ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กรธ.ตั้งฉายาว่าเป็น “ฉบับปราบโกง”
น่าสังเกตว่า นักการเมืองบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่มีคดีทุจริต คดีอาญาอยู่ในชั้นศาล ยิ่งคดีทุจริตโกงข้าว ลิ่วล้อบริวารถึงขนาดลงทุนทำเอกสารบิดเบือนให้ร้ายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยเจตนาเล็งเห็นได้ชัดว่า เขาต้องการให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
1)ประเด็นหลักประกันสุขภาพ ที่ถูกนำไปบิดเบือนกันมาก โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. คนที่ 1 ชี้แจงว่า
มาตรา 47 วางหลักประกันขั้นพื้นฐานของบริการสาธารณสุขว่า 1.รัฐจะปฏิเสธการให้บริหารสาธารณสุขแก่ประชาชนไม่ได้ 2.คนยากไร้ป่วยไข้ต้องรักษาฟรี 3.รัฐต้องป้องกันรักษาโรคติดต่ออันตรายฟรี
มีการนำเรื่องคนยากไร้ป่วยไข้รักษาฟรีไปบิดเบือน ว่าถ้าไม่ใช่คนยากไร้ต้องเสียเงินค่ารักษาเอง ไม่มีบัตรทองแล้ว ซึ่งไม่จริงโดยนายปกรณ์ยืนยันว่าการให้บริการสาธารณสุขของรัฐนั้น มีอยู่ 3 ระบบใหญ่ คือ1.ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ2.ระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า (บัตรทอง) และ 3.ระบบประกันสังคม
เปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบนั้น ในสภาพความเป็นจริง ปัจจุบัน มองแบบไม่โลกสวย คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการให้การรักษาพยาบาลดีที่สุด รองลงมาคือบัตรทองสุดท้ายคือประกันสังคมที่คุณภาพการให้บริการต่ำกว่าอีกสองระบบ (ส่วนหนึ่งเพราะประกันสังคมมีขาจ่ายหลายขา ไม่ได้จ่ายเฉพาะค่ารักษาพยาบาล)
มาตรา 258 (4) ระบุว่า ต้องมีการปฏิรูปคุณภาพและการให้บริการของระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบให้ดีเท่าเทียมกัน
ไม่มีการยกเลิกบัตรทอง ตรงกันข้าม กำหนดให้ปฏิรูปประสิทธิภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น
2)ประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของนักการเมือง เป็นอย่างไร?
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาอย่างต่อเนื่องได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไว้ ขออนุญาตนำมาเรียบเรียงให้เห็นภาพ ดังนี้
ข้อสังเกตถึงมาตรการที่ถูกลดความเข้มข้นไป
1.การให้จำเลยในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง
การเมืองสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ (ม.195)
2.กระบวนการถอดถอน คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดให้เป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ม.236) ซึ่งเดิมไม่มีอำนาจเช่นนี้
3.ข้อห้ามห้ามอัยการและศาลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกตัดออกไป
แต่ทำไม ยังมีข้อสรุปว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะไม่ดีสมบูรณ์แบบ แต่ได้วางหลักการแนวทางในการแก้ไขปัญหา คอร์รัปชั่นที่ก้าวหน้าและเป็นระบบมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมา”
ดร.มานะรวบรวมไว้ เช่น
1.เกี่ยวกับงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง มาตราสำคัญ เช่น ม.62 ควบคุมวินัยการเงินการคลัง ม.63 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการต่อต้าน คอร์รัปชั่นอย่างเพียงพอ มาตราสำคัญ เช่น ม.142 การจัดทำงบประมาณต้องศึกษาและมีข้อมูลรอบด้านและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ม.144 ห้ามโยกงบประมาณ เพื่อไปทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง ม.258(5) ปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดประโยชน์มีประสิทธิภาพตรวจสอบได้
2.การแต่งตั้งโยกย้าย มาตราสำคัญ เช่น ม.68 รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ทำงานโดยปราศจากการครอบงำแทรกแซง ม.76ให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ม.258 การปฏิรูปตำรวจ
3.การโกงในภาคการเมือง : คัดกรองนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นด้วยการตัดสิทธิ์และให้สิ้นสภาพการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของคนที่โกง ละเมิดจริยธรรม มีส่วนได้เสียจากการจัดทำงบประมาณ กระทำการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ลดแรงจูงใจที่จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากงบประมาณ การกำหนดมาตรคุณธรรมจริยธรรมที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป การป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน
มาตราสำคัญ เช่น ม.98 กำหนดห้ามคนโกง คนบกพร่องคุณธรรม คนโกงเลือกตั้ง เข้ารับการเลือกตั้ง ม.251 การวางระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของ อปท. ม.253 สร้างความโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการปฏิบัติงานของ อปท. ต่อสาธารณะ
4.การป้องกันและปราบปรามด้วยกลไกของรัฐ :การบูรณาการการทำงานขององค์กรต่อต้าน คอร์รัปชั่นภาครัฐ ป้องกันการแทรกแซงการทำงาน เพิ่มอำนาจในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมผู้มีอำนาจทางการเมือง
มาตราสำคัญ เช่น ม.68 การคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่เป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำแทรกแซง ม.234 ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติโดยไม่ต้องมีใครมาร้อง ม.217 และ 276 ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมที่ครอบคลุม สส. สว. และ ครม. โดยต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี มิฉะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ม.221 การบูรณาการการทำงานขององค์กรอิสระ ม.244 เอกสาร หลักฐานทางคดีของ สตง. ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีของ ป.ป.ช.
5.การป้องกันด้วยพลังประชาชน : การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องรัฐ สิทธิการรวมตัวของประชาชนโดยได้รับการปกป้องจากรัฐ รัฐต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
มาตราสำคัญ เช่น ม.63 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยร้ายของ คอร์รัปชั่น ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันในการต่อต้านหรือชี้เบาะแส “โดยได้รับความคุ้มครอง” กำหนดหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่พร้อมกับอำนาจและสิทธิกับชุมชน, ม.41(3) และประชาชนที่จะตรวจสอบและฟ้องร้องรัฐเมื่อไม่ทุจริตหรือบกพร่องต่อหน้าที่ โดยเชื่อมโยงกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตาม ม.41 51 59 และ 253 ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลและพัฒนาระบบสารสนเทศที่เข้าถึงได้ง่าย ม.258 การปฏิรูปที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมฯลฯ
องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จึงสรุปความเห็นว่า “.. ร่างรธน.ฉบับนี้เอื้ออำนวยให้การป้องกันและปราบปราม คอร์รัปชั่นมีผลมากกว่า รธน.ทุกฉบับที่ผ่านมามาก ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษที่หนักขึ้น การตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมายที่รวดเร็วขึ้น รวมทั้งให้องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ฯลฯ มีบทบาทและเข้มแข็งมากขึ้น”
3)ขอเพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับการปราบโกง ยาแรง
มาตรา 235 บัญญัติให้ลงโทษยึดทรัพย์รุนแรงมาก กรณีร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ ศาลฎีกาให้ริบทรัพย์สินรวมทั้งประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เช่น ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้เงินมาก้อนหนึ่ง นอกจากริบทรัพย์สินที่ได้มาและยังเหลืออยู่ แม้เอาเงินก้อนนั้นหรือทรัพย์สินนั้นไปลงทุนทำธุรกิจหรือซื้อทรัพย์สินใดๆ ก็ให้ริบได้ด้วยทั้งหมด
มาตรา 125 เรื่องเกี่ยวกับเอกสิทธิ์คุ้มครองของ สส. สว. ที่บางรายเคยใช้เอาตัวรอด ประวิงเวลาในการถูกดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล ไม่ต้องไปสู้คดีระหว่างสมัยประชุมบัญญัติใหม่ว่า
“... ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวน หรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ โดยศาลจะสั่งให้มีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา”
คือให้ศาลดำเนินคดีได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของ สส. สว. ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรม มิใช่ให้ที่ประชุมสภาอุ้มกันเองเหมือนที่ผ่านมา ฯลฯ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี