เมื่อไม่นานนี้ ประเด็นเรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอปพลิเคชั่นยอดนิยมต่างๆ ซึ่งมีการกล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้าทั้งในด้านบวก
และลบปะปนกันไป แน่นอนว่าในปัจจุบัน ประโยชน์และโทษของบุหรี่ไฟฟ้านั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงในระดับสากล ทั้งในแง่ของความสามารถในการช่วยเลิกบุหรี่ ความอันตราย หรือผลกระทบต่อสุขภาพ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐควรมีหน้าที่ในการ“ควบคุม” บุหรี่ไฟฟ้า เพราะแม้แต่บุหรี่มวนที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า “อันตราย” ทั้งต่อสุขภาพผู้สูบและคนรอบตัว ก็ยังมีกฎหมายควบคุมชัดเจนตั้งแต่การตั้งราคา บรรจุภัณฑ์ และการสื่อสาร เหตุใดบุหรี่ไฟฟ้าที่จึงได้ถูกแบนอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่มีกฎหมายควบคุม แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคตามหา “ของเถื่อน” ใช้กันเกลื่อนเมือง
ในปัจจุบัน ตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยกว่า 52% ระบุว่า ตนไม่มีความคิดที่จะเลิกหรืออยากเลิกบุหรี่ ซึ่งหากเราปล่อยให้เกือบครึ่งของผู้สูบบุหรี่ในไทยสูบบุหรี่มวนต่อไป ภาระด้านสาธารณสุขของประเทศไทยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่จะหนักหนาเพียงใด ในขณะเดียวกัน นอกจากจะต้องจัดสรรรายได้ภาษีให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่กลุ่มนี้แล้ว รัฐไทยยังต้อง “ปล่อยเบลอ” แล้วปล่อยให้ภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าที่มูลค่าตลาดมหาศาลหลายล้านบาทหลุดมือไป เพราะถูกตลาดใต้ดินยึดไปหมดแล้ว ยังไม่รวมผลกระทบต่อธุรกิจบุหรี่มวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การยาสูบแห่งประเทศไทย
หากมองในภาพที่กว้างออกไปจากประเทศไทยสักหน่อย ก็จะเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขของกว่า 70 ประเทศทั่วโลกได้ทำหน้าที่ในการ “ควบคุม” บุหรี่ไฟฟ้าด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่มีความชัดเจน ทั้งกำหนดอายุผู้ซื้อผู้ขาย รสชาติที่สามารถขายได้ปริมาณนิโคติน พิกัดภาษี รวมถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยต้องเสี่ยงเดาเอาเอง
เร็วๆ นี้จะมีการจัดการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 10 (COP10) ซึ่งประเทศไทยก็จะทำการส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมด้วย ผู้สูบบุหรี่ชาวไทยกว่า 9.9 ล้านคน คงต้องติดตามว่าประเทศไทยจะมีจุดยืนอย่างไร หลังจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศล้มเหลวมาตลอด 9 ปี และสร้างปัญหาตามมามากมายโดยเฉพาะการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนการทุจริตคอร์รัปชั่น การสร้างตลาดมืด การซื้อขายออนไลน์ที่ไม่อาจควบคุมได้
รัฐบาลซึ่งมิใช่แต่กระทรวงสาธารณสุขคงต้องหาแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกลับมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยที่ทุกวันนี้ยังคงคลุมเครือ ขณะที่ปริมาณผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่พบเห็นได้ทั่วไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ดังนั้นเราจะเลือกยอมรับความจริงและจัดการกับปัญหาด้วยเหตุผลหรือจะเลือกที่จะไม่ทำอะไรด้วยความหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป บางทีเราอาจจะได้คำตอบจากคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่เพื่อหาแนวทางใหม่ในการจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันด้วยการร่างกฎหมายออกมาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนและจัดการกับปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ดีกว่าที่ผ่านมาเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็เป็นได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี