ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ [International Monetary Fund (IMF)] ปี พ.ศ. 2569 หลายฝ่ายได้เตรียมการอย่างต่อเนื่อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และ กรุงเทพมหานครเจ้าของพื้นที่
น่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี’67 เหลือโต 2.4% จากที่เคยประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนเม.ย.ที่ 2.8% โดยยังไม่รวมผลดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลง
ส่วนปี’68 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.8% (จากเดิมคาดโต 3%) จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และแม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ แต่รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคม และการลงทุนภาครัฐ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ปี 2567 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า ภายใต้ความท้าทายใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในปี 2567-68 ที่ส่งผลต่อภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ กับ จีน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลถึงการค้า และการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก แม้ว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกเหมือนกัน แต่เพราะไทยเป็นประเทศเปิดที่พึ่งพาการส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยว ก็มีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพีทำให้ตรงนี้เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในเชิงโครงสร้าง
ส่วนความท้าทายที่ 2. คือเรื่องภาคการคลัง โดยการลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 การลงทุนของไทยติดลบมาก เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งการที่ใช้งบฯปี’67 ล่าช้าถึง7 เดือน, หนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 คงตัวอยู่ที่ระดับ 64% ของจีดีพี หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อดูแลสังคม แต่ภาพรวมก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ของจีดีพี แต่ยอมรับว่าทิศทางของหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเด็นที่น่าห่วง และต้องจับตา
ขณะที่ความท้าทายที่ 3.คือเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลางนั้น เวิลด์แบงก์มองว่าหากประเทศไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผ่านการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา สาธารณสุข และเพิ่มศักยภาพแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานย้ายเข้าไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้ดีขึ้นนั้น จะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยยกระดับการเติบโตระยะปานกลางให้เพิ่มขึ้นอีก 1% จากระดับคาดการณ์ในปัจจุบันที่ 2.7%
ดังนั้นนโยบายการคลังจะต้องตอบโจทย์สังคมสูงอายุให้มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอจะรักษาเสถียรภาพไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การมุ่งเน้นการทำนโยบายการคลังแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่นกลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมองว่าหากทำนโยบายที่กว้าง จะส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะของประเทศระยะสั้นแม้ไทยจำเป็นจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมาตรการที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย และต้องดูถึงผลดี-ผลเสียว่าเป็นอย่างไร เช่น โครงการดิจิทัล วอลเล็ต การตรึงราคาพลังงาน การใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุและการลงทุนภาครัฐ
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้ ข้อมูลแล้ว อย่าไปโต้แย้ง แต่ควรจะเก็บรายละเอียดเหล่านั้นไว้แก้ไขปัญหาตามข้อเท็จจริงจะดีกว่า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมดีขึ้นเป็นแน่แท้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี