“เคยได้ยินข่าวไหม? ที่มีคนมา Bully (ล้อเลียน) หนังสือภาษาไทย ป.5เขาเอา 1 หน้า มา Bully ว่าน้องอยู่บ้านเด็กกำพร้า กินไข่แค่ครึ่งฟอง เขาเอาแค่นี้ เสร็จแล้วก็มา Bully ว่าหนังสือไทยสอนในสิ่งที่ไม่ถูกหลักกับสุขศึกษา เอาหน้านี้หน้าเดียวมา แล้วก็โดนถล่ม แล้วก็ไล่ไปไกลถึงขั้นที่ว่ากระทรวงศึกษาธิการอย่างนั้นอย่างนี้เยอะแยะมากมาย หนังสือนี้เร็วมาก เพราะเขารู้ดีว่าเขาเล่นเราได้ เขารู้ดีว่าเราไม่หา Fact (ข้อเท็จจริง) หรอกว่าตรงนั้นรายละเอียดที่มาของการที่มาบอกให้เด็กกินไข่ครึ่งซีกคืออะไร
แต่เราต้องไปดูเพิ่ม หนังสือยังมีขาย เราไปสั่งมาเลยแล้วพลิกไปหน้านั้น เราก็เลยได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเรื่องไข่ครึ่งซีกมันมาจากการที่ตัวละครคือน้องผู้หญิงคนหนึ่งได้ไปเห็นเด็กกำพร้า จากชีวิตที่เขาเจอทั้งในเพื่อนที่รวยแล้วก็เพื่อนที่จนอยู่บ้านเด็กกำพร้า เนื่องจากความไม่มีของเขาก็เลยต้องแบ่งกันคนละครึ่งซีก แล้วก็ต้องพืชผักสวนครัวที่ต้องทำมาเพื่อให้อยู่ได้ไม่ได้เห็นบริบททั้งหมด..ด่าเลย Bully เลยแม้กระทั่งหนังสือยังโดน”
เรื่องเล่าจาก พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในวงเสวนา “Cybersecurity at the Age of Fake News : Are You Ready for the Next Threat?” เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2567 ยกกรณีศึกษา “ภาษาพาที” หนังสือเรียนภาษาไทยฉบับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เคยมีดราม่า “ไข่ต้ม” เป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2566 มาเป็นบทเรียนว่าด้วยการ “ปั่นหัวด้วยการยั่วยุอารมณ์” จากสารที่ตัดมาเพียงบางส่วนแล้วคนจำนวนมากในสังคมที่พบเห็นก็เฮโลกันไปตามกระแส
โดยเรื่องราวของดราม่าไข่ต้ม ปรากฏอยู่ใน “บทที่ 9 ชีวิตมีค่า” สรุปโดยย่อคือเป็นเรื่องของ “ข้าวปุ้น” กับ “ใยบัว” เด็กผู้หญิง 2 คนที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกัน แม้ที่มาจะต่างกันอย่างสุดขั้ว ข้าวปุ้นนั้นเป็นเด็กกำพร้า อาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้ากับเด็กอีกหลายคน ขณะที่ใยบัวเกิดในครอบครัวร่ำรวยแต่ทั้ง 2 ก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน กระทั่งวันหนึ่งใยบัวรู้สึกน้อยใจที่พ่อแม่ไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ บ่นถึงขั้นคิดอยากตาย
เพื่อเป็นการปลอบใจเพื่อน ข้าวปุ้นจึงพาใยบัวไปดูชีวิตของเด็กๆ ในบ้านเด็กกำพร้าที่ตนเติบโตมา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการบรรยายฉากว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในบ้านเด็กกำพร้ากินข้าวกับไข่ต้มครึ่งซีกและพืชผักสวนครัวที่ช่วยกันปลูก ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการสอนในบทดังกล่าวคือ “ความสุขอยู่ที่ใจ” แม้ชีวิตในบ้านเด็กกำพร้าจะไม่ได้สุขสบาย แต่บรรยากาศก็ยังอบอุ่นได้เพราะผู้คนในนั้นคิดดี-ทำดีต่อกัน ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้กินข้าวกับไข่ต้มเป็นอาหารหลัก หรือสนับสนุนให้ใช้ชีวิตอย่างคนยากจนแต่อย่างใด
ในหนังสือเรียนเล่มเดียวกันซึ่งถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2551 หรือกว่า 15 ปีก่อน พล.อ.ต.อมร ยังยกตัวอย่างอีกบทหนึ่งที่ว่าด้วย “การหลอกลวงทางออนไลน์” ว่าด้วยเด็กสาวที่คุยกับคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เนต ที่แรกๆ ก็เข้ามาตีสนิทให้รู้สึกดีๆ ต่อกัน ก่อนจะออกอุบายให้โอนเงินไปให้อ้างว่ากำลังเดือดร้อนและเด็กสาวก็หลงเชื่อจนสูญเงินไป ซึ่งนี่คือพฤติการณ์ของมิจฉาชีพที่คนยุคปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “หลอกให้รัก (Romance Scam)” แต่เรื่องนี้ซึ่งอยู่ใน “บทที่ 3 ภัยเงียบ” เขียนขึ้นในยุคที่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ยังไม่แพร่หลายเสียด้วยซ้ำไป
“แล้วตรงนี้ไม่ได้จบแค่เรื่องแบบนี้ ตอนที่เขมรจะจัดแข่งซีเกมส์ ก็จะมีข่าวลงในทุกช่องทางว่าเขมรไม่มีเงินจัดเพราะว่าเขาไปเปิดเว็บไซต์รับบริจาค สื่อรู้ดีว่าท่านไม่ไปดูหรอกว่าเว็บไซต์รับบริจาคมันอยู่ที่ไหน เนื้อหาข้างในเป็นอะไร แล้วก็จะรู้ว่าท่านจะไม่ตามไปดูว่าจริงๆ แล้วมันคือเว็บไซต์รับเงินที่อยากได้เงินอัดฉีดนักกีฬา ส่วนรัฐเขาเตรียมเงินจัดไว้อยู่แล้ว เพราะเขาเข้าใจดีว่าท่านจะไม่สงสัย ท่านจะเชื่อง่าย จะไม่มี Critical Thinking (การคิดเชิงวิเคราะห์)” เลขาธิการ สกมช. ยกอีกตัวอย่างหนึ่ง
พล.อ.ต.อมร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยความที่การแข่งขันของสื่อรุนแรงขึ้น ทำให้จากเดิมที่สื่อจะพาดหัวข่าวแบบล่อให้เข้าไปดู (Clickbait) กลายเป็นพาดหัวแบบยั่วให้โมโห การกระตุ้นอารมณ์เพื่อล่อให้ผู้รับสารงับเหยื่อ ดังนั้น สกมช.จึงมีภารกิจ 2 ด้านที่ต้องทำควบคู่กัน ด้านหนึ่งคือการปกป้องระบบคอมพิวเตอร์ไม่ให้ถูกแฮก แต่อีกด้านก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อไม่ให้คนในฐานะผู้ใช้งานถูกแฮกด้วย
ด้าน ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า แม้งานของ อพวช. จะพยายามส่งเสริมให้ประชาชนมี “ทุนทางวิทยาศาสตร์” ทั้งความรู้ ความคิด ทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อที่จะได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลและมีวิจารณญาณ แต่ก็ยังแพ้มิจฉาชีพในเรื่องการสื่อสาร เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อ้างถึงบุคคลและองค์กรชั้นนำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกับผู้รับสาร หากไม่สืบค้นย้อนกลับโดยละเอียดก็ตกเป็นเหยื่อได้
“ผมตามกลับไปดูว่าคนคนนี้เป็นอย่างไร เขาบอกว่าเป็นหมอ ผมก็ค้นหาชื่อนี้ก่อนเลย มี! ค้นอีกทีเป็นหมอไหม? ไม่ได้เป็น หน้าตาไม่ตรง เขาพยายามใช้ชื่อคนที่มีตัวตน คนทั่วไปค้นนิดเดียวก็เจอแล้ว เป็นชื่อที่ค้นอย่างไรก็เจอชื่อ-นามสกุล แต่พอค้นเข้าไปลึกๆ ไม่ใช่ ซึ่งจริงๆ ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายโฆษณา” ชนินทร์ กล่าว
ขณะที่ พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า ความยากในการเผยแพร่เนื้อหาที่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง คือ “โลกที่แต่ละคนยึดข้อเท็จจริงกันคนละชุด ดังนั้นแต่ละคนก็พร้อมเปิดรับสิ่งที่ตนเองรู้สึกชอบแม้จะไม่ใช่ความจริงก็ได้” จึงเสี่ยงที่จะ “ถูกหลอก” เพราะไม่รู้ที่เชื่อนั้นเป็นความจริงหรือไม่ และเป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างเรื่องจริงจากเรื่องที่ไม่จริง
“โดยส่วนตัวจากประสบการณ์ ไม่เคยวิจัย ก็คือเชื่อว่าคนที่ถูกหลอกโดยข่าวปลอม หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบหรือให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง ก็มักจะถูกหลอกโดยอุบายภัยไซเบอร์ต่างๆ ได้ง่าย” พีรพล ตั้งข้อสังเกต
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ยกตัวอย่างความซับซ้อนในการค้นหาข้อมูลในด้านสุขภาพ เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง การฉีดวัคซีน ฯลฯ ต้องใช้ทั้งข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ แต่การทำงานของโคแฟคฯ ผ่านทางเว็บไซต์ cofact.org ที่เปิดโอกาสให้คนที่สงสัยในข้อมูลต่างๆ เข้ามาถามได้แล้วจะมีคนอื่นๆ มาช่วยกันตอบ กำลังพยายามสร้างให้คนคุ้นเคยกับเรื่องนี้
“มีข้อแม้ว่าการมาให้คำตอบนั้นจะต้องมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้วย ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นหลักการพื้นฐานวิทยาศาสตร์เบื้องต้น คือไม่ใช่ Base On (ยึดตาม) ความคิดเห็น-ความรู้สึก แต่อย่างน้อยต้องมีข้อมูลทางสถิติ มีผู้เชี่ยวชาญมา นำไปสู่จุดที่เรียกว่าเป็นที่ยอมรับร่วมกัน” สุภิญญา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี