‘ดีเอสไอ’เปิดบทสรุปคดีพิเศษ‘ฮั้ว สว.67’ รับสอบสวนฐานความผิด‘อั้งยี่-ฟอกเงิน-ม.116 ความมั่นคง’ ส่วน‘กกต.’รับเรื่องเลือกตั้ง ขณะที่ 6 มี.ค.กกต.ส่งหนังสือแจ้งอธิบดีดีเอสไอ แต่ไม่เข้าร่วมประชุม แจงไม่ตัดอำนาจการสอบสวนคดีอาญาของหน่วยงานอื่น
จากกรณีการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเพื่อมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ โดยที่ประชุมมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (ฐานอั้งยี่) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
มติที่ประชุมได้ให้คณะพนักงานสืบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำเนินการในประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจในการดำเนินการตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือเป็นอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง และให้ดำเนินการเสนอเรื่องผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 3/2568 วันที่ 6 มี.ค. เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) พิจารณามีมติต่อไป ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (5 มี.ค.68) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงภายในบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ว่า สำหรับกรณีที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มอบหมายฝ่ายเลขานุ การ กคพ. มีหนังสือเชิญ กกต. เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายที่กรรมการบางท่านยังอาจมีข้อสงสัยในวันที่ 5 มี.ค. ก่อนถึงวันประชุมบอร์ดฯ 6 มี.ค. นั้น ทาง กกต.ไม่ได้แจ้งหนังสือตอบรับมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การไม่ได้หารือกับ กกต. ในวันนี้จะไม่ส่งผลต่อการประชุมในวันที่ 6 มี.ค. เพราะท้ายสุดแล้วกรรมการก็จะมีการพิจารณาด้วยข้อมูลที่มีต่อไปได้
ส่วนทาง กกต.เองก็คงไม่จำเป็นต้องส่งผู้แทนท่านใดมาร่วมประชุมกับบอร์ดฯ เนื่องด้วยตามโครงสร้างของบอร์ด กคพ. ไม่ได้มีสัดส่วนของ กกต. อยู่ในฐานะกรรมการ แต่เพียงแค่ครั้งนี้เรามีความประสงค์เชิญ กกต. มาร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้บางประเด็นกระจ่างขึ้นเท่านั้น
แหล่งข่าว เผยอีกว่า ส่วนการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษในวันที่ 6 มี.ค. จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 10-01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 3/2568 ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 ราย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการ
แหล่งข่าว เผยต่อว่า ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การลงมติรับหรือไม่รับคดีฮั้ว สว.67 เป็นคดีพิเศษนั้น ไม่สามารถประเมินได้ เพราะอย่างไรก็ต้องรอฟังผลการหารือของกรรม การทุกท่านในที่ประชุม อีกทั้งจะได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่าในกรณีที่มติที่ประชุมได้ให้ไปดำเนินการเสนอเรื่องผ่านคณะอนุกรรม การกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษก่อนเข้าบอร์ดในวันที่ 6 มี.ค.นั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ โดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยอนุกรรมการฯ รวม 13 ท่านก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเข้ามาว่าเห็นควรรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ
ทั้งนี้ เนื่องจากอนุกรรมการฯ ได้เห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า มันมีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ก) - (จ) แห่ง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน ส่วนหากบอร์ด กคพ. จะมีมติเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของกรรมการทั้ง 22 ท่านภายในบอร์ดฯ
แหล่งข่าวฯ เผยด้วยว่า สำหรับความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จริงๆแล้วไม่ได้ตัดอำนาจหน่วยงานใด เว้นแต่ กกต. จะขอรับโอนเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไปดำเนินการเอง ซึ่งหมายความว่าหากในวันที่ 6 มี.ค. บอร์ด กคพ. มีความเห็นให้รับคดีอาญาอื่นรวมถึงคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้เป็นคดีพิเศษด้วยนั้น กกต. ก็จะต้องแจ้งว่า กกต. จะรับเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ดำเนินการเอง หรือจะให้ดีเอสไอดำเนินการ
ถ้าหากว่า กกต. จะรับไปดำเนินการ เราก็ต้องส่งรายละเอียดคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ กกต. ภายใน 7 วัน ทั้งนี้ เท่าที่ทราบ กกต. จะมีกระบวนการไต่สวน และยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการตัดสิทธิ์เท่านั้น โดยที่ผ่านมา กกต. จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลใด แต่ กกต. จะให้หน่วยงานพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ดำเนินการแทน
แหล่งข่าว ยังระบุถึงฉากทัศน์การทำสำนวนสอบสวนคดีฮั้ว สว.67 หากบอร์ด กคพ. รับไว้เป็นคดีพิเศษ ว่า ทางดีเอสไอก็จะต้องมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมา พร้อมกับตั้งเจ้าพนักงานจากหน่วยงานอื่นมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย เพราะเราจะไม่ทำสำนวนฝ่ายเดียว แต่ต้องเชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาทำการสอบสวนร่วมกัน เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและมีประสิทธิภาพ และจะได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล หรือชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ความจริง
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า สำหรับหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เข้าหารือถึงแนวทางการตอบคำถามที่ได้ถามสำนักงาน กกต. ใน 2 คำถาม และในหนังสือระบุว่า ขอให้ส่งเลขาธิการ กกต. หรือผู้แทน กกต. มาตอบคำถามเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมาย และการดำเนินการตามมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ในการประชุมกับคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ พบว่ารายละเอียดภายในหนังสือตอบกลับของ กกต. สรุปใจความสำคัญได้ว่า ให้หน่วยงานสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานได้ ไม่มีความจำเป็นต้องรอทาง กกต. เพราะกฎหมายของ กกต. ไม่ได้เป็นการตัดอำนาจการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด นอกจากนี้ ในวันที่ 6 มี.ค. จะไม่ได้มีผู้แทนของ กกต. เข้าร่วมประชุมบอร์ด กคพ. ด้วยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปรากฏว่า พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้แจ้งลาการประชุมเป็นครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลติดภารกิจราชการ ซึ่งในการประชุมบอร์ด กคพ. ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็ได้ลาการประชุมด้วยเหตุติดภารกิจราชการและมีอาการเจ็บป่วย แต่ถึงแม้จะไม่มีผลเรื่องโทษจากการไม่ร่วมประชุม
แต่เมื่อครบกำหนดวาระ 2 ปี ก็คงต้องมีการแต่งตั้งผู้อื่นมาทำหน้าที่แทน ต้องขอให้ผู้ที่ไม่สะดวกมาทำหน้าที่ได้ยื่นลาออก หรือภายในบอร์ดฯ ต้องมีการเสนอให้ลาออก เพราะเมื่อเป็นวาระระดับประเทศ ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อออกความคิดเห็น แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน ซึ่งการจะแต่งตั้งผู้ใดมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนกันนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อ แต่งตั้ง และรายงานต่อที่ประชุม ครม.
“การประชุมวันที่ 6 มี.ค. ทางดีเอสไอจะมีการเสนอให้บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับทราบว่า ดีเอสไอจะรับผิดชอบสอบสวนคดีฮั้ว สว.67 ไว้เป็นคดีพิเศษ ในฐานความผิดอาญามาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ส่วนทางสำนักงาน กกต. จะทำเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิกถอน เป็นต้น” แหล่งข่าว กล่าวปิดท้าย
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี