วันนี้จะเป็นวันแรกที่จะแถลงนโยบายภายใต้รัฐบาลปกติ ในรอบ 8 ปี ตั้งแต่ครั้งสุดท้ายในปี 2554 ซึ่งการแถลงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ใน สนช. นั้นอาจไม่นับในการวิเคราะห์ครั้งนี้ เพราะไม่มีฝ่ายค้าน ซึ่งภายหลังการแถลงนโยบายแก่สภาในวันนี้และวันพรุ่งนี้ จะถูกนับว่าเป็นการถ่ายโอนอำนาจและภารกิจทุกอย่างกลับสู่สภาวะการเมืองปกติอย่างสมบูรณ์ ระหว่างนี้ปัญหาที่นายกฯ จะต้องเผชิญนอกจากเรื่องสร้างผลงานเพื่อกู้ศรัทธาจากประชาชนแล้ว ยังต้องเผชิญกับข้อครหากับคุณสมบัติในการขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องแล้ว เรื่องเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวรัฐบาลหรือไม่?
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ก็ดูเหมือนกับว่าพล.อ.ประยุทธ์กับเก้าอี้นายกฯ จะดูสั่นคลอนตามการตีกระแสของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่? ถึงแม้ครั้งหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จะเคยถูกนายศรีสุวรรณร้องเรียนผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อกรณีเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมาก่อนหน้านี้ แต่ผลที่ออกมาก็ปรากฏว่าตัวพล.อ.ประยุทธ์ นั้นไม่ครบองค์ประกอบของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และลงความเห็นให้ยุติการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องก็ดูจะจบลงในครั้งนั้นแล้วใช่หรือไม่?
แต่มาวันนี้ ฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคก็ได้ยื่นคำร้องผ่านทางประธานสภาฯ ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่าหากในครั้งนี้ หากไม่มีหลักฐานหรือเอกสารเพิ่มเติมจากคราวก่อน ก็คงไม่สามารถทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ได้เช่นเคย แต่หากถึงที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นั่นหมายถึงการหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผลร้ายแรงที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้คืออาจจะส่งผลทำให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 19 พรรคเสียงแตกหรือไม่? แต่ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 19 พรรคยังจับมือเหนียวแน่น ในการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ก็คงไม่หนีไปจาก นายอภิสิทธิ์และนายอนุทิน เนื่องจากมีเสียง ส.ส. ในสภาเกิน 25 คน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และเมื่อพิจารณาจากตัวแคนดิเดตทั้งสอง
ด้านของนายอภิสิทธิ์เอง ด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นนายกฯ มาก่อน ผนวกกับการมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน นั่งประธานสภาฯ อยู่ด้วย ก็ดูจะเอาอยู่และทำให้การออกนโยบายและการทำงานของรัฐบาลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าใช่หรือไม่? ในทางกลับกัน อาจเป็นการเพิ่มกำลังให้กับพรรคประชาธิปัตย์มากเกินไป ในสายตาพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคใหญ่ โอกาสจะเกิดสิ่งนี้จะเป็นไปได้หรือไม่? ส่วนตัวของนายอนุทินเอง ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถ และสดใหม่ในเรื่องของการบริหาร อย่างกรณีของ บุรีรัมย์โมเดล ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ แต่ ณ เวลานี้ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องของประสบการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วสิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้น และไหลต่อเนื่องมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องจับตามองผลการตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญ และการยุบสภาฯ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นด้วยเช่นกันใช่หรือไม่?
สำหรับในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำนั้น เมื่อมองท่าทีของพรรคร่วม 2 พรรคหลักอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ก็จะเห็นว่าในครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าตกที่นั่งลำบากพอสมควรใช่หรือไม่? เพราะแม้จะเข้าร่วมรัฐบาลและแลกเปลี่ยนได้กระทรวงเกรดเอ อย่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ มา แต่กับกรณีกระทรวงเกษตรฯ เอง ก็ถือว่าในบรรดาพรรคร่วมก็อยากได้ทุกพรรค และพรรคพลังประชารัฐเองก็อยากได้ สังเกตจากการเปลี่ยนไปมาหลายครั้ง ตามโผที่ออกในสื่อต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายเมื่อเปลี่ยนไม่ได้ จึงใช้วิธีตั้ง รมช. ประกบจากทุกพรรคใช่หรือไม่? ก็นับว่าทำให้เกิดความลำบากใจให้กับนายเฉลิมชัย จากพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อย เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความขัดแย้งภายในกระทรวง และแม้กระทรวงเกษตรฯ จะใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีภารกิจมากพอที่จะแบ่งให้รัฐมนตรีถึง 4 คน
อย่างไรก็ตามหากหน่วยงานหลักๆ อยู่ในการกำกับดูแลของนายเฉลิมชัยได้ ก็ดูจะไม่น่าเป็นปัญหาอะไร ส่วนทางพรรคภูมิใจไทยเอง ก็อาจจะประสบกับปัญหาในการทำนโยบายและขาดเอกภาพหรือไม่? โดยเฉพาะเรื่องกัญชา เพราะยังคาบเกี่ยวกับหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ และยังดูเหมือนยังไม่ได้รับความชัดเจนจากนายกฯ ในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากไม่สำเร็จจะมีผลต่อการคงอยู่ของพรรคภูมิใจไทยหรือไม่?
ทางด้านฝ่ายค้าน พรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มจัดทัพเพื่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลแล้วตามที่เป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่างนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และบรรดา สส. ในสังกัดอย่างนายสุทิน คลังแสง, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร, นายขจิตร ชัยนิคม, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส่วนพรรคอนาคตใหม่เอง ก็นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ และนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ขณะที่ซีกพรรคพลังประชารัฐก็เตรียมขุนพลเพื่อปกป้องนายกฯ เช่นกัน
โดยจุดโจมตีที่ฝ่ายค้านจะใช้โจมตีรัฐบาลชุดนี้ คงหนีไม่พ้น 3 จุดคือ 1.การแถลงนโยบาย 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นนัดแรก ฝ่ายค้านเองก็น่าจะยังไม่เล่นงานอะไรมาก เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่ได้ทำงานจึงยังไม่มีแผลอะไร อย่างเต็มที่ก็มีเพียงเอาผลงานเก่าของรัฐบาลประยุทธ์มาเล่น หรือนำเอาแผลเก่าของรัฐมนตรีแต่ละคนในรัฐบาลชุดนี้มาใช้เป็นจุดโจมตี ซึ่งก็ได้เริ่มที่การปล่อยกระแสข่าวบ้างแล้วในโซเชียล แต่ผลสุดท้ายหลายฝ่ายก็คาดว่ารัฐบาลจะยังสามารถประคองคะแนนเสียงได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าจะกระท่อนกระแท่นแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลก็น่าจะไปรอด แต่จะห่วงก็เพียงแต่การอภิปรายไว้วางใจ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต แต่จะสำเร็จหรือไม่? ก็ขึ้นอยู่กับความแตกแยกของคนในรัฐบาล ที่ดูจะมีรอยร้าวขึ้นตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลและเลือกกระทรวงแล้วใช่หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกคนล้วนรู้ดีว่ากระบวนการแก้ไขต้องใช้เวลา และทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้พูดเปิดช่องให้มีกระบวนการนี้ไว้แล้ว ดังนั้นแล้วกระบวนการต่อต้านที่โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ก็คงยังไม่สำเร็จในช่วงต้น คือไม่สามารถที่จะระดมมวลชนได้ง่าย ๆ ในช่วงนี้ จนกว่าระยะเวลาจะผ่านไป 1 ปีครึ่งตามที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอ แล้วหากยังไม่มีสัญญาณที่จะเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าเมื่อนั้นเรื่องดังกล่าวจะมีพลังมากยิ่งขึ้นทันที...
“...คนที่บอกว่าไม่กลัว ในใจมักหวาดกลัวผู้อื่น...”
โกวเล้ง จากเรื่องเล็กเซี่ยวหงส์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี