ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผล กระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ในภาพของสาธารณสุขที่ต้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรที่มีทั้งหมดในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วโลกที่มีมากถึงกว่า 1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6 หมื่นราย ในส่วนประเทศไทยเสียชีวิตกว่า 20 ราย และติดเชื้อป่วยเกิน 2 พันคน ซึ่งพิษโควิด-19 ยังส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจการค้าหยุดชะงักลง ลามไปถึงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรที่เป็นต้นทางของระบบห่วงโซ่คุณค่าเกิดการชะลอตัวลงด้วย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาล
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบทุกไตรมาส การท่องเที่ยวหดตัวลงสูงสุดถึง 42.8% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปกว่า 85% ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากเกาหลีก็ลดลง 73% ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจการบิน ต้องปิดตัวชั่วคราวหรือลดเส้นทางการบินลง และมีแนวโน้มที่การจ้างงานจะลดลงในระยะต่อไป รวมถึงประชาชนที่กังวลกับสถานการณ์โควิด -19 และภาระหนี้สินที่ยังอยู่ในระดับสูงต่างก็ลดการจับจ่ายใช้สอยลง
ในระหว่างนี้ เราได้เห็นภาพความร่วมแรงร่วมใจของภาคประชาชนและภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม เช่น ดารา นักร้องคนดัง ที่เปิดพื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัวให้ร้านค้าได้โฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเองได้รวมถึงประชาชนและบริษัทเอกชนหลายรายที่ร่วมกันบริจาคเงิน หรือสิ่งของ และจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ตามกำลังและความสามารถ
แต่ภาระอันหนักหน่วงและความหวังของประชาชนก็ยังคงอยู่ที่รัฐบาล ซึ่งนอกจากจะต้องเร่งแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อดูแลปกป้องสุขภาพของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงนี้แล้ว ยังจำเป็นต้องเร่งหามาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนให้กลับคืนมาหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ซึ่งล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน วงเงินงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท จำนวน 9 ล้านคน ส่วนค่าน้ำค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้มได้มีการลดราคาไปล่วงหน้าแล้ว
สิ่งสำคัญคือต้องมองต่อไปข้างหน้าหลังจากนี้ว่าพิษโควิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางใด และรัฐบาลควรต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อดูแลประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาววิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้แรงงานหลายหมื่นคนขาดงาน ขาดรายได้ จำเป็นต้องย้ายกลับภูมิลำเนา รัฐบาลจึงควรเน้นการดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน ให้เกิดการจ้างงาน มีการผลิต การทำเกษตรกรรมท้องถิ่นที่ทำให้ชุมชนเลี้ยงตัวเองได้ รวมทั้งต้องพัฒนาโครงสร้างในด้านสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อรองรับประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
และการเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่สังคมดิจิทัลให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง วิกฤติครั้งนี้ทำให้ประชาชน ร้านค้า ผู้ประกอบการต้องหันมาใส่ใจเรื่องของอีคอมเมิร์ซและสังคมไร้เงินสด (cashless society) มากขึ้น การเติบโตของแอพพลิเคชั่นสำหรับซื้อขายออนไลน์ บริการขนส่ง แพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับการประชุมทางไกลจะกลายเป็นความเคยชินของประชาชนมากขึ้น ซึ่งอาจจะพลิกโฉมประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิงหลังผ่านพ้นวิกฤติแล้วรัฐบาลเองต้องพัฒนาให้ทัน ขณะเดียวกันต้องวางระบบหรือมีกฎระเบียบที่สร้างโอกาสหรือสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี