เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชา ดุเดือดกว่าปี’54 ตามคาด
เพราะกัมพูชาท่าทีต้องการให้เกิดเรื่อง และโจมตีไทยก่อน ลักลอบวางทุ่นระเบิดสังหาร แล้วก็ยังปิดฉากยิงใส่ทหารไทยก่อนอีกด้วย
1. เมื่อเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 07.35 น. หน่วยเฉพาะกิจที่ดูแลพื้นที่ปราสาทตาเมือน รายงานว่า ได้ยินเสียงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของฝ่ายกัมพูชาบินวนอยู่บริเวณหน้าปราสาทตาเมือนธม แม้ไม่สามารถตรวจพบตัวอากาศยานได้ด้วยสายตา แต่สามารถได้ยินเสียงอย่างชัดเจน
ต่อมา ฝ่ายกัมพูชาได้นำอาวุธเข้าสู่ที่ตั้งบริเวณด้านหน้าแนวลวดหนาม และพบกำลังพลกัมพูชาจำนวน 6 นาย พร้อมอาวุธครบมือรวมทั้ง RPG เดินเข้ามาใกล้แนวลวดหนามบริเวณด้านหน้าฐานปฏิบัติการของไทย ฝ่ายไทยได้ใช้การตะโกนเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและยกระดับสถานการณ์ โดยฝ่ายไทยเฝ้าระวังตลอดแนวชายแดนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 08.20 น. ฝ่ายกัมพูชาได้เปิดฉากยิงเข้ามาบริเวณตรงข้ามฐานปฏิบัติการทางทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือน ในระยะประมาณ 200 เมตร
2. ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายพลเรือนในเขตแดนไทย
การกระทำอันรุนแรงและไร้มนุษยธรรมของฝ่ายกัมพูชา สมควรถูกโลกประณาม
ปรากฏหลักฐานวีดีโอคลิปที่ประชาชนกัมพูชาบันทึกไว้เอง ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธจรวด BM-21 ยิงจากฐานยิงเคลื่อนที่บนถนนสาธารณะ ท่ามกลางชาวบ้าน เพราะรู้ว่ายิงปุ๊บทหารไทยล็อกพิกัดได้ทันที ต้องโดนสวน
ทหารกัมพูชาใช้ชาวบ้านเป็นโล่มนุษย์
ขณะที่การโจมตีนั้น มีพลเรือน บ้านเรือนไทย โรงพยาบาล โดนถล่มด้วย
เบื้องต้น มีพื้นที่พลเรือนตกเป็นเป้าหมายของอาวุธยิงสนับสนุนของฝ่ายกัมพูชา จนทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย รวมถึงมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนี้
1. พื้นที่บริเวณปั๊ม ปตท. บ้านผือ ต.หนองหญ้าลาด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 10 ราย
2. พื้นที่บ้านโจรก ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิต 2 ราย (1 รายเป็นเด็กชายอายุ 8 ปี) และได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ส่งต่อ รพ.กาบเชิง
3. พื้นที่บ้านกุดเชียงมุน, บ้านจันลา, บ้านโพนทอง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
4. พื้นที่บ้านขี้เหล็ก ต.บ้านกรวด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ส่งผลให้บ้านเรือนและสัตว์เลี้ยงทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
5. พื้นที่หมู่ 16 ต.บ้านกรวด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ พบผู้บาดเจ็บ 1 ราย
6. พื้นที่บ้านหนองแรด ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย
7. พื้นที่บ้านนายบุญล่วม ทองวิเศษ หมู่ 9 ต.โดมประดิษฐ์ ส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย
โลกต้องประณามการกระทำอันรุนแรงต่อเป้าหมายพลเรือนของฝ่ายกัมพูชา กระทำผิดหลักมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง
3. กองทัพไทยยึดหลักปฏิบัติการตอบโต้ในลักษณะจำกัดวงและจำเพาะเป้าหมายทางทหาร โดยเคร่งครัดต่อหลักสากล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชนกัมพูชา
แต่กัมพูชากลับเลือกใช้อาวุธโจมตีพลเรือนอย่างไร้ความปรานี
ฝ่ายกัมพูชากระทำละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างชัดเจน โดยใช้อาวุธหนักโจมตีเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางทหาร ได้แก่
“ปราสาทตาเมือนธม”
“ปราสาทโดนตวล”
“ปั๊มน้ำมัน บ้านผือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ”
“โรงพยาบาลพนมดงรัก”
“บ้านเรือนประชาชน”
“ศูนย์พัฒนาพื้นที่ชายแดน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์”
มีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
4. กองบัญชาการกองทัพไทย แถลงการณ์ต่อประชาชนคนไทย ระบุว่า
“จากสถานการณ์ตามแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา ขยายความรุนแรงมีการเปิดฉากการยิงโดยกำลังทหารฝั่งกัมพูชา มีการใช้อาวุธประจำกาย และอาวุธประจำหน่วยหลายชนิดเข้ามายังฝั่งไทย ในหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งทหาร และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตามที่ปรากฏในภาพข่าว
โดยการปฏิบัติทางทหาร ตามพระราชบัญญัติ การจัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหมพุทธศักราช 2551 มาตรา 39 มอบอำนาจให้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการทางทหาร ได้สั่งการให้ กองทัพบกใช้แผนจักรพงษ์ภูวนาถซึ่งเป็นแผนเผชิญเหตุ ตามแผนป้องกันประเทศฝั่งตะวันออก
โดยมี ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีอำนาจในการบัญชาการและการใช้กำลังทางบก และร้องขอการสนับสนุนกำลังทางอากาศ และทางเรือ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติของกำลังทางบก ตามแผนเผชิญเหตุ
โดยการปฏิบัติการทางทหาร มี 2 ขั้น คือ ขั้นปกติ ขั้นปฏิบัติการ
ปัจจุบัน อยู่ในขั้นการปฏิบัติการ
โดยใช้อาวุธยิงสนับสนุนของกองทัพภาคที่ 2 และการยิงสนับสนุนทางอากาศจากกองทัพอากาศ โดยมีเป้าหมายคือ ที่ตั้งกองกำลังทหารฝ่ายกัมพูชา เพื่อระงับเหตุการณ์
โดยไม่มีการใช้อาวุธต่อเป้าหมายฝ่ายพลเรือนกัมพูชาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากไม่สามารถระงับสถานการณ์ความรุนแรงหรือการใช้กำลังของฝ่ายตรงข้าม กองทัพจะพิจารณายกระดับการใช้กำลัง สู่ขั้นการป้องกันประเทศในระดับต่อไป
กองทัพไทย ขอประณามการกระทำของกองทัพกัมพูชา ตลอดจนรัฐบาลกัมพูชา ที่มีเจตนาชัดเจนในการเปิดฉากการรบโดยใช้อาวุธหนักโจมตี โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสีย ต่อพลเรือนทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ กองทัพไทยขอให้คำมั่นต่อประชาชนชาวไทยว่า จะพิทักษ์ และปกป้องอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน และความมั่นคงของชาติ พร้อมเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ สำหรับความคืบหน้าของสถานการณ์จะรายงานให้ทุกท่านทราบต่อไป” - กองบัญชาการกองทัพไทย : 24 กรกฎาคม 2568
5. กระทรวงการต่างประเทศ แถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ไทย-กัมพูชา
“1. รัฐบาลไทยขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำของกองทัพกัมพูชาที่ละเมิดอธิปไตยของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อเหตุการณ์ที่ฝ่ายกัมพูชาลอบเข้ามาวางกับระเบิดในดินแดนไทย เป็นผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม 2568 และได้เปิดฉากยิงเข้ามาบริเวณตรงข้ามฐานปฏิบัติการของฝ่ายไทย ในช่วงเช้าของวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 รวมทั้งได้โจมตีอย่างรุนแรงต่อเนื่องในพื้นที่ฝั่งไทยตลอดเช้านี้ รวมถึงเป้าหมายพื้นที่ที่เป็นพลเรือน โดยเฉพาะโรงพยาบาล จนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต
2. ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความร้ายแรงดังกล่าวจากการที่กัมพูชาจงใจมีการกระทำเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเรียกเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กลับประเทศไทย (recall) และขอให้เอกอัครราชทูตกัมพูชากลับประเทศเช่นกัน
3. รัฐบาลไทยเรียกร้องให้กัมพูชายุติการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงซ้ำๆ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและความสุจริตใจ อีกทั้งจะยิ่งเป็นการบ่อนทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของกัมพูชาในประชาคมโลก
4. รัฐบาลไทยเรียกร้องให้กัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยุติการโจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือน รวมถึงยุติการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยทันที โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะยกระดับมาตรการป้องกันตนเอง หากกัมพูชายังคงไม่ยุติการกระทำที่เป็นการโจมตีทางอาวุธและละเมิดอธิปไตยของไทยตามหลักสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ”
6. ฝ่ายกัมพูชา ก็พยายามกล่าวหาให้ร้ายไทยว่าเป็นฝ่ายรุกราน
และกัมพูชาก็เดินหมากตามที่คิดวางแผนไว้ คือ ยื่นหนังสือทางการถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council)
เจตนา คือ ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม มติสำคัญใดๆ ที่จะผ่านในคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิก 9 ใน 15 ประเทศ
และที่สำคัญ จะต้องไม่มีสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ใช้อำนาจยับยั้ง (veto)
หากมีการใช้อำนาจยับยั้ง มตินั้นก็จะไม่สามารถผ่านได้ จะทำให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ อาจไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ในทางปฏิบัติ
นี่คือสิ่งที่ทางการไทย ผู้เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งดำเนินการเต็มที่ มิฉะนั้น จะถือว่าละเลย เอื้อประโยชน์แก่กัมพูชา หรือขายชาติ
7. ว่ากันตามตรง คนไทยส่วนใหญ่ในวันนี้ ไว้ใจทหาร กองทัพ ให้จัดการปัญหาความมั่นคงชายแดนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
แต่ไม่ไว้ใจนักการเมือง ไม่ว่าจะในรัฐบาล หรือในสภา ที่จะเข้าไปแทรกแซง ล้วงลูก หรือล้วงลับข้อมูลทางยุทธการทางการทหาร
เพราะกลัวว่าจะมี “ไส้ศึก” หรือ “หนอนบ่อนไส้”
หรือ “ฝ่ายตรงข้ามกับแม่ทัพ”
คาบข่าวไปบอกอังเคิล
ชี้เป้า หรือบั่นเซาะทำลายความมั่นคงของชาติ
อย่าคิดว่าคนไทยรู้ไม่ทันคนขายชาติ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี