ถึงแม้สัตว์จะมีอาการชัดเจน
การรักษา CDS ประกอบด้วย
1. การปรับสภาพแวดล้อม
• จัดบ้านให้ปลอดภัย เช่น วางพรมกันลื่น
• หลีกเลี่ยงการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ใหม่
• เพิ่มทางลาดหรือบันไดสำหรับขึ้น-ลงพื้นที่สูง
• พาสุนัขออกไปขับถ่ายให้บ่อยขึ้น
2. การเสริมกิจกรรม (Enrichment) และการออกกำลังกาย
• กระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น การดมกลิ่น การมองภาพเคลื่อนไหว การฟังเพลงสำหรับสัตว์
• ให้เล่นของเล่นหรือทำกิจกรรมที่ต้องคิด เช่น ใช้จมูกหาอาหาร เล่นเกมหาของ
• เดินเล่นเบา ๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อและความจำ
• ใช้กลิ่นใหม่ ๆ เช่น ลาเวนเดอร์เพื่อกระตุ้นความสนใจ
3. อาหารเสริม ประกอบด้วย Ginkgo biloba, pyridoxine, phosphatidylserine, vitamin E, resveratrol ,SAMe เพิ่มสมาธิและความสามารถในการประมวลผล Aktivait มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด (เวอร์ชันแมวไม่มี α-lipoic acid ซึ่งเป็นพิษต่อแมว)
4. อาหารสูตรพิเศษ มี MCTs เพิ่มพลังงานให้สมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในสมอง แต่สำหรับแมวยังไม่มีสูตรเฉพาะ CDS แต่มีอาหารสำหรับแมวสูงวัย มีสารอาหารที่ช่วยรักษาโรคได้
5. ยา Selegiline (Anipryl) ยาที่ได้รับการรับรองจาก FDA สำหรับสุนัข มีผลต่อโดปามีนและลดการเกิดอนุมูลอิสระ ใช้แบบ off-label ในแมว อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ก่อนเห็นผล และต้องใช้ต่อเนื่อง อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิตกกังวล ส่วนยาทางเลือก คือ SSRIs, TCAs, เบนโซไดอาเซพีน ใช้เพื่อควบคุมความกังวลของสัตว์
จะเห็นว่าการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมมีกระบวนการและขั้นตอนมากมาย รวมถึงการรักษาที่จำเป็นต้องพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค และขอคำแนะนำสำหรับใช้จัดการด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งอาหารและยาก็มีความจำเป็นในการรักษาสัตว์ แต่หากสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้แล้ว แต่รักษาแล้วไม่หายขาย เราก็ต้องดูแลเขาต่อไป เพื่อชะลอและลดความรุนแรงของโรค เพื่อสัตว์เลี้ยงของเราจะได้อยู่กับเราอย่างมีความสุขด้วยกัน
น.สพ. นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี