วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
แนวหน้า Talk : ‘พิเชษฐ โตนิติวงศ์’ ทางรอด‘เกษตรไทย’ต้องปรับวิธีคิด ตั้งเป้าขยายผล‘อินทรีย์’บนวิถี‘พอเพียง’

แนวหน้า Talk : ‘พิเชษฐ โตนิติวงศ์’ ทางรอด‘เกษตรไทย’ต้องปรับวิธีคิด ตั้งเป้าขยายผล‘อินทรีย์’บนวิถี‘พอเพียง’

วันพุธ ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : แนวหน้าTalk พิเชษฐ โตนิติวงศ์ พอเพียง
  •  

“10 ล้านคน” เป็นจำนวนโดยประมาณของ “เกษตรกรไทย” คิดเป็นราว 1 ใน 4 ของกำลังแรงงานไทยทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 38 ล้านคน ตามรายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่ทุกปี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ของภาคเกษตรไทย กลับคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 หรือ1 ใน 10 โดยประมาณของผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) ทั้งประเทศ และเกษตรกรไทยจำนวนมากมีฐานะไม่สู้ดี ค่อนไปทางยากจน และมีหนี้สินไม่ว่าในหรือนอกระบบ เป็นปัญหาให้ทุกรัฐบาลแก้ไข แต่ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ให้จบได้เสียที

“ถ้าคิดที่จะปลุกเพื่อขายก่อน หาเงินก่อนแล้วสุดท้ายเอาเงินกลับมาซื้อกิน ชาวนาทั้งประเทศเป็นแบบนี้ การเกษตรประเทศไทยมันถึงแก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลไหนขึ้นมาก็จะเอายาเม็ดเดียวแก้มันทุกโรค มันเป็นไปไม่ได้อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกได้เลยว่าภาครัฐอยากจะทำอะไรทำไป แต่เราในฐานะภาคเอกชนแล้วเราได้เจออาจารย์ยักษ์ ได้เจอพี่โจน(โจน จันได) เรารู้สึกว่าองค์ความรู้แบบนี้ที่เรียกว่าศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มันน่าจะแก้ปัญหาได้”


หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการไปทั่วบริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวในรายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566ในประเด็นปัญหาของภาคเกษตรไทยและทางออก บอกเล่าถึงประสบการณ์การไปเรียนกับ“อาจารย์ยักษ์” วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะอยากนำความรู้ไปช่วยเหลือชาวนา แต่อาจารย์ยักษ์ไม่ได้สอนปลูกข้าว หากแต่ชวนให้ “เปลี่ยนวิธีคิด” ว่าเกษตรกรต้องปลูกผลผลิตให้พอกินเองก่อน เหลือแล้วจึงขาย

ที่มาของคำว่า “ธรรมธุรกิจ” มาจากช่วงที่จะกลับมาทำกิจการโรงสีกับที่บ้าน แต่ก่อนที่จะได้ทำงานคุณแม่ก็ให้ไปบวชเรียนตามประเพณีก่อน โดยพี่ชายอีก 2 คนก็บวชไปแล้ว ตนไปบวชที่วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี ในปี 2541 ที่นี่เป็นวัดสายปฏิบัติ และครูบาอาจารย์สายวัดป่าจะออกเสียงคำนี้ว่า “ธรรม” ไม่ใช่ “ธรรมะ” ประกอบกับช่วงก่อนไปบวชเคยมีปัญหาเครียดจนคิดฆ่าตัวตายเมื่อบวชแล้วได้ศึกษาปฏิบัติธรรมจึงเข้าใจคำตอบของชีวิต “มันไม่มีอะไรเลย คือเราไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม” และเคยถามตนเองด้วยซ้ำว่าจะสึกไปทำไม

แต่ด้วยความที่ตนจบการศึกษามาทางด้านบัญชี เคยเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับคำนวณบัญชีและมีลูกค้าซื้อไปใช้ รวมถึงกิจการโรงสีของครอบครัวตนก็ใช้ ก็ต้องคอยแก้ปัญหาให้ทั้งที่ยังอยู่ในผ้าเหลือง ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีอินเตอร์เนตต้องเดินทางไปแก้ไขให้ถึงที่ แต่การทำแบบนี้ทั้งที่ยังเป็นพระก็ดูไม่งาม บวกกับที่บ้านมีโรงสี 3 โรงตนก็ต้องไปช่วยดูแล ท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินใจลาสิกขา แต่ก็ขอสึกในปี 2542 เพราะขอเวลาคิดคำตอบให้ออก จนได้บทสรุปว่า “จะเอาธรรมไปนำธุรกิจ” เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้เหลือชาติภพกลับมาเกิดน้อยที่สุด

เมื่อเริ่มทำธุกิจโรงสีมาจนถึงปี 2551 ได้รับฉายา “เจ้าพ่อข้าวเหนียว” หมายถึงโรงสีของตนรับเฉพาะข้าวเหนียว ตนเป็นคน จ.ฉะเชิงเทรารุ่นพ่อทำโรงสีซื้อข้าวจากรอบๆ โรงสี แต่พอตนทำก็เลือกซื้อเฉพาะข้าวเหนียว เช่น มาจาก จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย สีแล้วส่งขายเข้ากรุงเทพฯ จ.ชลบุรี หรือไปภาคใต้ สาเหตุที่ทำก็เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่ก็อยู่ได้ เพราะหากมองไปยังผลผลิตข้าว จะพบว่า ข้าวที่ปลูกในภาคกลางและโรงสีที่รับซื้อข้าวจากภาคกลางทำเพื่อการส่งออกแทบทั้งสิ้น ไม่ส่งออกเป็นข้าวขาวก็เป็นข้าวนึ่ง

“ผมโรงสีเล็ก 100 เกวียนต่อวัน โรงสี ณ ปัจจุบันโดยเฉลี่ย 500 เกวียนต่อวัน การแข่งขันสูงมาก ด้วยสายตานักธุรกิจผมมองเลยพี่ชายคนโดก็ให้ความเห็นว่าอย่าทำข้าวที่มันเหมือนกันเลย ไปทำข้าวชนิดอื่นเลยดีกว่า เพราะว่าผมอยู่ใกล้กับพี่ชายคนที่ 2 ห่างกันแค่ 3-4 กิโลเมตร เขาก็ให้ไอเดียมาว่าไปทำข้าวหอมมะลิไหม? หรือไปทำข้าวเหนียวไหม? ผมก็ไปศึกษา งั้นทำข้าวเหนียวดีกว่า เพราะข้าวเหนียวปลูกในประเทศ 100% กินในประเทศ 90% ส่งออกแค่ 10% เอง โอกาสที่เราจะปั้นแบรนด์ สร้างแบรนด์จนได้รับการยอมรับจนเป็นเจ้าพ่อข้าวเหนียวได้” พิเชษฐ กล่าว

ในช่วงแรกของการทำกิจการโรงสี ยังใช้ชื่อเดิมที่รุ่นพ่อตั้งไว้ กระทั่งปี 2556 ได้พบกับ อ.ยักษ์-วิวัฒน์ รวมถึง โจน จันได ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเน้นย้ำเรื่อง “ข้าวอินทรีย์” ตนก็ไปเล่าเรื่องความพยายามช่วยเหลือชาวนาให้ อ.ยักษ์ ฟัง ว่าชาวนานำข้าวมาขาย ตนก็พยายามรับซื้อในราคาที่ชาวนาต้องการ แต่สุดท้ายชาวนาก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม ยังใช้สารเคมีเหมือนเดิม มีอาการเจ็บป่วยเหมือนเดิม โดยสรุปคือไม่มีความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นตนก็ถาม อ.ยักษ์ ว่า ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี แล้วทำให้มีผลผลิตเท่ากับตอนที่ใช้สารเคมีได้หรือไม่ เพราะชุดข้อมูลที่รู้มาก็เป็นมาแบบนั้น ไม่ใช้สารเคมีอย่าว่าแต่มีผลผลิตมากเลย จะเหลือไว้กินเองพอหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่ง อ.ยักษ์ ก็ตอบว่าทำได้ แล้วก็บอกตนให้ไปพาชาวนามาจะสอนให้ ตนก็เหมารถพาชาวนาจาก จ.เชียงใหม่ ไปอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้ของอาจารย์ยักษ์ แล้วกลับไปทำนา จนมีผลิตภัณฑ์ “ข้าวกล้องสันป่าตอง” ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ทำมาแล้ว 10 ปี เป็นข้าวเหนียวที่เป็นข้าวกล้องแต่สามารถหุงกินได้แบบข้าวสวย

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันมีร้านอาหาร “ยักษ์กะโจน” ที่บรรทัดทอง ใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับที่หมู่บ้านสัมมากร รามคำแหง 112 โดยสิ่งที่ทำนี้คือการเปลี่ยนความคิดเกษตรกร ไม่ใช่สั่งให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แล้วรับผลผลิตมาขาย ที่ผ่านมาสื่อมวลชนจะชอบถามตนว่า สิ่งที่ธรรมธุรกิจทำอยู่คือการแก้ปัญหารายได้ หนี้สิน หรือความยากจนของเกษตรกรใช่หรือไม่ ตนบอกว่าไม่ใช่ แต่เป็นการแก้ปัญหาชีวิต คือเปลี่ยนวิธีคิดเป็นปลูกพืชให้พอกินก่อน ส่วนบริษัทของตนนั้นค่อยไปเก็บของที่เหลือมาให้คนในเมืองได้กิน

และตนอยากบอกว่าให้เลิกพูดเสียทีคำว่าซื้อข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนา หรือซื้อผักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะเราไปขอของดีที่เขามีเหลือมาให้คนเมือง ส่วนเกษตรกรเขารอดอยู่แล้ว ทั้งนี้ ย้อนไปในปี 2559 เริ่มเปิด “ตลาดนัดธรรมชาติ” ที่วัดพระราม 9 กรุงเทพฯ จัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ไปเก็บผักจากชาวนาปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านเขาเหลือกินแล้ว

“เอามาขายที่วัดพระราม 9 แล้วโตขึ้นเรื่อยๆ จนมันต้องมีที่เก็บผักแล้ว วัดพระราม 9 ไม่มีที่เก็บ ตอนนั้นขนไปเช้า-เย็นกลับเลย เสาร์-อาทิตย์ จนสุดท้ายโรงเรียนชาญวิทย์พี่หน่อง-กัลยาณี อนุญาตให้ใช้พื้นที่โรงเรียนร้างเป็นตลาดนัด เราย้ายจากวัดพระราม 9 มาที่โรงเรียนชาญวิทย์ พระราม 9 ซอย 17 ใกล้ๆ กัน เป็นโรงเรียนเอกชน แล้วเราก็ไปจัดตลาดนัดตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน”พิเชษฐ ระบุ

จากนั้นเมื่อหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย มีเศรษฐีมอบห้องเย็นแถวรามอินทรา 109 ให้ใช้ คราวนี้สามารถรวบรวมผลผลิตได้มากขึ้นทั้งจาก จ.เชียงใหม่ จากภาคตะวันออกเฉียงหรือ และจาก จ.ชุมพร กระทั่งนำมาสู่การเปิดร้านอาหาร ลูกค้าหลักคือกลุ่มคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในปี 2562 ยังมีความพยายามระดมทุนเพื่อปกป้อง “ชุมพรคาบานา” รีสอร์ทใน จ.ชุมพรไม่ให้ถูกขายทอดตลาด แต่ที่นี่ก็เป็นลูกศิษย์ อ.ยักษ์และทำได้สำเร็จ กระทั่งต่อมามีการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562

ซึ่งเวลานั้นตนพยายามต่อสู้เพื่อให้รับรองการขายหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้ในกฎหมาย บอกว่าหากไม่อนุญาตก็จะไม่ไปขอการรับรองจากรัฐ ประกอบกับทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นตัวอย่างจากชุมพรคาบานา ที่มีการระดมทุนรวม 120 ล้านบาท จาก 4,000 คน จึงรับรอง ทั้งนี้ การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นมีกำไรได้ แต่การนำกำไรมาปันผลจะต้องไม่เกินร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 ต้องไปทำประโยชน์เพื่อสังคม จึงจะขายหุ้นได้โดยไม่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์

“เราทำธุรกิจก็ขายหุ้นมาเรื่อยๆ ตั้งเป้าไว้ที่ 3 ล้านหุ้น วันนี้ขายมาได้แล้ว 1.8 ล้านหุ้นหุ้นละ 101 บาท บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัทต้องรับผิดชอบ หุ้นราคาพาร์ร้อยเดียว ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการบริษัทต้องจ่าย ผมไม่รู้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่โดยหลักการบริษัทต้องรับผิดชอบ แต่ผมผลักภาระให้ผู้ถือหุ้นจ่ายก็คือ 1 บาท ผู้ถือหุ้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ก็มีค่าทนายความก็มี ค่าเอกสารออกทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่าย” พิเชษฐ กล่าว

จากเป้าหมายระดมทุน 3 ล้านหุ้น เป็นเงิน 300 ล้านบาท (ไม่นับค่าธรรมเนียมรวม 3 ล้านบาท)ใช้เวลา 3 ปี จนขณะนี้ระดมได้แล้ว 180 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายอีกร้อยกว่าล้านบาทต้องการนำมาขยายร้านยักษ์กะโจน ลองนึกถึง 4 จังหวัด กรุงเทพฯนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ มีทั้งหมด 69 เขตอำเภอ อยากให้มีอย่างน้อยเขตอำเภอละ 1 สาขา “กินอย่างรู้ที่มาในราคาที่เป็นธรรม” วัตถุดิบล้วนมาจากเกษตรกรที่เป็นลูกศิษย์ อ.ยักษ์ และคุณโจน เพราะคนใน 4 จังหวัดนี้น่าสงสารที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเข้าถึงอาหารปลอดภัยต่ำที่สุด

และหากสามารถขยายร้านให้มีได้ทุกอำเภอเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานหรือศูนย์รวบรวมผลผลิตของลูกศิษย์ยักษ์กะโจน ประเทศไทยก็จะมั่งคั่งและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกินเพราะไม่ใช้สารเคมีอย่างไรก็ตาม สำหรับการซื้อหุ้นขณะนี้ยังไม่มีกำไร แต่อยากให้ทุกคนมาเป็นผู้บริโภคด้วยพร้อมกับเป็นผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังมีระบบปันผลร้อยละ 5 จากยอดซื้อสินค้า ซึ่งเป็นหลักคิดของสหกรณ์

อีกสิ่งที่แตกต่างระหว่างบริษัททั่วไปคือ“ที่นี่ 1 คน 1 เสียงเท่ากัน”ในขณะที่ตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์การออกเสียงลงมติเรื่องใดๆ คนที่ถือหุ้นในบริษัทนั้นมากก็จะมีน้ำหนักเสียงมากด้วย ที่ผ่านมาวิสาหกิจเพื่อสังคม ธรรมธุรกิจ มีประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี และมีคนที่ถือเพียง 1 หุ้นไปร่วมประชุมด้วยรวมถึงเคยเจอคนที่ตอนแรกถือเพียง 1 หุ้น บริษัทยังไม่มีกำไรก็ส่งข้าวให้ไปเป็นของขวัญก่อน ปรากฏว่าทางนั้นส่งเช็คกลับมา 1 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม เพราะเขามั่นใจในสิ่งที่เรากำลังทำ

“อาจารย์ยักษ์เป็นคนคิดค้นทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ผมไปแอบเรียนหลังห้อง ครั้งแรกที่อาจารย์ยักษ์บอกว่าหนาว!..คุณจะเอาชาวนามาให้ผมสอนคุณไปเรียนก่อนแล้วกัน ผมไปเรียนกับอาจารย์ยักษ์ไม่ได้สอนเรื่องทำนาเลย สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สอนว่าต้องเดินตามบันได 9 ขั้น เมื่อก่อนตอน 10 ปีที่แล้ว ตอนผมเข้าไปเครือข่ายใหม่ๆ ใครทำโคกหนองนา ใครทำพอเพียง จน! แต่วันนี้ใครทำโคกหนองนาบอกคนรวย 10 ปีผ่านไปกระแสมันเปลี่ยนไปเยอะ

ฉะนั้นถามว่าทำไมถึงตั้งเป้าสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียง ก็มาจากคำสอนของอาจารย์ยักษ์นี่ละ เราเห็นว่าสิ่งที่อาจารย์ยักษ์คิดเอาไว้ ลงมือทำ สร้างตัวอย่างความสำเร็จมันควรจะขยาย ดังนั้น ประเทศไทยถ้าเดินตามที่อาจารย์ยักษ์ จริงๆ ก็นำมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอาจารย์ยักษ์เคยทำงานอยู่กับพระองค์ท่าน ก็มาเป็นทอดๆ เราในฐานะลูกศิษย์เห็นว่า ผมเป็นพ่อค้า เป็นเจ้าของโรงสี ก็ทำเศรษฐกิจพอเพียงได้ตามฐานะเรา ในแบบของตัวเรา” พิเชษฐ กล่าว

พิเชษฐ ขยายความเพิ่มเติมในช่วงท้ายของการสนทนา ว่า “พอเพียงไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น” อย่างตนให้ไปปลูกพืชอะไรก็คงไม่เก่ง สู้เขาไม่ได้ ไม่ถนัด ก็ควรปล่อยให้เกษตรกรที่เขาถนัดทำไปดีกว่า แต่ตนเป็นพ่อค้า มองตลาดออก เข้าใจว่าระบบทุนนิยม-ระบบเศรษฐกิจคิดอะไร ธุรกิจอื่นคิดอะไร การแข่งขันต้องเป็นอย่างไร แถมตนจบบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักเทคโนโลยี ก็สามารถใช้ความรู้ที่มีเข้ามาช่วยได้ ดังนั้นตนในฐานะเจ้าของโรงสีจึงเลือกมาทำวิสาหกิจเพื่อสังคม

“คิดว่าปี 2567 เราน่าจะมีกำไรแล้ว เพราะว่ามันปูรากฐานมาค่อนข้างจะแข็งแรงแล้ว คนเริ่มรู้จักร้านยักษ์กะโจนมากขึ้น แล้วเราก็ปรับปรุงตัวเองมาเรื่อยๆ จากตอนแรกทำอาหารก็ไม่ได้เรื่อง ไม่อร่อย จนตอนนี้เราสุดท้ายไปหาทีม Creative Chef มา คิดว่าคนไทยให้การยอมรับมากกว่ามิชลิน เพราะผักพื้นบ้านของลูกศิษย์ยักษ์กะโจน คนกรุงเทพฯ ไม่เคยกิน รู้จักผักตูนไหม? รู้จักผักปลังไหม? อย่างนี้พี่ไปหากินได้ที่ยักษ์กะโจน ส้มตำปกติกินใช้มะละกอใช่ไหม? ลองไปกินส้มตำที่ใช้ฟักแม้ว มันมีหลากหลายมาก ซึ่งผมเชื่อว่าคนได้กินจะติดใจทีเดียว” พิเชษฐ ฝากทิ้งท้าย

หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอดสุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค เพราะเราอยู่กับ‘ความไม่แน่นอน’ นักวิชาการตอบข้อสงสัย ทำไม‘หมอดู’อาชีพครองใจคนทุกยุค
  • แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’ แนวหน้าTalk : ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ทำไมประชาชนต้องสนใจ‘ผังเมือง’
  • แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’  เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’ แนวหน้า Talk : คุยกับ‘หมอวรงค์’ใน2ประเด็นร้อน จาก‘นักโทษชั้น14’ถึง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เรื่องใหญ่เขย่ารัฐบาล‘พรรคเพื่อไทย’
  • ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’ ‘วิทิตนันท์’เล่าย้อนโมเมนต์ประวัติศาสตร์ กว่าจะเป็นชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘เอเวอเรสต์’
  • แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’ แนวหน้าTalk : ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ จาก‘สมรสเท่าเทียม’ถึงบทบาท ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ของ‘พรรคก้าวไกล’
  • ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ ‘หว่อง-พิสิทธิ์’เปิดใจ! เหตุผลที่‘คดีเด็ด’อยู่นานถึง 23 ปี ก่อนลาหน้าจอ
  •  

Breaking News

'ภูมิธรรม'บอกยังไม่ได้คุย'อนุทิน'หลังโดนยื่นยุบพรรค ชี้ เป็นเรื่องของภูมิใจไทย

ฝนตกหนัก ‘น้ำเอ่อล้น’ถนนวัดโบสถ์-โป่งแค นอภ.เร่งลงพื้นที่สำรวจ

เลื่อน ไม่เลิก! ‘ภูมิธรรม’แจงโยก‘ดิจิทัลวอลเล็ต’เฟส 3 เติมเงินกระตุ้นศก.-สู้‘สงครามการค้า’

จับตา 22 พค. ชี้ชะตา'ยิ่งลักษณ์'ชดใช้คดีจำนำข้าว 13 มิ.ย.การเมืองเปลี่ยน ถ้า'ทักษิณ'หนีหรือติดคุก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved