หลักการภาพรวมของเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว มุ่งเน้นคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในอดีตที่ผ่านมาเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการถูกควบคุมตัวของประชาชนผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกควบคุม ตลอดจนสูญหายหรือเสียชีวิต
ถึงแม้เดิมในหลักกฎหมายจะมีเรื่องการไต่สวนการตายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วก็ตาม แต่เป็นกรณีที่เป็นมาตรการบังคับใช้หลังจากเกิดการเสียชีวิตของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุม อีกทั้งประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการไต่สวนการตายนั้น ก็ยังไม่เป็นที่เชื่อถือของประชาชนเนื่องจากเครือญาติของผู้ตายมักจะมีความคิดและความเชื่อในทำนองที่ว่า เจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนข้อมูลและทำการไต่สวนในลักษณะที่เอื้อประโยชน์กัน
แตกต่างกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งเป็นมาตรการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุความเสียหาย โดยมีมาตรการบังคับใช้ที่รวดเร็วและสามารถแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมตัวโดยมิชอบได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้อัตราโทษค่อนข้างจะสูงโดยมีอัตราโทษสูงสุดในกรณีที่เกิดการเสียชีวิตคือจะต้องรับโทษจำคุก 15-30 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และยังระบุโทษถึงผู้ให้การสนับสนุนต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำ ผู้สมคบต้องระวางโทษ 1 ใน 3 รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำผิดต้องระวางโทษกึ่งหนึ่ง
และยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 คือกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้ช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกสูญหาย โดยไม่ทำให้ผู้ถูกสูญหายอันตรายถึงชีวิตหรือใกล้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ศาลจะลงโทษเจ้าหน้าที่คนนั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดกลับตัวกลับใจและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ซึ่งเป็นConcept เดียวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดมาตรา 100/2 เดิม 153 (ใหม่)
ในรายละเอียดคำอธิบายของบทบัญญัติดังกล่าวในมาตราสำคัญผู้เขียนจะขอนำเสนอในครั้งถัดไปครับ