แปลงสาธิตเกษตรไทบ้านนาหมูม่น
“รายงานพิเศษ” ยังคงอยู่กันที่ “บ้านนาหมูม่น” ต.นาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย โดยต่อจากฉบับเมื่อวานที่ว่ากันด้วยเรื่องพัดทดน้ำอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรของชุมชน ส่วนฉบับวันนี้จะว่ากันที่งานวิจัยเพื่อพัฒนาภาคเกษตรของท้องถิ่นไปสู่วิถีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทุนและความรู้โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เช่นเดิม
บ้านนาหมูม่น อยู่ห่างจากตัวเมืองของอำเภอด่านซ้าย 12 กิโลเมตร มีประชากร 193 ครัวเรือน เป็นที่ราบหุบเขา “มีลำน้ำหมัน”ไหลผ่าน เป็นลำน้ำสายสำคัญในการทำการเกษตรชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำนาข้าวบนพื้นที่ราบและมีการปลูกพืชผักตามริมคันนา ส่วนพื้นที่ราบบนภูเขาหรือพื้นที่เชิงเขามีการปลูกพืชไร่ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากบ้านนาหมูม่นจะมีลำน้ำหมันไหลผ่านแล้ว ยังมี “น้ำซับ” ที่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย
คุณารักษ์ มณีนุษย์ นักวิจัยท้องถิ่น กล่าวว่า แหล่งน้ำของชุมชนบ้านนาหมูม่นมาจาก 2 ส่วน คือ 1.น้ำหมัน สำหรับใช้การเกษตร และ 2.น้ำซับหรือตาน้ำ ใช้ในการอุปโภค-บริโภคซึ่งมีลักษณะคล้ายไส้ไก่ เกิดจากน้ำใต้ดินที่ผ่านการกรองของชั้นหินทรายจากภูเขาสูงและซึมผ่านจากพื้นที่ราบสูงขนาดใหญ่บนพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งผลการตรวจคุณภาพน้ำพบว่าเหมาะสมที่นำมาจะอุปโภค-บริโภคได้ ซึ่งชุมชนจะใช้เป็นน้ำประปาของหมู่บ้านนาหมูม่น และหมู่บ้านใกล้เคียง
“ตาน้ำนั้นไม่ได้ขุดเจอได้ทุกหมู่บ้าน...แต่บ้านนาหมูม่นเป็น 1 ในหมู่บ้านที่พบตาน้ำมากที่สุด” ถือว่าเป็นเรื่องโชคดีไม่น้อย ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 จุด อย่างไรก็ตาม “ตาน้ำส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล การเข้าไปใช้ประโยชน์จึงต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของ” ซึ่งจะสืบทอดกันมาเป็นตามต้นตระกูล แต่ละตาน้ำมีชื่อเรียกตามชื่อของผู้นำที่พาชาวบ้านไปขุด และนำมาแบ่งปันน้ำใช้กันภายในเครือญาติและชาวบ้านที่มาร่วมขุด
“แม้ปัจจุบันจะยกให้เป็นตาน้ำสาธารณะ แต่ชาวบ้านยังคงให้ความเคารพพื้นที่ จะไม่เข้าไปทำสิ่งไม่ดี เพราะชาวบ้านมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ว่าบริเวณตาน้ำ หรือห้วยภู ห้วยนั้นหมายถึงตาน้ำ ส่วนภูนั้นหมายถึงภูเขา เป็นถิ่นที่อยู่เก่าของต้นตระกูล ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทุกคนในชุมชนจะต้องให้ความเคารพและต้องร่วมกันดูแลรักษา” คุณารักษ์ ระบุ
ขณะที่ รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาคือ“การทำเกษตรเริ่มเปลี่ยนไปจากที่เคยทำแบบพออยู่ พอกิน กลายเป็นการทำเกษตรแบบการค้า ซึ่งทำให้ต้องขยายพื้นที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตร” โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวขึ้นไปในป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาพบว่าส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของตลาดที่เป็นแรงจูงใจ
อาจารย์เอกรินทร์ กล่าวต่อไปว่า “เมื่อเทียบรายได้จากการขาย...พืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังหักรายจ่ายแล้วจะเหลือเพียง 2,100 บาท/ไร่/ปี ส่วนการทำเกษตรทางเลือกมีรายได้อยู่ที่ 115,200 บาท/ไร่/ปีแต่เพราะเป็นรายได้ที่ชาวบ้านได้รับเป็นรายวันแล้วนำกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่รู้สึกว่าต่างกันกับการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย” อย่างไรก็ตาม หากต้องการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและเร่งฟื้นฟูธรรมชาติ การเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ
ซึ่งผลการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน โดยคณะวิจัยจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พบว่า “พื้นที่ป่าชุมชนบ้านนาหมูม่นมีสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังผสมป่าเบญจพรรณ มีชนิดพรรณไม้กว่า 142 ชนิด เป็นไม้ยืนต้น 64 ชนิด ไม้ล้มลุก 23 ชนิดไม้เถา 20 ชนิด ไม้พุ่ม 12 ชนิด พืชวงศ์หญ้า 18 ชนิด และเฟิร์น 5 ชนิด และยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่น้อยกว่า 115 ชนิด” ชี้ให้เห็นว่าพื้นป่าบ้านนาหมูม่นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ที่ควรแก่การอนุรักษ์
จึงเริ่มจากการชักชวนคนที่สนใจปลูกผักไร้สารเคมี ในเบื้องต้นมีผู้หญิงมาสมัครเข้าร่วม 20 คน จึงเกิดการรวมกลุ่มสตรีขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายผลิตพืชผักปลอดภัย ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 44 คน จึงชักชวนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันปรับพื้นที่เพื่อจัดสร้าง “ตลาดสุขภาพบ้านนาหมูม่น” ขึ้นภายในหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 โดยกำหนดกติกาและระบบการจัดการ
“ตลาดสุขภาพบ้านนาหมูม่น เป็นพื้นที่ทดลองขยายสาขาของโครงการด่านซ้ายกรีนเนต หรือตลาดสีเขียว ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ทดลองเปิดตลาดในครั้งแรกตั้งอยู่ที่โรงพยาบาล พระยุพราชด่านซ้าย โดยชาวบ้านที่สามารถนำผักมาขายได้ จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเครือข่ายของโครงการเท่านั้น เพราะกระบวนการตั้งแต่ปลูกจนขายต้องผ่านการตรวจสอบจากสมาชิกในเครือข่ายทั้งสิ้น ว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่” อาจารย์เอกรินทร์ ระบุ
ด้าน หนูเด่น วังคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านนาหมูม่น เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันหันมาปลูกผักปลอดภัย เพราะได้เข้าใจเรื่องต้นทุน กำไร และปัญหาที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นอกจากต้องใช้เงินลงทุนสูงแล้วยังทำให้สุขภาพเริ่มย่ำแย่จากการใช้สารเคมี “พอหันมาปลูกผักไว้ทานเองสุขภาพเริ่มดีขึ้น” ซึ่งทีมวิจัยเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับผักปลอดภัยว่าให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง พอได้ทดลองปลูกแล้วเห็นผลกับตนเอง ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็สนใจทำบ้าง
“จากที่เคยซื้อผัก 5 บาท 10 บาท แต่พอมาปลูกเองก็ลดรายจ่ายไป ผลผลิตที่เหลือก็นำมาขายได้อีก ลองนำเงินที่ได้จากการขายผักมาหยอดกระปุกเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่าพอเราปลูกผักเองสามารถลดรายจ่ายจากที่เคยซื้อผักกินกลายมาเป็นรายได้แทน จากเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า ขายผักได้เงินน้อย รายได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ ไม่เหมือนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปีหนึ่งเก็บเกี่ยวขายได้เงินก้อนส่วนปลูกผักขายได้เงินแค่วันละไม่กี่ร้อยบาท แต่เมื่อคิดต้นทุนแล้วเห็นชัดว่ารายได้จากข้าวโพดสู้ขายผักไม่ได้ เพราะการปลูกผักเราไม่ต้องทำทั้งวัน” หนูเด่น กล่าว
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านนาหมูม่นยังกล่าวอีกว่า “ปลูกผักไม่ต้องดูแลมาก ทำแค่ตอนเช้าและเย็น จึงมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีก” ปัจจุบันผลผลิตผักปลอดภัยของชุมชนมีกระแสตอบรับดี โดยจะมีการนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดสุขภาพบ้านนาหมูม่นเปิดขายทุกเช้าวันอาทิตย์, ตลาดสีเขียวหน้าที่ทำการอำเภอด่านซ้าย ทุกวันอังคารและศุกร์ และตลาดคลองถมบ้านนาหมูม่น ทุกบ่ายวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ขายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาขายเพียง2 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่สร้างรายได้กว่า 2,000- 4,000 บาทต่อเดือน และที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินลดลงด้วย
นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระยุพราชด่านซ้าย กล่าวเสริมว่าโครงการตลาดนัดสีเขียวเป็นงานสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กรได้ทำในสิ่งที่รู้สึกผูกพันตั้งแต่เกิด และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีกระตุกให้เห็นว่า “ทรัพยากร น้ำ ดิน ป่า ภูมิปัญญา คือสิ่งทรงคุณค่าที่สมควรได้รับการอนุรักษ์สืบทอด” และยังแสดงให้เห็นว่า“การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากคนในท้องถิ่นเอง” ไม่ได้มาจากหน่วยงานราชการต่างๆ
“สำหรับตลาดสีเขียวที่โรงพยาบาลพระยุพราชด่านซ้าย จะมีการตั้งทุกวันจันทร์ ตั้งแต่เวลาเช้ามืดจนฟ้าเริ่มสาง ซึ่งผู้คนจากบ้านนาหมูม่นและบ้านก้างปลาจะนำผักพื้นบ้านและอาหารป่ามาวางขายกันอย่างครึกครื้น จากการสอบถามเหล่าบรรดาแม่ค้าทั้งหลายพบว่า แม้ราคาของผักนั้นจะอยู่ที่ราว 10-30 บาท แต่พวกเขากลับสร้างรายได้ถึงวันละ500-1,000 บาทเลยทีเดียว แต่รายได้หลักของชาวบ้านไม่ได้มาจากการปลูกผักไร้สารพิษขายพวกเขายังปลูกข้าว หรือกรีดยางพาราไปตามฤดูกาล ผักไร้สารเป็นเพียงรายได้เสริมเท่านั้น” นพ.ภักดี กล่าวในท้ายที่สุด
หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจาก “ทีมงานวารีวิทยา, สกว.”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี