สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานวันธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2565 ณ อาคารสมาคมฯ ซ.งามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ ซึ่งมีการปาฐกถาหัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยก้าวไกลในอนาคต” โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหัวข้อ“โลกเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไหม” โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
นายเกรียงไกร ฉายภาพโลกที่ผันผวนและคาดเดาได้ยาก จาก 2 คำคือ “วูกา (VUCA)” ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 (ปี 2523-2532) โดยมาจาก 4 คำในภาษาอังกฤษคือ Volatility (ผันผวน) Uncertainty (ไม่แน่นอน) Complexity (ซับซ้อน) และ Ambiguity (คลุมเครือ) วูกาเป็นคำที่ใช้เรียกสถานการณ์ที่ผันผวนคาดเดาได้ยาก กระทั่งในปัจจุบัน มีอีกคำเกิดขึ้นมาแทนวูกา คือ “บานี (BANI)”
ซึ่งมาจาก 4 คำในภาษาอังกฤษเช่นกัน คือ Brittle (เปราะบาง) Anxious (วิตกกังวล) Nonlinear (คาดเดายาก) และIncomprehensible (ไม่เข้าใจ)
บานีเป็นคำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งโลกต้องเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยสรุปคือ “วูกานั้นว่าซับซ้อนแล้ว แต่บานีนั้นเข้าใจยากยิ่งกว่า” ทั้งนี้เมื่อดูสถานการณ์โลกในปัจจุบันจะพบสารพัดปัญหาถาโถมเข้ามา ไล่ตั้งแต่ 1.เงินเฟ้อ สหรัฐอเมริกาขึ้นไปแตะที่ระดับร้อยละ 9.1 สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ประเทศไทยขึ้นไปถึงร้อยละ 7 สูงที่สุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 10
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อของแต่ละชาติมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน เช่น กรณีของสหรัฐฯ เกิดจากมาตรการอัดฉีดเงินให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวในโลกที่พิมพ์ธนบัตรได้เองแบบไม่จำกัด หรือ QE แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มลดความรุนแรงลง กิจการต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการและความต้องการแรงงานเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น สหรัฐฯ ก็เผชิญปัญหาอีกด้านคือขาดแคลนแรงงานเพราะประชาชนยังใช้เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐยังไม่หมด อีกทั้งมีเงินอยู่ในระบบมากจนเกินไป
ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่มาตรการ QT หรือการดึงเงินออกจากระบบ รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายโดยมองว่าชาติตนเองต้องรอดก่อนแล้วค่อยไปช่วยเหลือประเทศอื่น ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศอื่นๆเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ อ่อนตัวลง เช่น สกุลเงินบาทของไทยที่อ่อนลงประมาณร้อยละ 12-13 แต่สำหรับไทยยังถือว่าอ่อนลงไม่มากนัก และเมื่อเร็วๆ นี้ก็พลิกกลับมาแข็งอีกครั้ง เงินเฟ้อจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของสถานการณ์โลกที่ผันผวน
2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องที่ทุกคนทั้งโลกต้องระมัดระวัง เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างไร มนุษย์เมื่อต้องเผชิญภัยธรรมชาติทำได้เพียงตรวจจับและอพยพเท่านั้น ซึ่งระยะหลังๆ จะพบภัยธรรมชาติแบบรุนแรงเกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลกในความถี่สูงขึ้น อาทิ ไฟป่าในสหรัฐฯ และออสเตรเลียฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมจนมีผู้เสียชีวิตหลายรายในปากีสถานภัยแล้งที่จีนซึ่งแม่น้ำสายหลักในประเทศล้วนเหือดแห้ง
จากสภาพที่เกิดขึ้น บรรดาผู้นำทั่วโลกต่างตั้งเป้าหมายร่วมกันผ่านการประชุม COP26 และ COP27 ว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ขณะที่สหภาพยุโรป ออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เก็บเงินจากสินค้าที่ผลิตจากโรงงานทุกแห่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนี่คือสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวเพราะรายได้สำคัญของไทยมาจากการส่งออก หากไม่ปรับตัวก็ขายสินค้าไม่ได้
3.ภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันของ 2 มหาอำนาจคือสหรัฐฯ กับจีน มีแนวโน้มทำให้โลกต้องแบ่งขั้วมากขึ้นในทุกมิติด้วยความที่จีนพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับที่สหรัฐฯ กังวล สหรัฐฯ จึงต้องสกัดกั้นในทุกวิถีทางอาทิ กดดันให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีนซึ่งที่ผ่านมาจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก ออกกฎหมาย CHIPS and Science Act สั่งห้ามบริษัทผลิตชิปชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ขายชิพให้จีน ไปจนถึงไหว้วานชาติพันธมิตรอย่างแคนาดาช่วยควบคุมตัวผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน
มาตรการสกัดกั้นของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีชิปเป็นส่วนประกอบของสินค้าอย่างมาก ทำให้จีนพยายามดิ้นรนโดยประกาศจะผลิตชิปแบบโฟโตนิก (Photonic) ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะสามารถปฏิวัติวงการชิปแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ ทั้งนี้ จากการแข่งขันของทั้ง 2 ชาติ จึงเป็นไปได้ที่ในอนาคตอุปกรณ์อย่างเดียวกันแต่ละคนอาจต้องมีถึง 2 เครื่องตามการแบ่งระหว่างค่ายสหรัฐฯ กับค่ายจีน
นอกจากนั้นยังมีปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งประเทศที่ลำบากที่สุดหนีไม่พ้นชาติใน EU โดยเฉพาะ เยอรมนี เนื่องจากเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหนัก เพราะจากเดิมที่อยู่กับราคาพลังงานที่ถูกและมีเสถียรภาพมานาน 30-40 ปี ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีเข้มแข็งมาก แต่ปัจจุบันราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น 7-8 เท่าตัว และอาจกระทบต่อแผนการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเยอรมนีเริ่มหันกลับมาลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านพลังงาน
และ 4.ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระดับสร้างความปั่นป่วน (Disrupt) ในอดีตที่ผ่านมา เทคโนโลยี
มีการปรับเปลี่ยนจากสิ่งเดิมไปสู่สิ่งใหม่เฉลี่ยทุกๆ 10 ปี ดังนั้น เมื่อใกล้ครบ 10 ปีของแต่ละรอบ ผู้ประกอบการจะเตรียมปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านแบบดิจิทัล (Digital Transformation) ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดทั้งเทคโนโลยี กระบวนการผลิตและความต้องการของตลาด อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วทวีคูณ (Exponential) ด้วย ซึ่งกิจการที่ปรับตัวไม่ทันย่อมเสี่ยงต่อการล้มหายตายจากไม่ว่าจะเคยยิ่งใหญ่มาก่อนเพียงใด
“วันนี้มันลามไปถึงอุตสาหกรรมภาคบริการ ซึ่งรวมถึงภาคการเงินอย่างธนาคารยังกลัว เมื่อก่อนใครมีธนาคารสาขามากที่สุด Coverage (ครอบคลุม) มากที่สุดคนนั้นได้เปรียบ แต่วันนี้มันกลับกัน มันเป็น Burden (ภาระ) มันเป็นต้นทุน เด็กรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อย่างเช่นลูกผมคนเล็กวันนี้ไม่เคยไปธนาคาร เพราะการทำธุรกรรมต่างๆ ทำบน Mobile (โทรศัพท์มือถือ) ได้หมด ฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่าธนาคารหรือสาขาต่างๆ ที่รุ่นพ่อรุ่นปู่จะต้องไปวิ่งก่อน 3-4 โมงในการผ่านเช็ค เขาไม่เคยรู้สึกแบบนั้น” นายเกรียงไกร ยกตัวอย่าง
เมื่อหันมามองความเป็นไปในภาคอุตสาหกรรมของไทย ปธ.สภาอุตฯ แบ่งเป็น “อุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries)” 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และ 5 ภาค 18 คลัสเตอร์จังหวัด อุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่กับประเทศไทยมานานหลายสิบปีและมีความเสี่ยงในยุคเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นทำอย่างไรจะให้อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้อยู่รอดในช่วงเตรียมการผันตัวไปทำอุตสาหกรรมอื่น หรือทำอย่างไรให้เพิ่มประสิทธิภาพได้สูงสุด โดยสภาอุตฯ ก็มีเรื่องของนวัตกรรมเพื่อเข้าไปช่วยให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้แข่งขันได้ดีขึ้น
กับ “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries)” อาทิ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งมี12 ประเภท เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เพิ่มขึ้น นำพาไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ท่ามกลางโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งสัดส่วนผู้สูงอายุมีมากขึ้นตรงข้ามกับเด็กเกินใหม่มีน้อยลง
อุตสาหกรรมที่ตอบสนองเศรษฐกิจ BCG หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) สืบเนื่องจากประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากแต่มีมูลค่าการส่งออกน้อย ดังนั้นจะเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ
เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทำได้แต่เพียงหมวดอาหาร จึงต้องการขยายไปยังหมวดอื่นๆเช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยา
ขณะเดียวกัน ของเสียหรือของเหลือจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรต้องถูกนำมาเข้ากระบวนการแปรรูปเพื่อใช้ซ้ำหรือผลิตเป็นสินค้าใหม่ๆ ได้ประโยชน์ทั้งการลดขยะและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ส.อ.ท. ในฐานะศูนย์รวมของภาคอุตสาหกรรม มีการทำแพลตฟอร์มกลางซื้อ-ขายวัสดุเหล่านี้สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ และทำร่วมกับองค์กรระดับสากล เช่น AEPW (Alliance to End Plastic Waste)
เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งความรุนแรงของปัญหานี้ ของไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก
“ในอนาคต ด้วย CBAM ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า บรรจุภัณฑ์ทุกอย่างที่เป็นพลาสติกที่ส่งไปในยุโรปและอเมริกา เขาจะบังคับให้มีเม็ดที่เป็นเม็ดพลาสติกหมุนเวียนหรือรีไซเคิลประมาณ 20-25% ฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องที่เราจะทำ ส่วนตัว G หรือ Green เราก็ทำเต็มที่ในเรื่องอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การที่โรงงานจะอยู่กับชุมชนได้ ไม่ปล่อยน้ำเสียไม่อะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้เรามี Certificate (ใบรับรอง) ให้กับโรงงานในสมาชิกของเรา แล้วก็เติบโตขึ้นไปเรื่อย” ปธ.สภาอุตฯ ระบุ
อนึ่ง ความท้าทายสำคัญของไทยคือ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ซึ่งล่าสุด IMD (International Institute for Management Development) ซึ่งประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของชาติต่างๆ มาต่อเนื่องทุกปีชี้ว่า ในปี 2565 ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพรวมลดลงมาอยู่อันดับที่ 33 ของโลก จากอันดับ 28 ในปี 2565 และเมื่อดูเป็นรายด้าน พบว่า ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ปี 2565 อยู่อันดับ 34 ลดลงจากอันดับ 21 ในปี 2564
ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ปี 2565 อยู่อันดับ 31 ลดลงจากอันดับ 20 ในปี 2564 ด้านประสิทธิภาพของธุรกิจ ปี 2565 อยู่อันดับ 30 ลดลงจากอันดับ 21 ในปี 2564 และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2565 อยู่อันดับที่ 44 ลดลงจากอันดับ 43 ในปี 2564 ขณะที่การแข่งขันของมหาอำนาจเมื่อสหรัฐฯ กดดันให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เวียดนาม เห็นได้จากการส่งออกที่ในอดีตเคยแพ้แต่ปัจจุบันก็ชนะไทย หรือการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็ไหลไปเวียดนามแรงขึ้น
นายเกรียงไกร ยังยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบไทยเรื่องมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มากถึง16 ฉบับ ครอบคลุม 55 ประเทศ ขณะที่ไทยมี 14 ฉบับน้อยกว่า 36 ประเทศ นั่นทำให้ต่างชาติอยากไปลงทุนที่เวียดนามเพราะผลิตสินค้าส่งออกไปหลายประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งประชากรวัยแรงงานของเวียดนามยังมากกว่าไทย แม้กระทั่งค่าไฟฟ้า เวียดนามอยู่ที่ 2.7-2.8 บาทต่อหน่วย ส่วนไทยขึ้นจาก 3 เป็น 4 บาทต่อหน่วย
ด้าน นายสมคิด กล่าวเช่นกันถึงประเทศเวียดนาม ว่า ในปี 2541 มีการปฏิรูปใหญ่ อนุญาตให้บุคคลเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ปรับปรุงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ ให้เร็วขึ้น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จากนั้นในปี 2556 เวียดนามเริ่มปฏิรูปการศึกษา ให้ความสำคัญกับ “สะเต็ม (STEM)” มาจากคำภาษาอังกฤษของ 4 วิชา คือ Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) Mathematics (คณิตศาสตร์) เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ กับตลาดแรงงาน
ผลที่ได้คือ เวียดนามผลิตนักวิจัยออกมาได้มากที่สุดในอาเซียน และทำผลงานโดดเด่นในการสอบ “PISA (Programme for International Student Assessment)” หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ซึ่งจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) อีกทั้งผลดังกล่าวของเวียดนามยังมาปรากฏในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมสินค้าเทคโนโลยีกำลังหาพื้นที่ลงทุนใหม่ๆ นอกประเทศจีนพอดี
“กลายเป็นประเทศที่ โอเค! เรามีเกษตรกรรมนะ เราท่องเที่ยวนะ แต่อุตสาหกรรมอย่างนี้ไปได้ยากมาก
เราถึงบอกว่าเราต้องมี S-Curve ใหม่ แต่ความพยายามในการสร้าง S-Curve มันกลับกลายว่าอยู่ในแผนพัฒนา มันเกิดได้จริงแค่ไหนอยู่ที่เอกชนแล้วนะเพราะไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐ ถ้าเอกชนดิ้นรนเขาดิ้นของเขาเอง ฉะนั้นเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว ผมจำได้ว่ายังคุยกันไว้ เวียดนามมันรดต้นคอแล้วนะตอนนี้แซงไปแล้ว เราต้องทำใจว่าความเป็นจริงมันคืออย่างนี้” อดีตรองนายกฯ สมคิด ระบุ
นอกจากเวียดนามแล้ว อินโดนีเซีย เป็นอีกประเทศในอาเซียนที่ต้องจับตามอง โดย นายสมคิด กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 อินโดนีเซียเผชิญปัญหาหนักไม่ต่างจากไทย อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันอินโดนีเซียยังมีปัญหาการเมืองโดยประชาชนประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต แต่จากเหตุการณ์ครั้งนั้น อินโดนีเซียมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือ “ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ทั้งการเลือกตั้งผู้บริหาร การจัดเก็บรายได้ การจัดสรรและบริหารงบประมาณ
ขณะที่รัฐบาลกลางรับผิดชอบเองเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น นโยบายการต่างประเทศ นโยบายการเงิน นโยบายความมั่นคง ซึ่งผลที่ได้คือ “แต่ละท้องถิ่นมีแผนพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นเอง” เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการพัฒนาแตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่อยากได้สะพาน อยากสร้างเขื่อน หรืออยากวางโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลฯลฯ นำไปสู่การที่แต่ละจังหวัดเป็นตัวสร้าง GDP ให้กับประเทศ
โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล ทำให้อินโดนีเซียมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลมากถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.8 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเห็นได้ชัดว่าอำนาจซื้อในประเทศขยายตัวขึ้น ตลาดในประเทศจึงใหญ่ขึ้น คนจนลดลงและเกิดชนชั้นกลางมากขึ้น แต่เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ซึ่งมีความพยายามกระจายอำนาจในช่วงเวลาเดียวกันโดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
ซึ่งในเวลานั้นก็มีการต่อสู้กันมาก โดยฝ่ายราชการเชื่อว่าท้องถิ่นไม่สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ(Efficient) จึงไม่ยอมให้เกิดการกระจาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และลงมือทำ ขนาดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ยากลำบาก อำนาจส่วนใหญ่จริงๆ ยังอยู่กับส่วนกลางก็คือกระทรวง
อินโดนีเซียพัฒนาประเทศมาตามลำดับ จนถึงยุคของประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ โจโก วิโดโด หรือโจโกวี ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเป็นผู้นำประเทศที่ไม่ได้มีพื้นเพเป็นทหารหรือมีตระกูลการเมืองหนุนหลัง แต่มาจากผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME) และสร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากการเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเมื่อ โจโกวี ได้เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ สิ่งทำคือลดความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการต่างๆ เพราะมีประสบการณ์มาก่อนจึงรู้ว่าภาคธุรกิจประสบปัญหามากเพียงใดในเรื่องนี้
“เขากำจัดกฎหมายเป็นร้อยๆ ฉบับ เริ่มออก License (ใบอนุญาต) ให้ง่ายขึ้น ให้คนเข้าทำธุรกิจง่ายขึ้นเริ่มลงทุนใน Project (โครงการ) ใหม่ๆ ลองนึกภาพดูประชากรกว่า 250 ล้านคน ชนชั้นกลางกำลังขยายใน 250 ล้านคนนี้ 60% อยู่ในวัยทำงาน ยิ่งใหญ่มาก ฉะนั้นทุกอย่างเอื้อคนของเขาหมด แล้วเขายังกำจัดอุปสรรค กระจายอำนาจ อินโดนีเซียจากประเทศที่จนมากๆ เริ่มค่อยๆ พลิกขึ้นมา” นายสมคิด กล่าว
อดีตรองนายกฯ สมคิด ยังกล่าวอีกว่า ที่ต้องจับตามองคือ ปธน.โจโกวี เดินเกมนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ถึงขนาดที่สามารถพบปะกับผู้นำประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นโจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ วลาดีมีร์ ปูติน ปธน.รัสเซีย สี จิ้นผิง ปธน.จีน ตลอดจนผู้นำชาติยุโรป โดยวางตำแหน่งแห่งหนของอินโดนีเซีย ในฐานะประเทศมุสลิมที่มีประชากรมาก ซึ่งต้องการให้โลกเป็นกลาง
และแม้การประชุม G20 ที่บาหลี จะไม่มีอะไรได้ข้อยุติแต่ภาพเชิงสัญลักษณ์ของอินโดนีเซียมาแรงมาก กลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หรือนโยบายด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีแร่นิกเกิลสำหรับผลิตแบตเตอรี่เป็นจำนวนมาก หากเป็นประเทศอื่นคงส่งออกไปแล้ว แต่อินโดนีเซียประกาศไม่ส่งออก โดยชวนค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถ EV ให้ไปลงทุนในอินโดนีเซีย
อาทิ ปธน.โจโกวี เป็นผู้เจรจากับผู้บริหารของเทสลาหนึ่งในรถ EV แบรนด์ดัง ด้วยตนเอง รวมถึงค่ายรถประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ จนล่าสุดทราบว่า เกาหลีใต้ตอบรับการลงทุนแล้ว โดยสรุปแล้วคือการผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ผลเพราะคนจนลดลง และแม้คนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ แต่ GDP ของอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 7 แลค่อนข้างเสถียรมาหลายปีแล้ว อย่างนี้อินโดนีเซียจะไม่ใช่ดาวจรัสแสงได้อย่างไร เพราะ
ทุกชาติต่างพากันไปที่นั่น
“อินโดนีเซีย โจโกวี ขึ้นมาสมัยที่ 2 กฎหมายหมดไปแล้วเป็นร้อยๆ ฉบับ แล้วไม่เพียงแค่นั้น เวียดนามนี่แสบมาก ขนาดเขามากันอย่างนี้ เพิ่งต้นปีที่ประกาศเขาจะทำให้ตัวเขาเองความสามารถมากขึ้นอีก จะลด Corporate Compact (ทำให้องค์กรกระชับ) จากเดิม 20-22% เหลือ 15-17% แล้วคราวนี้คุณจะไปแข่งอะไร?” อดีตรองนายกฯ สมคิด ฝากประเด็นทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี