หลายปีก่อนผู้อ่านคงเคยได้เห็นข่าวปัญหาระหว่างคอนโดฯกับวัดเรื่องเสียงระฆัง ผ่านมาหลายปีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัญหาลักษณะเดียวกันอีกครั้ง แต่เปลี่ยนเป็นเสียงพระสวดแทน
เรื่องนี้ถกเถียงกันแบ่งออกเป็นสองแนวคิด
แนวคิดแรกสนับสนุนวัดซึ่งอยู่มาก่อน อีกทั้งการประกอบกิจของสงฆ์เป็นประเพณีที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลานานและรองรับโดยรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้การที่ชุมชนเป็นฝ่ายเข้าหาแหล่งกำเนิดมลพิษ (coming to nuisance) หรือผู้เสียหายสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเอง (voluntary assumption of risk)
แนวคิดที่สองสนับสนุนผู้เสียหาย ตามกฎหมายแพ่งจะเป็นเรื่องของการกระทำละเมิดฐานก่อเหตุรำคาญ (Nuisance)ซึ่งปรากฏอยู่ใน ป.พ.พ. มาตรา 1337 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ และเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน”
นอกเหนือจากหลักกฎหมายพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในการก่อสร้างอาคารชุดเพื่อจำหน่ายจะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน รวมถึงปัญหาเสียงดังที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างที่จะกระทบต่อชุมชน รวมถึงเสียงเดิมของวัดที่จะกระทบต่อบุคคลผู้อยู่อาศัยในโครงการด้วย
แต่อย่างไรก็ตามผู้ซื้อคอนโดฯนั้นก็ควรจะตรวจสอบถึงสภาพแวดล้อมหรือผลกระทบต่างๆ ที่จะมีขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือเข้าอยู่ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวแม้จะสามารถแก้ไขได้โดยทางกฎหมายก็ตามแต่เป็นปัญหาที่จุกจิกกวนใจและใช้เวลาในการแก้ปัญหาอยู่พอสมควร เนื่องจากแม้ในโครงการที่ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในการจัดทำรายงานจริงนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง