ต่อกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่ง ยกคำร้องของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ซึ่งขอให้ศาลไต่สวนการคุมขัง “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แม้ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์ จำเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน และนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 คำถามก็คือ ประชาชนควรเข้าใจเรื่องนี้ว่าอย่างไร การส่งตัวนักโทษเด็ดขาดชาย “ทักษิณ ชินวัตร” ออกจากคุก มานอนที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กระทำโดยชอบหรือไม่ เขาป่วยวิกฤตจริงหรือเปล่า และจะนับเวลาที่นอนโรงพยาบาลว่าเป็นเวลา “รับโทษจำคุก” หรือไม่นับ เช่นนั้นแล้ว จะต้องนำตัวทักษิณกลับไป “ติดคุก” ให้ครบตามจำนวนที่ศาลสั่งหรือเปล่า มาทำความเข้าใจไปด้วยกัน
1) “ดร.ณัฏฐ์” ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า เกมทางกฎหมายจบลงแล้ว เพราะศาลได้ยกคำร้องในประเด็นสำคัญว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี
ดร.ณัฏฐ์ อธิบายว่า หลักสิทธิในการร้องต่อศาลต้องเป็นผู้เสียหายหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีหากเปิดทางให้บุคคลทั่วไปเข้ายื่นคำร้องในคดีอาญาที่สิ้นสุดแล้ว อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อกระบวนการยุติธรรม
“แม้ศาลจะมีอำนาจไต่สวนเมื่อ “ความปรากฏแก่ศาล” แต่ก็เป็นเพียงการใช้ดุลยพินิจเพื่อความสมบูรณ์ของกระบวนการ ไม่ใช่การเปิดเกมใหม่ทางกฎหมาย” ดร.ณัฏฐ์กล่าว พร้อมเน้นว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดตามระบบไต่สวน พิจารณาทุกข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ไม่ใช่ความรู้สึกหรือคำกล่าวหาจากบุคคลภายนอก
เขาชี้ว่า ในคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือการบังคับโทษ การดำเนินการทั้งหมดอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีกฎหมายกำหนดว่า ไม่สามารถบังคับโทษทางอาญาในคดีเดียวกันซ้ำอีกได้ เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาและสิทธิมนุษยชนสากล
ในส่วนที่สังคมเคลือบแคลงว่า นายทักษิณ ชินวัตร ถูกจำคุกจริงหรือไม่ ดร.ณัฏฐ์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่ ต้องฟังจากพยานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และชี้ชัดว่า ไม่มีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่ระดับผู้บัญชาการเรือนจำ หรือแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ จะกล่าวยืนยันในทางให้ผลร้ายแก่ตนเองหรือหน่วยงานรัฐ หากไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ
ดร.ณัฏฐ์ ยกคำวินิจฉัยเดิมของศาลว่า การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลในการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติถูกหรือผิด เพราะเป็นคนละเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก
และศาลย่อมรับฟังถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก “เพราะไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองหรือเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด” โดยเฉพาะเมื่อมีเอกสารยืนยันจากเรือนจำ และการออกหนังสือรับรองการพ้นโทษของนายทักษิณแล้ว ยิ่งทำให้โอกาสที่ศาลจะยกคำร้องอีกครั้งมีสูงมาก
2) ดร.ณัฏฐ์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ระบุว่าตนเคยไปพบนายทักษิณและเห็นว่าไม่ได้ป่วยจริง ว่า “ท่านไม่ได้จบแพทย์ และไม่ใช่ผู้รักษาจะมาให้ความเห็นทางการแพทย์ย่อมไม่มีน้ำหนักเท่าแพทย์ที่รับผิดชอบโดยตรง”
3) สุดท้าย ดร.ณัฏฐ์ฝากคำถามถึงประชาชนว่าจะเลือกเชื่อใคร ระหว่างผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ กับ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” และ “ชาญชัย” ผู้ไม่มีส่วนได้เสียในคดี พร้อมย้ำว่า การวิพากษ์วิจารณ์ต้องตั้งอยู่บนหลักกฎหมาย ไม่ใช่อารมณ์หรือการเมือง
4) ขณะที่ อ.แก้วสรร อติโพธิ ชี้ว่า...
เมื่อการจำคุกทำโดยอำนาจศาล ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบว่า ได้มีการทำตามหมายของศาลหรือไม่ หากผิดพลาด ศาลก็มีอำนาจสั่งราชทัณฑ์ให้ทำให้ถูกต้องได้เสมอ
คำถามก็คือ ในการตรวจสอบครั้งนี้ศาลจะยึดกฎหมายฉบับใดเป็นฐาน จะยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) หรือตามกฎหมายราชทัณฑ์
ตอบว่า ศาลต้องยึดทุกอย่างที่เป็นกฎหมาย ถ้ากฎหมายทั้งสองขัดแย้งกันในเรื่องใด ศาลก็ต้องวินิจฉัยเองว่ากฎหมายใดใช้บังคับได้ ดังปรากฏข้อพิจารณาไปโดยลำดับ ซึ่งเรื่องใหญ่สุด คือ ปัญหาการนับระยะเวลาคุมขัง
5) อ.แก้วสรร ตั้งคำถามว่า ทักษิณ-นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำ คือ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ถ้าศาลออกหมายขัง 1 ปี หลังมีพระบรมราชโองการอภัยลดฌโทษจำคุก จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี ทักษิณนอนโรงพยาบาลมา 6 เดือนแล้ว เราจะนับเวลา 6 เดือน ดังกล่าว เป็นเวลาคุมขังหรือไม่
6) อ.แก้วสรร ตอบว่า ถ้าดูคำตอบจาก “จากกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” มาตรา 246 ระบุไว้ว่า
“มาตรา 246 เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมด
(๑) เมื่อจำเลยวิกลจริต (๒) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (๓) ถ้าจำเลยมีครรภ์ (๔) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้น ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าว อยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้น เป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง
ลักษณะของสถานที่อันควรตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจำเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย
เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสาม หรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้ ให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตามมาตรานี้ ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา
ด้วยความตามมาตราข้างต้น การนำนักโทษไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องทำโดยคำสั่งศาล และจะถือระยะเวลานี้เป็นเวลาที่ถูกคุมขังไม่ได้ เพราะเป็นเพียงการทุเลาไม่บังคับตามหมายด้วยเหตุเจ็บป่วยเท่านั้น
หมายความว่า หาก ผบ.เรือนจำกับ รพ.ตำรวจ เห็นว่าต้องรับตัวทักษิณไว้รักษา ด้วยเหตุจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ก็ต้องรับไว้ให้นอนโรงพยาบาลก่อน แล้วรีบขอคำสั่งศาลให้อนุมัติและทุเลาการลงโทษ พอศาลสั่งแล้ว ทักษิณก็นอนต่อไปตามเดิม แต่การนับโทษจะหยุดนับทันที หายดีเมื่อไหร่ก็กลับเข้าเรือนจำแล้วเริ่มนับโทษที่เหลือต่อไป
7) แต่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ให้คำตอบไว้อีกอย่าง
พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 55 “ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน หรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต นอกเรือนจำต่อไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำตามวรรคสอง มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องขังไว้รักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนี ที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา”
แสดงว่า กฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา 55 วรรคสองถือว่า การรักษาตัวของทักษิณที่ชั้น 14 นั้นมีฐานะเป็นการคุมขัง ดังนั้นเวลา 6 เดือนที่นอนชั้น 14 จึงนับว่าทักษิณได้ต้องโทษมา 6 เดือนแล้ว
8) อ.แก้วสรร ชี้ว่า เห็นได้เลยว่า เรื่องนับเวลานี้ ทั้ง ป.วิอาญา และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์บัญญัติขัดกันชัดเจน และต่างก็เป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ.เหมือนกัน มีศักดิ์
เท่ากัน กรณีจึงเกิดปัญหาว่า จะต้องใช้กฎหมายใดเป็นฐานในคดีนี้ ซึ่ง อ.แก้วสรร เห็นว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ บัญญัติขึ้นมาภายหลัง ดังนั้น ต้องถือว่ารัฐสภาได้ยกเลิก มาตรา 246 แห่ง ป.วิอาญาไปแล้ว ถ้ามองอย่างนี้ ศาลอาจถือมาตรา 55 นี้เป็นฐานกฎหมายในคดีก็ได้
9) อ.แก้วสรร ชี้ต่อไปว่า ถ้าในที่สุด ลงเอยกันที่มาตรา 55 อย่างนี้ ศาลก็ต้องไต่สวนต่อไปว่า ป่วยจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบหมด ว่ากระบวนการอนุญาตผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ทั้งการตรวจและให้ความเห็นของหมอราชทัณฑ์ในชั้นส่งตัว ทั้งการตรวจและให้ความเห็นของหมอโรงพยาบาลตำรวจว่าจำเป็นต้องรับไว้รักษา จนมาถึงคำสั่งอนุญาตของ ผบ.เรือนจำในที่สุด
ถ้าพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่มีการตรวจและให้ความเห็นเช่นที่ควร ก็หมายความว่า เวลา 6 เดือนที่อยู่ชั้น 14 นั้น จะนับเป็นเวลารักษาตัวนอกเรือนจำตามมาตรา 55 วรรคแรกไม่ได้ เมื่อเข้าวรรคแรกไม่ได้ ก็ถือเป็นเวลาคุมขังตามวรรคสองไม่ได้
กรณีจึงสรุปได้ว่า ทักษิณไม่เคยติดคุกตามหมายศาลเลย ศาลต้องสั่งให้จับตัวไปคุมขังจริงๆ ต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่มีหน้าที่ทำตามหมายศาล ก็โดนละเมิดอำนาจศาลตามไปด้วยอีกคำสั่งหนึ่ง
ส่วนเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ทางจรรยาแพทย์ก็เป็นเรื่องของแพทยสภา ว่ากันตามช่องทางต่างๆ ของกฎหมายต่อไป
สรุป : เรื่องทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของ “ข้อกฎหมาย” ที่ยังขัดแย้งกันอยู่ เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายฉบับใด โดยใช้ “ข้อเท็จจริง” ประกอบการวินิจฉัย
“ทักษิณ” ยังมีความเสี่ยง ที่จะต้อง “กลับเข้าคุก” เพื่อ “รับโทษให้ครบ” ตามหมายของศาล หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ของ อ.แก้วสรร แต่ทักษิณไม่ต้องกลับเข้าคุกอีกแล้ว หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ของ ดร.ณัฏฐ์
นี่จึงเป็น “2 ทางของความเป็นไปได้”ที่ประชาชนอย่างเราๆ ทำได้เพียง รอการวินิจฉัยของศาลเท่านั้น !!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี