“ติดคุกยังมีวันออก..แต่ประวัติติดตัวไปจนตาย” เป็นนิยามของผู้เคยกระทำความผิดต้องโทษจำคุก ซึ่งไม่ว่าจะทำผิดข้อหาอะไรมีมูลเหตุจูงใจจากเรื่องใด แม้รับโทษครบกำหนดแล้ว แต่เมื่อกลับสู่สังคมชีวิตก็ยากจะคืนสู่ปกติได้เพราะการมีประวัติเคยต้องโทษเป็นอุปสรรคต่อการหางานทำ สถานประกอบการมักปฏิเสธไว้ก่อนเสมอ แม้ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำจะได้รับการฝึกทักษะอาชีพหรือเรียนหนังสือก็ตาม ครั้นจะประกอบอาชีพอิสระก็ไม่มีทุนตั้งต้น
จากปัญหาข้างต้น ลำพังเป็นคนที่ศาลมีคำตัดสินว่าผิดจริงก็ลำบากแล้ว แต่ยังแผ่ขยายมาถึง “ผู้ต้องหา” ซึ่งหมายถึง “ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากตำรวจ..แต่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าผิดจริงหรือไม่” เพราะเมื่อบุคคลใดถูกตั้งข้อหา บุคคลนั้นย่อมมี “ประวัติอาชญากร” ติดตัวโดยอัตโนมัติ แม้ในท้ายที่สุดอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลตัดสินยกฟ้องอันหมายถึงบุคคลนั้นพ้นข้อกล่าวหาไปแล้วก็ตาม ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดเสวนา “ลบประวัติล้างความผิด คืนชีวิตด้วยสิทธิตามกฎหมาย” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี และอาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับปี 2489 จนถึงปัจจุบันคือ 2560 รับรองหลักการ “ผู้ถูกกล่าวหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินว่าผิดจริง” แต่ก็เห็นใจกองทะเบียนประวัติอาชญากร รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจต่างๆ เพราะทั้งอัยการและศาลไม่มีหน้าที่ส่งข้อมูลบทสรุปของคดีกลับไปยังตำรวจ ส่วนตำรวจก็มีภาระงานมากมาย
ทั้งนี้ ตำรวจสามารถทำฐานข้อมูลของผู้ถูกจับกุมเพื่อใช้ในการทำงานได้ แต่ฐานข้อมูลนี้ต้องถูกเรียกว่าทะเบียนประวัติผู้ต้องหา กระทั่งศาลมีคำพิพากษาว่าผิดจริงแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นอาชญากร ดังนั้นทะเบียนประวัติอาชญากรจึงควรเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมา“เป็นภาระของประชาชนที่จะต้องไปขอลบประวัติเองเมื่อคดีถึงที่สุดว่าไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา” นอกจากนี้ยังมีกรณีผู้ต้องโทษปรับเล็กๆ น้อยๆ แต่ชื่อก็ถูกนับรวมในฐานะอาชญากรไปแล้ว
“มีชื่อทั้งหมด 17 ล้านแผ่น อาจจะมีคนที่ซ้ำกัน ถ้าคิดกลมๆ หารสองเอาง่ายๆ จริงๆ ก็น่าวิจัยเพราะไม่ทราบว่า 17 ล้านแผ่นมีทั้งหมดกี่คน แต่กลมๆ หารสองอย่างน้อยก็ 8.5 ล้านคน น่าตกใจคนไทย 67 ล้านคน เป็นอาชญากร 8.5 ล้านคน แต่ในความเป็นจริง8.5 ล้านคน ไม่ใช่อาชญากร ที่ติดคุกจริงอาจจะไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่ถูกตั้งข้อหา” อาจารย์ปริญญา กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.สมพัฒน์ ลีลาพจนาพร ผู้แทนจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อธิบายขั้นตอนตามระเบียบราชการว่า เมื่อพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาพร้อมให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งมาจัดเก็บที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งหากในเวลาต่อมาผู้ต้องหาพ้นจากข้อกล่าวหา ไม่ว่าผู้เสียหายถอนแจ้งความอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง สถานีตำรวจเจ้าของคดีก็จะต้องส่งผลคดีนั้นมายังกองทะเบียนประวัติอาชญากร ส่วนการคัดแยกประวัติออกจากสารบบต้องเข้า 1 ใน 19เงื่อนไขจึงจะทำได้
ทั้งนี้ การเข้าไปดูประวัติอาชญากร จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.หน่วยงานของรัฐ เช่น กรณีตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครสอบเข้ารับราชการ หรือกรณีตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอใบอนุญาตต่างๆ อาทิ ใบขับขี่สาธารณะ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงรับจำนำ ฯลฯ ซึ่งสำหรับหน่วยงานของรัฐ มีกฎหมายรับรองให้เปิดเผยข้อมูลได้ เว้นแต่กรณีของเด็กและเยาวชนที่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กไม่อนุญาตให้เปิดเผย กับ 2.บริษัทเอกชน การขอตรวจสอบประวัติอาชญากรต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นด้วย
“ปัญหาที่พบ เนื่องจากว่าทุกๆ อย่างมันไปรวมที่โรงพักหมด ผลคดีจะต้องมีการแจ้งกลับมาเพื่อให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรจะต้องเป็นผู้ดำเนินการคัดแยก เจ้าตัวเองไม่ต้องมาถ้ามีผลคดีมาแล้ว ทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะเป็น
ผู้ดำเนินการให้ แต่ที่มีปัญหาทุกวันนี้ บางครั้งที่ผ่านมาทางสถานีตำรวจอาจจะไม่ส่งผลมา เนื่องจากการแจ้งผลบางคดีมันยาวนานมากเป็นปีๆ ผลคดีไม่ใช่แบบว่าวันนี้มีคดีพรุ่งนี้ผลออกมา บางทีก็สู้กัน 3 ศาล อย่างที่เราจะทราบ ผลแห่งการนี้ผลคดีก็จะช้า
พนักงานสอบสวนก็เหมือนนักศึกษาเรียน 4 ปี ถามว่ามีใครกลับมาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกเดือนหรือเปล่า คงไม่มี พวกพนักงานสอบสวนก็เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสถานีแจ้งผล แต่ทางหัวหน้าสถานีงานเขาเยอะ เขาก็ไม่มีเวลา ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนหรือเสมียนคดี เขาก็ต้องไปตามผล แต่ผลแห่งการนี้ก็คั่งค้าง ถ้าคดีไหนหลายๆ ปีเข้า อย่างบางคดีตั้งแต่ปี 2550 กว่าๆ จนป่านนี้ก็ยังไม่ดำเนิน ผลคดีก็ไม่มีจริงๆ มันก็จะค้างในระบบ ทว. (ทะเบียนประวัติ) ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องค้างอยู่อย่างนั้น” พ.ต.อ.สมพัฒน์ กล่าว
พ.ต.อ.สมพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า และแม้ศาลจะตัดสินยกฟ้อง แต่หากสถานีตำรวจไม่ส่งข้อมูลมาให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ประชาชนที่ยังมีประวัติติดตัวค้างอยู่ย่อมมีโอกาสเสียสิทธิ์ในการได้งานทำ ทั้งนี้ หากเป็นหน่วยงานของรัฐจะมีการติดตามสอบถามไปที่สถานีตำรวจเจ้าของคดีว่าผู้มาสมัครสอบที่มีประวัตินั้นคดีมีความคืบหน้าอย่างไร แต่หากเป็นบริษัทเอกชนก็มักจะไม่ตามอย่างถึงที่สุดดังกล่าว ซึ่งเข้าใจได้ว่านายจ้างมีตัวเลือกมาก ดังนั้นสามารถเลือกได้ระหว่างคนไม่มีประวัติใดๆ กับคนมีประวัติแม้ยังเป็นเพียงผู้ต้องหาก็ตาม
ถึงกระนั้นก็ต้องย้ำว่า “ยิ่งคดีสู้กันยาวนาน..การจัดการกับประวัติอาชญากรก็ยิ่งยาก” เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีอยู่เดิมอาจเกษียณอายุราชการหรือโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น จึงคาดหวังกับ “การเชื่อมโยงฐานข้อมูล” ระหว่างกองทะเบียนประวัติอาชญากรกับศาลและกระทรวงยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัด แต่คาดว่าหากไม่มีปัญหาอะไรอีก ประมาณปลายปี 2565 ฐานข้อมูลทั้งหมดคงเชื่อมต่อกันได้ และกฎระเบียบก็น่าจะถูกแก้ไขด้วย
ขณะที่ รศ.สมยศ เชื้อไทย อดีตคณะกรรมการสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ตั้งข้อสังเกตว่า “ตำรวจเก็บข้อมูลเกินความจำเป็นหรือไม่” โดยตามกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 23 (1) ระบุว่า “หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
ต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น” เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม แต่เคยมีกรณีชี้แจงว่าระเบียบให้เก็บประวัติอาชญากรไว้เพื่อแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งน่าสังเกตว่านอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่
“กฎหมายที่จะรุกล้ำจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานต้องเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ซึ่งระเบียบนี้ก็ไปอ้าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในข้อ 11 ที่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจออก ซึ่งกรรมการก็โต้แย้งว่ากรณีนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพียงระเบียบภายใน ระเบียบภายในจึงไม่มีฐานของกฎหมายให้อำนาจเก็บข้อมูลนอกอำนาจหน้าที่ นอกขอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” รศ.สมยศ ยกตัวอย่างหนึ่งในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเข้าไปในคณะกรรมการ
รศ.สมยศกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไม่มีอำนาจทำลายระเบียบนี้โดยตรง เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตไว้หากจะมีผู้ได้รับผลกระทบรายใดนำไปอ้างเมื่อประสงค์จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง “นิยามคำว่าอาชญากรต้องชัดเจน” ปัจจุบันผู้กระทำความผิดทุกกรณีที่มีคำตัดสินจากศาลแล้วว่าผิดจริงแล้วมีโทษถึงจำคุก จะถูกระบุในฐานข้อมูลว่าเป็นอาชญากรทั้งหมด ทั้งที่หลายกรณีเป็นเพียงความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำไปโดยประมาทก็ตาม
อีกด้านหนึ่ง ปวีณา จันทร์เอียด นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บอกเล่า ตัวอย่างที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เช่น 1.การ “รอลงอาญา” ไม่อยู่ในเงื่อนไขขอลบประวัติอาชญากร มีกรณีผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับ ศาลตัดสินจำคุกและปรับแต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อน ทำให้เมื่อนายจ้างตรวจประวัติพบก็ไม่รับเข้าทำงาน
แต่มีข้อสังเกตว่า ใน 19 เงื่อนไข ที่สามารถขอลบประวัติได้นั้นมีข้อหนึ่งใช้คำว่า“รอการกำหนดโทษ” ซึ่งในทางกฎหมายไม่ต่างกันจึงเสนอให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรแก้ไขระเบียบ 2.กฎหมาย “พ.ร.บ.ล้างมลทิน” ไม่อยู่ในเงื่อนไขขอลบประวัติอาชญากร ประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ.ล้างมลทิน มาหลายครั้ง ซึ่ง พ.ร.บ.ล้างมลทิน จะมีผลเสมือนว่าผู้เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายนี้ไม่เคยได้รับโทษ แม้ไม่ได้ลบล้างความผิดที่เคยกระทำก็ตาม แต่การไม่เข้าเงื่อนไขการลบประวัติอาชญากรก็ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน
และ 3.ความยินยอมแกมบังคับ เมื่อไปสมัครงานมักจะมีการให้กรอกใบสมัครโดยระบุว่ายินยอมให้สถานประกอบการตรวจประวัติอาชญากร เรื่องนี้ทาง กสม. มองว่าเป็นความยินยอมที่ไม่เป็นอิสระ เพราะไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะขอไม่เปิดเผยได้หรือไม่ถึงกระนั้นปัจจุบันไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะไปกำหนดกฎเกณฑ์การรับคนเข้าทำงานของภาคเอกชนได้ จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของนายจ้างแต่ละสถานประกอบการ
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ส่วน 1.กรณียังเป็นผู้ต้องหา แม้จะสามารถคัดแยกทะเบียนประวัติระหว่างผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่ตัดสิน กับอาชญากรที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วว่าผิดจริง แต่สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไปว่าฐานข้อมูลผู้ต้องหานี้ควรจะเปิดเผยหรือปกปิดอย่างไร เช่น หากจะไปสมัครสอบเป็นข้าราชการ หรือสมัครงานเป็นครูที่ต้องดูแลเด็ก หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่รับสมัครงานนั้นจะขอตรวจประวัติผู้ต้องหาเหมือนกับที่ขอตรวจประวัติอาชญากรได้หรือไม่ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด
ทั้งนี้ กระบวนการในปัจจุบันเมื่อมีการพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว ข้อมูลประวัติอาชญากรรมของคนคนนั้นจะสามารถถูกเปิดเผยได้โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อบุคคลจะไปสมัครงานก็มักต้องเซ็นยินยอมให้บริษัทหรือนายจ้างตรวจประวัติอาชญากรรมเพราะทุกคนย่อมอยากได้งานทำ และประวัตินั้นจะแสดงไปตลอดจนกว่าจะเข้าเงื่อนไขให้เจ้าตัวมายื่นขอปิดประวัติ เช่น มีคำตัดสินแล้วว่าไม่มีความผิด ลักษณะนี้เรียกว่าวางข้อมูลเปิดเผยไว้ที่กล่องหน้าบ้าน เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขจึงคัดแยกเข้าไปปกปิดไว้ในกล่องในบ้าน
“เราลองกลับกัน เวลาที่เขาพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้ต้องหาได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์อยู่ กองทะเบียนประวัติท่านเอามาไว้ในกล่องในบ้านให้หมดก่อนได้ไหม คือปกปิดเป็นหลักไว้ก่อน ส่วนจะไปเปิดในการสอบสวนคดีอาญาในหน่วยงานสืบสวนท่านเอง ท่านทำได้เพราะใช้ในหน่วยงานราชการด้วยกัน หรือท่านจะไปเปิดเพื่อให้เป็นคุณสมบัติสอบชีพสำคัญหรืออาชีพที่เกี่ยวกับเด็กท่านก็ทำได้เพราะมันเป็นกล่องปกปิด เพราะเขาเป็นแค่ผู้ต้องหา แล้วเวลาเขาได้คำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว เป็นคนที่ต้องรับโทษจำคุกขึ้นมาแล้ว ท่านก็ใช้วิธีคัดแยกแต่คัดไปเปิดเผยในกล่องหน้าบ้านแทน” อาจารย์ปกป้อง กล่าว
กับ 2.กรณีศาลตัดสินว่าผิดจริงและรับโทษจำคุกตามกำหนดแล้ว ในหลายประเทศมีการ “ปิดประวัติไม่ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้หากไม่เคยทำผิดอีกในระยะเวลาที่กำหนด” เช่น ฝรั่งเศส มีการแบ่งประวัติอาชญากรเป็น 3 ชั้นความลับ ชั้นลับสุดยอดอนุญาตให้เข้าถึงเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ชั้นความลับรองลงมา อนุญาตเฉพาะหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่ต้องการตรวจประวัติคนมาสมัครงานที่ต้องดูแลเด็กเท่านั้นว่าเคยมีคดีล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ และชั้นทั่วไปคือเมื่อไม่กระทำความผิดระยะหนึ่งสามารถขอให้ปกปิดได้
เยอรมนี มีการกำหนดระยะเวลาการไม่กระทำผิดซ้ำแตกต่างกันตามความร้ายแรงของอัตราโทษ เช่น กรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต หากมีโอกาสได้พ้นโทษออกจากเรือนจำต้องรอถึง 20 ปี จึงขอลบประวัติอาชญากรได้ส่วนความผิดที่มีโทษน้อยกว่าก็จะใช้เวลารอคอยลดหลั่นลงไปตามลำดับ สิงคโปร์ กรณีนี้น่าสนใจเพราะแม้ไม่เคยไปลงนามเป็นภาคีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่หากพ้นโทษมาแล้วไม่กระทำผิดซ้ำใน 5 ปี สามารถขอให้ปกปิดประวัติได้ ซึ่งการกำหนดเวลานี้เป็นเหมือน “ความหวังเล็กๆ” ให้ผู้เคยผิดพลั้งอยากกลับเนื้อกลับตัว
นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีการ “เตรียมความพร้อมก่อนปล่อย” โดยประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการเอกชน ในการให้ผู้ต้องขังที่เหลือเวลาจำคุกไม่เกิน 1 ปีได้เข้าไปทำงานในช่วงกลางวัน และกลับมาอยู่ในเรือนจำในช่วงกลางคืน เป็นการสร้างความไว้วางใจระหว่างนายจ้างกับนักโทษ เมื่อพ้นโทษแล้วจะได้มีงานทำ รวมถึงใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน เพราะการออกไปแล้วมีที่อยู่และมีงานทำ มีรายได้ตามฐานะ ย่อมลดโอกาสที่ผู้เคยต้องโทษจะหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำได้
ปิดท้ายด้วย อุษา จั่นพลอย บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม สำนักกิจการยุติธรรม ที่ระบุว่า จากสถิติพบผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษไปแล้วไม่เกิน 1 ปี มากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 14 ของผู้ต้องขังทั้งหมดที่พ้นโทษพร้อมกัน ขณะที่ผู้พ้นโทษแล้ว 2 ปี กระทำผิดซ้ำอยู่ที่ร้อยละ 9 และมีผู้พ้นโทษไปแล้ว 3 ปีกระทำผิดซ้ำเพียง 35 คน ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม กำลังเสนอร่างกฎหมายที่กำหนดให้เมื่อผู้พ้นโทษไม่กระทำผิดซ้ำเป็นเวลา 5 ปี สามารถขอปกปิดประวัติอาชญากรได้ ยกเว้นความผิดคดีสะเทือนขวัญบางเรื่องเท่านั้น
อนึ่ง สหรัฐอเมริกา มีประมาณ 20 รัฐที่ออกกฎหมาย “ห้ามนายจ้างระบุช่องให้ผู้สมัครงานยินยอมให้ตรวจประวัติอาชญากร เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ ก่อน” อย่างไรก็ตาม “แนวคิดนี้อาจยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นกฎหมายในประเทศไทยได้ในเร็ววัน” เพราะต้องเข้าใจอีกมุมด้วยเช่นกันที่คนทั่วไปก็ต้องการความปลอดภัย นอกเหนือจากมุมที่ต้องการให้โอกาสคนเคยผิดพลั้งได้
กลับตัว
“มันต้องเกิดจากความเข้าใจของสังคมก่อน ว่าคุณยอมรับหรือเปล่า บางทีพอเราปิดไปมากๆ สิทธิในการที่จะปกป้องตัวเองก็หายไป ในขณะที่เราจะให้ประโยชน์กับคนเคยต้องคดีมา ต้องทำให้ 2 เรื่องนี้ มันสมดุลกันถามว่าถึงเวลาเมื่อไรมันถึงจะสมดุล นั่นหมายความว่าคนทั้งสังคมเห็นพ้องด้วยกันว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องเอาออก วันนั้นถึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมาย แต่ในระยะแรกๆ ถ้าเราเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ มันอาจจะเริ่มจากการ Educate (ให้ความรู้) คนในสังคมเราก่อน เริ่มจากการพูดคุยก่อน ก็สามารถที่จะเป็นไปได้” อุษา กล่าวในท้ายที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี