เชื่อว่าในขณะนี้ประเด็นการเมืองที่ถูกจับตามากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ยุบ-ไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินในวันที่ 7 มี.ค. 2562 เพราะไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกไปในทางใด ย่อมส่งผลอย่างมากกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคไทยรักษาชาติ เป็น 1 ในแผนรับมือระบบเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากพรรคไม่ถูกยุบแผนก็จะดำเนินต่อไป แต่หากถูกยุบคงต้องมาวางกลยุทธ์กันใหม่ว่าจะทำอย่างไรในห้วงเวลาที่เหลือ
เพราะตาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 97 ระบุคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ไว้ประการหนึ่งว่า “(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน” ซึ่งบรรดาผู้สมัคร สส. ในนามพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อกว่า 200 ชีวิต จะหมดสิทธิลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ทันทีเพราะไม่สามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ทัน
ซึ่งจะต่างจากกรณียุบพรรคระหว่างสภาผู้แทนราษฎรยังทำการอยู่ เพราะใน มาตรา 101 ว่าด้วยการสิ้นสภาพของ สส. ระบุไว้ประการหนึ่งว่า “(10) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น”
ตัวอย่างของการยุบพรรคในระหว่างสภาผู้แทนราษฎรยังทำการ คือเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบ พรรคพลังประชาชน ในเวลานั้นตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 106 ระบุว่า “(8) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และไมอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นไดภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น”
โดยหลังมีคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน สส. ส่วนใหญ่ก็ย้ายไปสังกัด พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคสำรองที่เตรียมตั้งกันไว้เผื่อมีอุบัติเหตุทางการเมือง ขณะที่บางส่วนไปเข้าร่วม พรรคภูมิใจไทย และเกิดเหตุ “พลิกขั้ว” หันไปหนุน พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องยุบสภา จนวลี “มันจบแล้วครับนาย” ที่กล่าวโดย นายเนวิน ชิดชอบ หลังพา สส. ในสังกัด “กลุ่มเพื่อนเนวิน”ออกห่างจากพรรคเพื่อไทยในเวลานั้น ถูกจดจำในหมู่คอการเมืองไทยมาจนปัจจุบัน
อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากการยุบพรรคครั้งก่อนๆ คือ “กรรมการบริหารพรรคอาจถูกศาลสั่งไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ตลอดชีวิต” โดยระบุไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ความว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น” ซึ่งจะต่างจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 98 ที่ระบุว่า
“ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรา 82 หรือเหตุตามมาตรา 94 และปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อไดว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนร่วม รูเห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำดังกล่าวแล้วมิไดยับยั้ง หรือแก้ไขการกระทำดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลา 5 ปนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 102 (3) กำหนดข้อห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ว่าต้องไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แม้ในมาตรา 98 (4) จะกำหนดไว้อย่างเดียวกัน แต่เมื่อมาดูมาตรา 92 ประกอบด้วย ก็เป็นไปได้ที่กรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบอาจถูกแบนไม่ให้กลับมาลงสนามการเมืองอีกเลย!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี