1.โดยที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 52 บัญญัติความโดยสรุปว่า
1) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดมีกรณีหรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงถึงแก่ความตายก่อนได้รับการวินิจฉัยเรื่องที่กระทำผิดวินัย นั้น
2) ให้คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พิจารณาวินิจฉัยว่า ถ้าผู้นั้นไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนจะต้องได้รับโทษถึงไล่ออกหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นจะต้องได้รับโทษถึงไล่ออก
3) ทายาทผู้นั้น ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามมาตรา 47
2.ครั้งนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง นางสาวอ่ำ (นามสมมุติ) ว่ากระทำผิดวินัย
อย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ฯ แต่จังหวัดพิจารณาเห็นว่า นางสาวอ่ำ ได้เสียชีวิตไปแล้วก่อนที่ส่วนราชการจะพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นี้ จึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาตามาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2500 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3.จังหวัด อ.และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงสำนักกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงให้นำเรื่องดังกล่าวหารือคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นต่อไป
4.คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุป ดังนี้
1) ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องการดำเนินการทางวินัย นั้น เห็นว่าคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ชี้มูลความผิดนางสาวอ่ำในมูลความผิดทางอาญาฐานทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนการชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงนั้น คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูล โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก และให้ถือสำนวนไต่สวนของป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนวินัยฯ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวอ่ำเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2564 ก่อนมีการดำเนินการทางวินัย ทำให้ผู้บังคับบัญชาของนางสาวอ่ำไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต่อไป
2) ประเด็นที่สอง การพิจารณาสิทธิ ในการรับบำเหน็จตกทอด เห็นว่าตกเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องที่จะพิจารณาตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2500 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า ถ้านางสาวอ่ำไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนจะต้องได้รับโทษถึงไล่ออกหรือไม่ หากเห็นว่าผู้นี้จะต้องได้รับโทษถึงไล่ออกทายาทก็ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ดังนั้นแม้ผู้นี้จะถึงแก่ความตายไปแล้ว ก็เพียงทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยเท่านั้นแต่ยังถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังนั้นในการพิจารณาสิทธิในการได้รับบำเหน็จตกทอดของผู้นี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
3) เนื่องจากทายาทของข้าราชการรายนี้ถือเป็นผู้เสียหายหากมีการพิจารณาแล้วว่า ทายาทไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดก็จะต้องมีการแจ้งสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ พ.ศ.2539 ด้วย
(มติคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566)