เดิมในสมัยโบราณ มนุษย์ใช้วิธีพิจารณาพิพากษาคดีด้วยการค้นหาความจริงจากตัวจำเลย ใช้วิธีทรมานผู้ถูกกล่าวหา เช่น วิธีดำน้ำ ลุยไฟ ตอกเล็บ เพื่อลงโทษบุคคลที่ตกเป็นจำเลยให้ยอมรับสารภาพหรืออาจรับสารภาพเพราะทนการทรมานไม่ไหว เมื่อรับสารภาพแล้ว คดีก็ปิดลง เพราะมีตัวผู้กระทำผิดถูกลงโทษ หน้าที่ของตุลาการในสมัยนั้นก็จบลง ปิดคดีได้
วันเวลาผ่านมาจนปัจจุบัน การพิจารณาคดีเปลี่ยนไป การค้นหาความจริง ค้นหาพยานหลักฐานจากตัวจำเลยไม่เป็นที่ยอมรับ และดูเป็นการไม่ยุติธรรม จึงเป็นหน้าที่ฝ่ายโจทก์ผู้กล่าวหาหรือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาแทน จะต้องทำให้ความจริงปรากฏโดยชัดแจ้ง โดยใช้บุคคลที่มีความชำนาญกฎหมายคือ พนักงานอัยการหรือทนายแผ่นดินมาทำหน้าที่แทนประชาชนผู้เสียหายระบบนี้คือ ระบบกล่าวหา ผู้พิพากษาจะวางตนเป็นกลางในการพิจารณาคดี ปล่อยให้โจทก์กับจำเลยสู้กันต่อหน้าคนกลางคือศาลโดยศาลจะช่วยหาทนายให้จำเลย ส่วนอีกระบบหนึ่งคือระบบไต่สวนอำนาจหน้าที่ค้นหาความจริงเป็นของศาล โจทก์จำเลยจะเอาพยานหลักฐานอะไรเพื่อพิสูจน์ฝ่ายของตน ต้องขออนุญาตศาลก่อน
หลักการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เป็นหลักสากลที่ใช้พิจารณาพิพากษาโทษผู้กระทำผิดมาช้านาน ทั้งระบบกล่าวหาและระบบไต่สวน ตามหลักอาชญาและทัณฑวิทยา การที่จะลงโทษผู้กระทำผิดและให้เขาเข็ดหลาบ ยอมรับผิดและกลับตนเป็นคนดี ไม่ทำร้ายสังคมอีก หลักการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาต่อหน้าจำเลยจึงเป็นหลักกฎหมายที่ประกันความยุติธรรมที่สำคัญ และแสดงให้เห็นถึงความมีมาตรฐานทางกฎหมายเป็นสากลของประเทศนั้นๆ เพราะในการพิจารณาพิพากษาลงโทษ จะต้องได้ความจริง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ยังลงโทษไม่ได้ จนกว่า โจทก์จะพิสูจน์จนศาลพอใจว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง
เมื่อมีกฎหมายอาญาฉบับพิเศษ เช่น พ.ร.บ.ค้ามนุษย์พ.ศ.๒๕๕๑ เราเริ่มต้นที่จะตัดสิทธิของจำเลย โดยให้สามารถพิจารณาพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้ ต่อมาปี ๒๕๕๙ เราจัดตั้งศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็ตัดสิทธิของจำเลยให้พิจารณาลับหลังได้ หากจำเลยหลบหนี วันนี้กำลังมีการขอแก้ไขหลักกฎหมายวิธีพิจารณาในคดีอาญาทั่วไปว่า หากจำเลยหลบหนี ไม่ใช้สิทธิต่อสู้คดี ก็ควรจะถือว่า สละสิทธิ์การพิจารณาคดีต่อหน้า ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษลับหลังจำเลยได้เลยโดยเหตุที่มีคดีจำนวนมากที่ศาลปล่อยตัวจำเลยระหว่างพิจารณาแล้ว เขาหลบหนีไป ทำให้คดีค้างพิจารณาปีละ ๔,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ คดี ต้องถือว่าจำเลยได้สละหลักการต่อสู้กันต่อหน้าไปแล้ว นี่เป็นเหตุผลของฝ่ายที่ขอแก้ไขกฎหมาย
ส่วนฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขหลักการดังกล่าว เห็นว่าหลักการต่อสู้คดีต้องกระทำต่อหน้าและต้องมีตัวจำเลยอยู่ด้วย ก็ให้เหตุผลว่า หลักนี้เป็นหลักสากล หากประเทศไทยแก้เพียงคดีพิเศษ เช่นคดีค้ามนุษย์หรือคดีทุจริตก็พอจะรับได้ แต่คดีอาญาทั่วไปควรจะคงหลักไว้ จำเลยหนีก็ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว แล้วออกหมายจับไปตามจับมาให้ได้ คดีจึงดำเนินต่อไป ดังนั้นเงินหรือหลักทรัพย์ที่เขาวางประกันไว้ น่าจะนำมาเป็นเงินรางวัล เป็นค่าใช้จ่ายในการนำจับได้ แต่หากไม่จับตัวมา แล้วพิพากษาลงโทษ โดยออกหมายจับค้างไว้ จะมีผลอะไรแตกต่างกันเพราะอายุความได้ตัวและอายุความลงโทษก็เดินต่อไป แล้วทำให้คดีขาดอายุความได้เช่นกัน
ในคดีอาญาไม่ต้องการคำพิพากษา ๔,๐๐๐ หรือ ๕,๐๐๐ คดีที่มีแต่คำพิพากษาลงโทษ แต่ไม่มีตัวบุคคลถูกลงโทษ ทุกคดีเสร็จไปจากศาล แบบคดีเข้ามาร้อยคดีก็พิจารณาพิพากษาเสร็จเป็นร้อยคดี แต่ตัวคนร้าย คนทำลายสังคมยังคงลอยนวลอยู่ มิได้ถูกลงโทษ จึงมีคำถามกลับไปยังรัฐที่จะแก้ไขกฎหมายว่า สังคมได้อะไร แล้วผู้พิพากษาจะพิพากษาคดีไปทำไม อายุความเขามีไว้เพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการพิจารณาให้ทันเวลา เพื่อป้องกันสังคมโดยรวม จากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ คงต้องขอกล่าวถึง กรณีตัวอย่าง ป.ป.ช.ที่ปล่อยให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบขาดอายุความคามือ แต่ไม่มีกรรมการป.ป.ช.
คนไหนต้องรับผิดอะไรเลย
เรากำลังเดินทางในคดีอาญาอย่างถูกหลักการหรือไม่ ข้าพเจ้าเองไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขหลักการต่อสู้คดีต้องทำต่อหน้า คงฝากเรื่องนี้ให้ประชาชน และรัฐบาล คสช. ที่กำลังจะดำเนินการแก้ไขหรือไม่แก้ไข หลักกฎหมายดังกล่าว ให้นำไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่อก็แล้วกัน
พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี