ความสัมพันธ์ลึกซึ้งยาวนานระหว่างทักษิณกับฮุนเซน ขาดสะบั้นไปแล้วจริงหรือไม่ ยังมิอาจยืนยันได้
อีกทั้ง ยังมีความลับดำมืดอีกมากมาย ที่เป็นค้างคาใจคนในสังคมไทย
อาทิ ชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามถล่มทหารไทย กลางกรุงเทพฯ ช่วงการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อปี 2553 ซึ่งขณะนั้น ทักษิณแนบสนิทกับฮุนเซน ปรากฏทั้งคลิกภาพและเสียง คำให้การบุคคลว่ามีชายชุดดำใช้อาวุธสงครามถล่มทหารไทยจริงๆ (และบางเหตุการณ์ยิงเอ็ม-79 ถล่มใส่ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เช่น ที่สีลม) น่าสงสัยว่าอาวุธเหล่านั้น นำมาจากไหน ใครสนับสนุน เกี่ยวข้องอะไรกับฮุนเซนและทักษิณ หรือไม่?
ปรากฏว่า “อาคม ซิดนี่ย์” แดงฮาร์ดคอร์คนหนึ่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เผยถึงที่มาที่ไป รายละเอียดที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยทราบมาก่อน เกี่ยวกับชายชุดดำ คนเสื้อแดง จักรภพ ทักษิณ ฮุนเซน ฯลฯ
น่าสนใจนำมาประมวลพิจารณาว่าจริงหรือแท้ประการใด
1. อาคม ซิดนี่ย์ เล่าถึงการเดินทางไปพบจักรภพ เพ็ญแข ที่กัมพูชา บางตอน ระบุว่า
“…การชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 นับว่าเป็นความหวังของคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย แต่แนวทางการต่อสู้กลับมีคำถามมากมาย เริ่มตั้งแต่มีการปะทะกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และปรากฏมีชายชุดดำติดอาวุธที่ไม่ทราบฝ่ายออกมายิงสู้เจ้าหน้าที่ การต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะที่ถนนดินสอมีระเบิดลงกลางวงคณะนายทหารที่เข้าไปตั้งกองบัญชาการที่รร.สตรีวิทยา ส่งผลให้มีนายทหารบาดเจ็บและตาย จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ต้องวางแผนสลายขั้นเด็ดขาดที่เรียกว่า “ขอคืนพื้นที่” ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงต้องถอยร่นไปสมทบกันที่เวทีราชประสงค์
...วันแรกที่กัมพูชา การไปครั้งนั้นผมได้บอกจักรภพว่าจะไปกันเงียบๆ จะมีแฟนคลับจากอเมริกาที่เป็นเพื่อนวู๊ดไซด์กับคุณหมอจากราชบุรี และแฟนคลับจากเมืองไทยสองคนผัว-เมีย แต่พอได้เวลาผมต้องตกใจพอสมควร ที่ต้องเจอกับบุคคลมากหน้าหลายตาที่ผมไม่รู้จัก ตลอดจนชายชุดดำที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น และแม้แต่มือปืนที่ยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล จักรภพก็เชิญมาปรากฏตัวในคืนวันนั้น...
... ผมรอจนเป็นคนสุดท้าย จึงได้พูดคุยกับชายชุดดำอย่างใกล้ชิด กับคำถามแรก
1. เป็นทหาร บก เรือ หรืออากาศ? ปรากฏว่า ผิดหมด เขาเป็นสามัญชนที่อาสามาร่วมต่อสู้โดยไม่ได้เป็นทหารสังกัดเหล่าทัพใด
2. เมื่อไม่ได้เป็นทหารแล้วเอาอาวุธมาจากไหน? คำตอบก็คือ เวทีคนเสื้อแดง... เป็นคำตอบที่ทำให้ผมรู้สึกเหนือความคาดหมายมากยิ่งขึ้น
3. ผมต้องถามย้ำเวทีคนเสื้อแดง แล้วเสื้อแดงทำไมจึงมีอาวุธสงครามให้ใช้.... คำตอบ สมเด็จฮุนเซนให้มาเพื่อการต่อสู้จำนวน 2 ตู้ คอนเทนเนอร์ ซึ่งจักรภพก็ยืนยันในข้อเท็จจริง…. ทำให้เชื่อสนิทใจจากที่เคยได้ยินมาบ้าง
4. ต่อคำถามที่ว่า อาวุธมากมายขนาดนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการต่อสู้แบบกองโจรหรือโจมตีแล้วพรางตัวเข้ากับมวลชน สร้างความระส่ำให้กับเจ้าหน้าที่.... คำตอบ คือ ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะแค่กระสุนหมด จะเบิกกระสุนรอบใหม่ยังต้องจ่ายตังค์ เลยถอดใจทิ้งอาวุธและหนีมาอยู่กัมพูชา
5. ก็ไหนบอกว่าเป็นอาวุธที่ฮุนเซนให้มาเพื่อช่วยการต่อสู้ เหตุใดจึงต้องซื้อ.... คำตอบ คือ ใช่ ฮุนเซนให้มาเพื่อการต่อสู้จริง แต่คนเสื้อแดงเอาไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองไม่ได้เก็บไว้สำหรับต่อสู้….. ผมหวังว่าพี่น้องเสื้อแดงที่ได้อ่านบทความนี้คงจะกระจ่างถึงสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้…”
2. น่าสนใจว่า ข้อมูลข้างต้น มาจากฝ่ายชายชุดแดงเอง
ยืนยันว่า เสื้อแดงมีชายชุดดำ มีอาวุธสงคราม
และอาวุธสงครามได้มาจากการสนับสนุนของฮุนเซน
ทักษิณมีส่วนรู้เห็นด้วยแค่ไหน?
ทักษิณซึ่งตอนนั้น หนีคดีอยู่ต่างประเทศ เดินทางไปกัมพูชาบ่อยครั้ง
เคยขึ้นไปร้องเพลงสรรเสริญสมเด็จฮุนเซนบนเวทีด้วยซ้ำ
จตุพรน่าจะให้ข้อมูลยืนยันได้ชัดเจนว่า ทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับแก้ว 3 ประการของขบวนการเสื้อแดงในช่วงปี 2553 ทั้งมวลชน พรรคการเมือง และกองกำลังติดอาวุธ
3. น่าเสียดาย การดำเนินคดีเกี่ยวกับชายชุดดำติดอาวุธสงคราม ไม่สามารถเอาผิด หาหลักฐานมามัดผู้เกี่ยวข้องได้อย่างแน่นหนาเพียงพอ
คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4022/2557 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี, นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา, นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย และนางปุนิกา หรืออร ชูศรี เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ ปืนสงครามโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องบรรยายว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยร่วมกันนำ เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม-79 ปืนเอ็ม-16 ปืนเอชเค 33 ปืนเอเค 47 หรือ ปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวัน เวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 ก.ย. 2557 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้ง 5 ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2560 พิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธสงครามให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 พิพากษายกฟ้อง
ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 10 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3-5 แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีความสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคดี ตอกย้ำว่า มีชายชุดดำในฝ่ายคนเสื้อแดง ใช้อาวุธสงครามโจมตีทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ในช่วงปี 2553 จริงๆ
ยกตัวอย่าง
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 แม้จะยกฟ้องจำเลยที่เป็นแกนนำ นปช. อาทิ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ฯลฯ
ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบ ประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้
เห็นว่า นายยศวริศ จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง และ 358 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 5 ปี 4 เดือน และให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.193/2556 ของศาลชั้นต้น
นายสุขเสก จำเลยที่ 12 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำและมีพฤติการณ์เกี่ยวข้อง กับการนำเครื่องยิงระเบิดเอ็ม-79 ระเบิดลูกเกลี้ยงและกระสุนปืนจำนวนหนึ่งไปให้บุคคลนำไปฝังซึ่งต้องการปิดบังอำพรางอาวุธดังกล่าว โดยมีพยานซึ่งเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 12 เป็นผู้ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม-79 ขณะเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยที่ 12 จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของบุคคลใด เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ลงโทษนายสุขเสก จำเลยที่ 12 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย
เท่ากับว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาชี้ชัดว่า ปี 2553 มีพฤติการณ์ “ร่วมกันก่อการร้าย” เพียงแต่มีหลักฐานเอาผิดได้เพียงหนึ่งคนในคดีนี้ น่าเสียดายที่ขณะนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานมัดแน่นไปถึงคนอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีแพ่ง ให้แกนนำ นปช.บางราย ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของอาคารพาณิชย์ที่ถูกเผาในเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553 ได้แก่
คดีหมายเลขดำ 1762/2554 ศาลฎีกาพิพากษาให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 21.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6646-6647/2561 พิพากษาให้นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายรวมประมาณ 19.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ทั้งสองคดีถึงที่สุดแล้ว
อีกทั้ง ยังมีการเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น และมุกดาหาร
คดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร (มีหลายสำนวน) สำนวนหลักศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี นายวิชัย อุสุพันธ์ และพวก
คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ อจ.ต้อย แกนนำ นปช.อุบลราชธานี และพวก
คดีเผาศาลกลางจังหวัดขอนแก่น ศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี นายอดิศัย วิบูลเสขและพวก (แนวร่วมเสื้อแดง)
คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ศาลพิพากษาจำคุก 22 ปี นายวันชัย รักสงวนศิลป์และพวก (เสื้อแดง)
4. ใน “รายงาน คอป.ฉบับสมบูรณ์” ชี้ชัดไว้ก่อนหน้านี้ ยืนยันการมีอยู่จริงของ“ชายชุดดำ” และยังเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง 2553 เอาไว้ด้วย
ในหัวข้อ “2.3.13 การเผาสถานที่ในกรุงเทพมหานคร” สรุปว่า ระหว่าง นปช.ชุมนุม 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553 มีอาคารต่างๆ ในกทม.ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ 37 แห่ง แบ่งเป็นสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และสถานประกอบธุรกิจเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ 19 แห่ง
ระบุว่า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นหลังเวลา 14.00 น.
“...ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน พร้อมหนังสติ๊ก ระเบิดขวดและระเบิดปิงปอง เริ่มจุดไฟเผาและโยนถังแก๊สเข้าไปประมาณ 10 ถัง จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จำนวน 8 คน ได้รับบาดเจ็บจากระเบิด ซึ่งเกิดจากระเบิดขว้างสังหาร ซึ่งเป็นอาวุธสงคราม โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่าคนขว้างสวมใส่เสื้อผ้าสีดำและสวมหมวกไหมพรมปิดหน้า หลังจากนั้นไฟจึงลุกไหม้อย่างต่อเนื่องมาจากด้านห้างสรรพสินค้าเซน และลามมาที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จนเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงไว้ได้...”
“..เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งให้คุ้มครองหน่วยดับเพลิงเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. แต่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากต้องผ่านบริเวณที่ยังมีการปะทะกันและมีสิ่งกีดขวางบนถนน ...กรณีเพลิงไหม้ที่โรงหนังสยาม หน่วยดับเพลิงเข้ามาถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม แต่ไม่สามารถเข้าไปในจุดที่เพลิงลุกไหม้ เนื่องจากมีการต่อต้านด้วยปืนสงครามจากคนชุดดำ จึงถอนกำลังกลับไปที่สนามกีฬาแห่งชาติ และสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงได้ในช่วงเย็นแต่เพลิงได้ลุกไหม้ไปมากแล้ว…”
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 นางสาวอัมพาวีร์ ชมภูพงษ์เกษม เลขานุการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทในเครือได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) วงเงิน 3,500 ล้านบาทไว้ และได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยการก่อการร้าย เป็นจำนวน 3,500 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่า บริษัทประกันยอมจ่ายสำหรับประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) โดยตรง
กรณีเผาศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ศาลแพ่งพิพากษา คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่า เหตุการณ์เผาศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นกรณีสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล มีความวุ่นวาย โกลาหล อลหม่าน เห็นได้ว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการปราศรัยปลุกระดมของแกนนำกลุ่ม นปช. หลังเกิดเหตุมีรถดับเพลิงเข้าไป แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง นอกจากนี้ ยังพบลูกธนูพันด้วยผ้า และร่องรอยกระสุนปืน สรุปว่าพยานหลักฐานเกี่ยวกับการวางเพลิงเผาศูนย์การค้าของโจทก์ เกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนที่ต้องการใช้ความรุนแรง หรือข่มขู่บุคคลเพื่อหวังผลทางการเมือง เพื่อต้องการส่งผลให้รัฐบาล หรือสาธารณชนตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก หวาดกลัว ถือเป็นการกระทำก่อการร้ายตามนิยามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัย เป็นผลให้ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันซึ่งไม่ได้ทำประกันที่คุ้มครองเกี่ยวกับภัยความรุนแรงทางการเมือง-ก่อการร้าย ไม่ได้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
ทั้งหมด ตอกย้ำว่า เหตุการณ์รุนแรงในเมืองไทย เผาบ้านเผาเมือง ก่อการร้ายบนแผ่นดินไทย เคยได้รับการสนับสนุนจากฮุนเซน โดยขณะนั้น มีความสัมพันธ์อันดีกับ สทร.
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี