ต้องยอมรับว่า โครงการคนละครึ่ง ได้รับการตอบรับดียิ่ง เนื่องจากผลลัพธ์ดีเยี่ยม
ทั้งเพิ่มยอดขายให้กับพ่อค้าแม่ขายที่เข้าโครงการแบบเห็นๆ จับต้องได้ไม่น้อยกว่า 30-40%
และยังช่วยแบ่งจ่ายค่าสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนที่เข้าโครงการกว่า 10 ล้านคน แบบเห็นๆ จับต้องได้อีกเหมือนกัน ตามแนวทางของโครงการ “คนละครึ่ง”
ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบ หรือไม่ชอบลุงตู่ หรือแม้แต่ผู้ที่ออกไปประท้วงไล่รัฐบาล หากเข้าโครงการก็มีแต่ได้กับได้ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
นี่จึงนับเป็นผลงานโบแดงอีกหนึ่งอย่างของรัฐบาลปัจจุบัน
ส่วนพวกที่ “ค้านทุกเรื่อง” ด่าทุกอย่าง ต่อต้านทุกการกระทำของรัฐบาล เคยออกมาด้อยค่า ดูแคลนสารพัด ก็ไม่เห็นมันจะแสดงความรับผิดชอบ หรือช่วยอะไรได้เลย
1. ที่น่าเวทนา คือ คนในโลกทวิตแลนด์ที่โกหกกันเอง หลอกกันเอง หรืองมโข่งอยู่กับวาทกรรมและคำโกหกจนไม่ลืมหูลืมตาดูว่า จริงๆ รัฐบาลเขาทำโครงการอะไร ชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร
ยกตัวอย่างข้อความที่เห็นข้างบนนั้น ยังหลับหูหลับตาใส่ร้ายว่าโครงการนี้พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดไม่ได้ประโยชน์ มีแต่ 7-11 ห้างใหญ่ นายทุน ที่ได้ประโยชน์ !!!!
มันน่าอับอายขายขี้หน้า น่าเวทนาใจไหม
เพราะโครงการคนละครึ่งนี้ ชัดเจนแต่แรกว่า เขาไม่ให้ 7-11 ห้างใหญ่เข้าโครงการเลย
ร้านค้าที่เข้าโครงการมีแต่ร้านค้าขนาดเล็ก ประเภทโชห่วย เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา หาบเร่ แผงลอย ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายเสื้อผ้า ร้านในตลาดนัด ตลาดสด ฯลฯ
จำนวนรวมเกือบ 6 แสนร้านค้า
ไอ้คนที่มันยังมั่วโกหกบิดเบือนว่าเอื้อนายทุนใหญ่นั้น มันช่างน่าเวทนาน่าอายเสียเหลือเกิน
2. ล่าสุด เมื่อวานนี้ เปิดลงทะเบียนรอบสอง 2.3 ล้านสิทธิ แป๊บเดียวเต็ม
ตอกย้ำว่า โครงการเป็นประโยชน์จริงๆ
มันใช้ได้จริง ประหยัดเงินในกระเป๋าได้จริงๆ
ส่วนคนที่สละสิทธิ์นั้น อาจจะรอใช้สิทธิโครงการ “ช้อปดีมีคืน” หรืออาจซ้ำซ้อนกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็อาจเป็นไปได้
3. ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. ปรากฏว่า มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.57 แสนร้านค้า
และผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 7,352,274 คน
มียอดการใช้จ่ายสะสม 10,155 ล้านบาท
แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 5,178 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 4,977 ล้านบาท
ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 214 บาทต่อครั้ง
จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ
4. ในการประชุม ครม. 10 พฤศจิกายน 2563 ได้รับทราบผลการดำเนินมาตรการชิมช้อปใช้ ซึ่งดำเนินการในระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2562 - 31 มกราคม 2563
มาตรการดังกล่าว ผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ และติดตั้งแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” มีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 14,354,159 คน มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 11,802,073 คน และมีร้านค้าที่มีผู้ไปใช้สิทธิจำนวน 103,053 ร้าน
มียอดใช้จ่ายผ่าน g-Wallet รวม 28,819.9 ล้านบาท
แบ่งเป็น การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 1 (เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 1,000 บาท) จำนวน 11,671.8 ล้านบาท และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 2
(ประชาชนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายและได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐร้อยละ 15 หรือ 20 ของยอดใช้จ่ายจริง) จำนวน 17,148.1 ล้านบาท
การประเมินความคุ้มค่าของมาตรการชิมช้อปใช้ พบว่า มีการใช้สิทธิทั่วภูมิภาคและทุกจังหวัด โดยมาตรการชิมช้อปใช้มีผลบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ผ่านตัวทวีคูณ (Multiplier) 3.3 เท่า ซึ่งประเมินว่าได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.1 - 0.3 และมีผลบวกต่อเศรษฐกิจรายจังหวัด ซึ่งสะท้อนได้จากการบริโภค การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ในช่วงของการดำเนินมาตรการ
นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงาน GDP ไตรมาส 4 ปี 2562 ไว้อย่างชัดเจนว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการขยายตัวสาขาการขายส่งขายปลีก โรงแรมที่พักและร้านอาหารในด้านอุปทานเป็นผลมาจากมาตรการชิมช้อปใช้ และยอดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการมีมาตรการชิมช้อปใช้ ส่งผลให้มูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สร้างทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แก่ประชาชน สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์เชิงลึก และเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) มาช่วยในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ
5. จะเห็นว่า มาตรการรักษาระดับกำลังซื้อของการบริโภคภายในประเทศเหล่านี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ตรงเป้า ไม่ใช่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือเป็นมาตรการสิ้นคิดแบบที่มีคนด้อยค่า ประชดประชันเสียดสีไว้ก่อนหน้านี้
เป็นความจริงว่า คนทำงาน เป็นฝ่ายเหนื่อย และรองรับคำด้อยค่าเสียดสี
ส่วนฝ่ายที่ต้องการขับไล่รัฐบาล ก็จะทำทุกอย่าง แม้แต่การด้อยค่า ทำลายความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ แม้แต่บางครั้งให้ข้อมูลเท็จ ไม่ตรงกับความจริง
ชุดมาตรการที่รัฐบาลลุงตู่เห็นชอบให้ดำเนินการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการช็อปดีมีคืน ล้วนแต่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างตรงจุด
เป็นมาตรการชุด เพื่อเพิ่มกำลังซื้อชั่วคราว ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังติดโควิด-19 ยังไม่ได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ รับนักท่องเที่ยวเต็มที่ยังไม่ได้ การส่งออกยังติดขัดกับตลาดโลกที่ป่วยหนักจากโควิด การต่อสายน้ำเกลือ หรือยาโด๊ป จึงช่วยได้ในระยะสั้น
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เติมเงินให้กับผู้ถือบัตรฯ13.9 ล้านคน
โครงการคนละครึ่ง จะเติมกำลังซื้อให้ประชาชน 10 ล้านคน
โครงการช้อปดีมีคืน พุ่งเป้าที่ประชาชนผู้จ่ายภาษีเงินได้
ขณะเดียวกัน มาตรการฟื้นเศรษฐกิจอื่นๆ ยังจำเป็นและสำคัญที่จะเดินหน้าต่อไป เช่น การจ้างงาน (ตามที่เพิ่งจัดงานใหญ่ไป แต่จะต้องติดตามการจ้างงานให้เกิดขึ้นจริงๆ) การลงทุนโครงการต่างๆ การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด อาทิ สายการบิน ท่องเที่ยว ฯลฯ มิให้เลิกจ้างคนเพิ่ม การเร่งโครงการฟื้นเศรษฐกิจเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่เหลืออยู่เป็นต้น รวมถึงการหาแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่จัดการได้ ในเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก อาทิ ภูเก็ต กระบี่ สมุย ฯลฯ
6. สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการทำงานของรัฐบาล ในรอบ 1 ปี ประจำปี 2563 (สอบถามระหว่าง 1-15 สิงหาคม 2563) พบว่า นโยบายที่ประชาชนพึงพอใจที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2. การแก้ไขปัญหาโควิด-19 3. โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี 4.นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ 5. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
เชื่อว่า ถ้าสำรวจถึงสิ้นปี โครงการคนละครึ่ง มีโอกาสติดอันดับกับเขาด้วย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี