การก่อสร้างพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้น นอกจากจะดูกฎหมายสำคัญคือกฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นอีกจำนวนมากที่ควรระมัดระวังและอาจจะส่งผลกระทบในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ
ในกรณีโครงการคอนโดฯ แอชตันอโศก ถนนสุขุมวิทนั้น ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งมีจุดสำคัญที่ทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีที่สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองโดยยื่นฟ้องต่อ ผู้อำนวยการเขตวัฒนาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ จะก่อสร้างดัดแปลง หรือถอดหรือเคลื่อนย้ายอาคาร
ซึ่งในหัวใจสำคัญในคำพิพากษาเกี่ยวกับทางเข้า-ออกตามใบอนุญาตก่อสร้างนั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน คือส่วนหนึ่งของทางที่ได้ทำการเช่าเพื่อประกอบในใบอนุญาตนั้นเป็นที่ดินที่ได้จากการเวนคืน จึงทำให้เนื้อที่ของทางเข้า-ออกที่ได้จากการเวนคืนที่ดินแม้จะเช่าถูกต้องตามสัญญา ก็ไม่สามารถนำมาประกอบในการขอใบอนุญาตได้
ซึ่งหลักในการเวนคืนที่ดินนั้นมีดังนี้ ในการเวนคืนที่ดินของเอกชนนั้นโดยหลักนั้นทำไม่ได้เนื่องจากเป็นการกระทบในเรื่องของกรรมสิทธิ์ของเอกชน เว้นแต่เพื่อกิจการที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เดิมที่ยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองหลายคดีที่มีคำพิพากษาให้ที่ดินส่วนที่รัฐเวนคืนแล้วมาใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือเวนคืนมาเกินความจำเป็น โดยมีคำพิพากษาให้คืนแก่เจ้าของเดิม และเมื่อมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการเวนคืนแล้วก็ยังมีบทบัญญัติเฉพาะไว้ในกฎหมายดังกล่าวเรื่องของการขอคืนที่ดินจากเจ้าของเดิมในกรณีที่รัฐเวนคืนที่ดินมาเกินความจำเป็นอีกด้วย
ดังนั้นเจตนารมณ์เรื่องของการเวนคืนที่ดินจึงมีความจำเพาะเจาะจงว่าต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ย้อนมาในกรณีของแอชตัน เมื่อ รฟม.ไม่ได้นำที่ดินที่เวนคืนเพื่อกิจการอันเป็นประโยชน์สาธารณะแล้วนอกจากขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนฯแล้วยังขัดกับวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินด้วย คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดจึงไม่มีทางวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นและถือเป็นการลงดาบครั้งสำคัญในกิจการอสังหาริมทรัพย์ และอาจจะไม่ใช่เคสสุดท้าย
ประเด็นต่อมาในส่วนของลูกค้าของโครงการจะมีทางออกอย่างไรดีเนื้อหานี้ผมขอสงวนไว้เขียนลงในสัปดาห์หน้าต่อไป