ปัจจุบันนี้ นอกจากสุนัขและแมวแล้ว “ปลา” จัดเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมกัน เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงใช้พื้นที่น้อย ต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่มาก แต่กระนั้นก็มีผู้เลี้ยงปลาหลายคนวิตกว่า เราจะมีวิธีการปฐมพยาบาลและดูแลปลาป่วยเบื้องต้นอย่างไร รวมถึงสิ่งใดบ้างที่ผู้เลี้ยงควรใส่ใจเป็นพิเศษวันนี้ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก รศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ จาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคติดเชื้อในปลา (Center of Excellence in Fish Infectious Diseases) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากครับ
ทุกท่านคงตระหนักดีว่า “น้ำ” คือ “ชีวิต” ของปลา เพราะ “แหล่งน้ำ” คือ “บ้านและสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของปลา” ดังนั้น “คุณภาพน้ำ” ที่ปลาอาศัยอยู่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกเนื่องจากหากบ้านของปลามีคุณภาพแย่ลง ก็จะมีของเสียหรือมีมลพิษมากขึ้นเรื่อยๆ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของปลาก็จะเสียไปด้วย ปลาก็จะมีสุขภาพอ่อนแอ ป่วยติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ง่าย หรืออาจถึงตายได้ในที่สุด
“คุณภาพน้ำ” เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงปลาทุกคนควรตรวจสอบ โดยเบื้องต้นนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาและคำนึงถึงได้แก่ ปริมาณคลอรีน ความเข้มข้นของแอมโมเนียในน้ำ ค่าความเป็นกรด-ด่า (ค่า pH) รวมถึงค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (ค่า DO) และปริมาณไนไตรท์ในน้ำเป็นต้น
บางคนอาจสงสัยว่า เราสามารถตรวจคุณภาพน้ำเองที่บ้านได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะมีวิธีการที่ยุ่งยากอย่างไร เนื่องจากหลายท่านคงจะจดจำภาพในอดีตที่ว่า การตรวจคุณภาพของน้ำนั้น จะต้องใช้อุปกรณ์ทางห้องปฏิบัติการที่ลึกลับซับซ้อน มีตะเกียง มีแท่นวางหลอดทดลอง มีอุปกรณ์ตวง-ชั่งสารเคมีเยอะแยะเหมือนที่เราเคยในหนังวิทยาศาสตร์เก่าๆ
แต่ต้องเรียนว่า ในปัจจุบันนี้ การตรวจคุณภาพน้ำด้วยตนเองนั้น “ไม่ลำบากยากเย็น” เหมือนที่คิดเลยครับ การตรวจคุณภาพน้ำนั้น สามารถทำได้ด้วยตนเองด้วยวิธีการที่แสนง่ายดาย ด้วยการใช้ “ชุดทดสอบ” หรือ “test kit” โดยที่ผู้เลี้ยงสามารถทำตามคำแนะนำของชุดทดสอบนั้นได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่หยดสารเคมีต่างๆ ลงไปตรวจ ตามลำดับ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย และจะทราบผลภายในไม่กี่นาทีครับ
ซึ่งชุดทดสอบคุณภาพน้ำที่กล่าวถึงนั้น ก็มีจำหน่ายทั่วไปตาม “ร้านขายสัตว์น้ำและอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์น้ำ” ทั่วไป ขั้นตอนในการทำก็มีระบุไว้ในชุดสำรวจนั้น ซึ่งเพียงแค่ “หยด จุ่ม และอ่านค่า” ตามคำแนะนำการใช้ในฉลากเท่านั้นเอง มั่นใจว่าท่านที่เคยใช้ชุดทดสอบโควิด-19 มาแล้ว จะทำได้อย่างแน่นอนครับ
ขอเรียนย้ำว่า การตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอนั้นมีความจำเป็นมากเพราะเป็นการช่วย “เฝ้าระวัง” ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นกับปลาหรือสัตว์น้ำที่เราเลี้ยงได้เป็นอย่างดีครับ
เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลปลาตู้และปลาสวยงามนั้นยังมีต่อเนื่องครับ สัปดาห์หน้าเรามาทำความรู้จักชนิดของยาและสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงปลาสวยงามกันครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี