เป็นที่ทราบกันแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องเรื่องการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี กรณีสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันเข้าชื่อส่งให้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ให้วินิจฉัยสถานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งอยู่ รวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ พิชิต ชื่นบาน รับตำแหน่งอยู่ก่อนจะประกาศลาออกไปเมื่อสองสามวันมานี้
ทั้งนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง มีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณา และให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องยื่นคำชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54 ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่พิชิต ชื่นบาน เคยดำรงตำแหน่งนั้น เมื่อพิชิตลาออกจากตำแหน่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป สำหรับนายกรัฐมนตรีต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54
และขณะเดียวกัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นชอบกับการไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจึงยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
สำหรับเรื่องราวของพิชิตนั้น คนที่ติดตามข่าวมาโดยตลอดจะรู้ดีว่าพิชิตมีความเกี่ยวข้องและใกล้ชิดมากแค่ไหนกับทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วก็รู้ด้วยว่าพิชิตมีความผิดสถานใดในกรณีเงินสดสองล้านบาทในถุงขนมที่นำไปยื่นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในช่วงที่กำลังมีการพิจารณาคดีการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งทักษิณ และภรรยาในขณะนั้น คือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีด้วยในฐานะจำเลย
ต่อจากนี้ไป ผู้คนที่สนใจข่าวว่าเศรษฐาจะยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่ก็ต้องเฝ้าติดตามว่าหลังจากนี้ 15 วัน เศรษฐาจะชี้แจงอะไรต่อศาลรัฐธรรมนูญ และต้องติดตามต่อไปว่าเศรษฐาจะขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงต่อศาลหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ไม่ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะ โดยรัฐมนตรียังคงดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่จะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ แล้วมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป
คอข่าวการเมืองไทยกำลังเฝ้าดูว่าเหตุการณ์นี้ จะจบลงเหมือนกรณีสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยประสบปัญหาต้องยุติการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 เพราะเหตุชิมไปบ่นไป หรือไม่ เพราะในครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าความเป็นรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม และมาตรา 91 ในกรณีที่สมัครรับงานนอกเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อชิมไปบ่นไป และยกโขยงหกโมงเช้า
สำหรับกรณีของเศรษฐานั้น มีมุมมองต่างกันไป บ้างก็มองว่าไม่น่าจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะความผิดที่เศรษฐาได้ก่อไว้นั้นได้กระทำสำเร็จไปแล้ว แต่บางกระแสก็มองว่า เมื่อพิชิตตัดตอนคดีด้วยการตัดตอนตัวเองด้วยการชิงลาออกจากตำแหน่ง ก็เท่ากับเรื่องราวได้จบไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นที่เศรษฐาจะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีพื้นฐานการวินิจฉัยจากข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ส่วนความเห็นของสังคมก็เป็นเรื่องของสังคม ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้อย่างไร อดใจรอไม่นานก็คงได้ทราบกัน ส่วนเรื่องที่ว่าใครวางยาเศรษฐา หรือใครสั่งให้พิชิตต้องลาออก เรื่องนีั้ก็คงเป็นสิ่งที่สังคมวิพากษ์กันไปเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องต่างคนต่างคิด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี