การเจรจาภาษีกับสหรัฐ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทย ภาคธุรกิจเอกชน ทุกภาคส่วน มีส่วนได้-เสีย
1. ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ จะนำข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% ในสินค้าหลายหมื่นรายการ และข้อเสนออื่นๆ พูดคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์
คนไทยไม่มีโอกาสรู้เลยว่า จะลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% ในสินค้าหลายหมื่นรายการนั้น รายการไหนบ้าง?
กระทบกับการผลิตสินค้าภาคเศรษฐกิจในประเทศไทยส่วนไหน เท่าไหร่ และรัฐจะมีมาตรการดูแลอย่างไร?
เพื่อแลกกับการให้สหรัฐลดภาษีโต้ตอบ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจส่งออกของไทย
น่าอนาถใจ นายทักษิณ ชินวัตร ยังมีโอกาสดีกว่าคนไทยทั่วไป และนักธุรกิจทั่วไป เพราะได้เข้าให้คำแนะนำ หรือชี้นำ หรือสั่งการถึงบ้านพิษณุโลก
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ เปิดเผยความคาดหวังว่าการเจรจาภาษีจะอยู่ที่ระดับ 18% (จากที่สหรัฐประกาศไว้ 36%)
เวียดนามอยู่ที่ 20% เปิดเสรีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 0% แบบเบ็ดเสร็จ
อินโดนีเซีย 19%
แต่นั่นแลกเปิดเสรีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 0%
3. นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า จากการหารือกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ไม่คัดค้านการยกเว้นภาษีบางรายการเพื่อเปิดตลาด
แต่ “ไม่ยอมรับ” หากรัฐบาลยอมเปิดนำเข้าแบบเต็มรูปแบบ เพราะมองว่า“ได้ไม่คุ้มเสีย”
4. ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดในอาเซียน หากไทยยังถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกทั้งระบบ รัฐอาจต้องใช้งบเยียวยามหาศาล เสนอแนะให้รัฐบาล “เลือกปกป้องกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวสูง” เพื่อป้องกันระบบเศรษฐกิจโดยรวม
5. นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต แสดงความคิดเห็นน่าสนใจ โพสต์ผ่าน Facebook ส่วนตัว ระบุว่า
“Prisoner’s Dilemma - เมื่อเพื่อนชิงสารภาพ ภาษี 36% จะเป็นความหายนะของประเทศไทย
ทำไมภาษี 36% จึงจะก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ผลกระทบทางตรง ที่จะเกิดขึ้นทันที
1st Order Impact: ผลกระทบต่อสินค้าและอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ
สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ และยาง หากถูกตั้งภาษีสูงถึง 36% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม (20%) และ อินโดนีเซีย (19%) ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อย่างรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากหลายประเทศ เช่น โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนรถยนต์
2nd Order Impact: ผลกระทบต่อซัพพลายเชนในประเทศ
สินค้าส่งออกเหล่านี้มี supply chain ในประเทศที่ซับซ้อน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศจำนวนมาก
คาดว่าจะสูญเสียรายได้ในอุตสาหกรรมรวมกันถึง 497,000 ล้านบาท จากผลกระทบทางอ้อมใน supply chain
3rd Order Impact: ผลกระทบต่อแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ
คาดว่าจะมี แรงงานสูญหายกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2028 ส่วนใหญ่ในภาคการผลิต เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และยาง
การบริโภคในประเทศลดลงจากการว่างงานและรายได้ลดลง เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคอย่างกว้างขวาง
ผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว
ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศขับเคลื่อน (FDI) ดังนั้น ถ้าภาษีที่สหรัฐคิดจากไทยสูงกว่าคู่แข่ง เราจะ
1. สูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
หากไทยถูกตั้งภาษี 36% ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามหรืออินโดนีเซียได้อัตราที่ดีกว่า ไทยจะตกอันดับในห่วงโซ่การผลิตโลก และอาจถูกมองว่าเป็น “ประเทศที่เสี่ยง” สำหรับการลงทุน
2. การดึงดูด FDI ลดลงไปอีก
ไทยเสียเปรียบมากขึ้นในการแข่งขันดึงดูด FDI เมื่อเทียบกับเวียดนามที่มี FDI เพิ่มสูงกว่าไทยถึง 15 เท่า ตั้งแต่ปี 2015
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหารแปรรูป ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของไทย อาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้สิทธิภาษีที่ดีกว่าจากสหรัฐฯ
ทำไมควรสารภาพตาม?
ผลกระทบจากการ “ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ” จริงๆ แล้วน้อย และอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ
ผลกระทบทางลบมีจำกัด
หากไทย ยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด จะสูญเสียรายได้จากภาษีเพียง 35,900 ล้านบาท/ปี คิดเป็นเพียง 0.2% ของรายได้ภาครัฐ
สินค้านำเข้าสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้าต่ำอยู่แล้ว และมีปริมาณการนำเข้าไม่สูงนัก
ผลบวกที่อาจเกิดขึ้น
1. ลดต้นทุนอาหารสัตว์ - เพิ่มความสามารถแข่งขันของอาหารแปรรูป
ข้าวโพดจากสหรัฐฯ ราคาถูกกว่าเมียนมาและลาวถึง 14%
การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ จะช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ลงถึง 60,000 ล้านบาท ส่งผลให้สินค้าแปรรูปไทย (เช่น ไก่ หมู อาหารสัตว์เลี้ยง) แข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก
ลดแรงจูงใจในการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง ลดปัญหา PM2.5 จากการเผาในภาคเหนือและจากประเทศเพื่อนบ้าน
2. นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ราคาถูกลง
สินค้ากลุ่มยา เครื่องมือแพทย์จากสหรัฐฯ มีราคาถูกลง อาจส่งผลดีต่อสวัสดิการรัฐและการรักษาโรค
ไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ เพราะยังผลิตสินค้าคนละกลุ่ม (low-end vs high-end)
สรุป
การให้ภาษี 0% และ ยกเลิก โควตานำเข้า ย่อมมีผู้เสียผลประโยชน์ แต่โดยรวมแล้ว จะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยดำดิ่งไปมากกว่านี้ และจะส่งผลบวกในระยะยาว
ภาษี 36% จากสหรัฐฯ จะกระทบไทยรุนแรงแบบลูกโซ่ ทั้งอุตสาหกรรม แรงงาน และการลงทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.23 ล้านล้านบาท
ในขณะที่การลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สร้างผลกระทบต่อรายได้รัฐเพียงเล็กน้อย แต่ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมกลับมามากกว่า
ขอเป็นกำลังใจให้ทีมเจรจาสามารถก้าวข้าวผลประโยชน์และการสูญเสียเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในองค์รวมของประเทศชาติครับ”
6. วิจัยกรุงศรี มองว่า การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ระวังว่าจะแก้ปัญหาหนึ่ง แต่สร้างอีกปัญหาตามมา
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การส่งออกของไทยเผชิญความเสี่ยงถูกสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% หากการเจรจาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ทันวันที่ 1 สิงหาคมนี้
กรณีเลวร้าย หากสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในอัตรา 36% มูลค่าการส่งออกจะหายไปกว่า 1.62 แสนล้านบาท
หากสินค้าส่งออกของไทยต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งนับเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งสามารถเจรจาลดอัตราภาษีเหลือ 20% (และ 40% สำหรับสินค้าที่ต้องสงสัยว่าถูกส่งผ่าน) ในกรณีเลวร้ายนี้วิจัยกรุงศรีประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะหายไปถึง 1.621 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม ยางและพลาสติก
หากยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สหรัฐฯ ไทยอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Twin Influx
กรณีหากไทยและสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม โดยที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 20% ขณะที่ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจรุนแรงน้อยกว่ากรณีที่มีการเรียกเก็บภาษีที่ 36% ถึง 9.3 เท่า
หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไป 0.174 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ดังกล่าวอาจเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่จะสร้างอีกปัญหาตามมา
โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
จากแบบจำลองพบว่าในระยะยาวการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นถึง 27% หรือประมาณ 1.883 แสนล้านบาท
โดยกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม อาจเผชิญกับการหลั่งไหลเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรากว่า 100%
ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่นๆ เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ยางและพลาสติก ก็อาจมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลักเช่นกัน
การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯมากขึ้นเพื่อแลกกับการลดภาษีอาจนำไปสู่ภาวะ “Twin Influx” หรือ การไหลทะลักเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทย
ในท้ายที่สุด ภาวะ “Twin Influx” อาจบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ
โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานถึง 28.6% ของกำลังแรงงาน (ปี 2567)
ทั้งนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น ประเทศไทยอาจมีทางเลือกตอบโต้ที่จำกัด
ดังนั้น จึงควรเร่งขยายตลาดและเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ มากขึ้น และหันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบายการค้าของประเทศแกนหลัก
7. นี่คือสถานการณ์ไต่ขอบเหว ที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเร่งปรับตัว เตรียมมาตรการลดแรงกระแทก
การสร้างตลาดภายในที่เข้มแข็งขึ้น หาตลาดใหม่ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
รัฐบาลที่ไม่ตื่นตัว มุ่งแต่เล่นการเมืองไม่หยุดหย่อน ไร้เสถียรภาพ ไร้ฝีมือ ผู้นำรัฐบาลที่ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ในยามวิกฤตเช่นนี้ ต้องรีบออกไป
บ้านเมืองไม่ใช่สนามเด็กเล่น หรือที่ฝึกงานของคุณหนู
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี