เผลอแป๊บเดียวก็เดินทางมาถึง “เดือนธันวาคม” เดือนสุดท้ายของปีแล้ว หรือก็คือเหลืออีกไม่กี่วัน ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปและล่วงเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งก่อนจะไปถึงช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ในเดือนธันวาคมของทุกปี สำหรับคนไทยยังมีความสำคัญในฐานะ “วันพ่อแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งหลายหน่วยงานก็จะจัดงาน ชวนคุณพ่อกับคุณลูกมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวรวมถึงมอบรางวัลพ่อดีเด่นหรือพ่อตัวอย่างเพื่อเชิดชูเกียรติ
ขณะที่เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 องค์กรที่มุ่งให้ความรู้และปลุกกระแสการสร้างสุขภาวะที่ดีในสังคมอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.) และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) จัดงานแถลงผลการสำรวจรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ “พ่อ...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่” เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องบทบาทของพ่อที่มีความสำคัญกับพฤติกรรม ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าภายในครอบครัว
ในงานนี้ ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจ “พฤติกรรม ความต้องการ ความคาดหวัง “พ่อ” ที่ส่งผลต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานและความสัมพันธ์ในครอบครัว” โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพศชาย ทั้งที่เป็นพ่อและญาติคนอื่นๆ ในครอบครัว (อาทิ ปู่ ตา ลุง น้า อา พี่) ที่มีบทบาทในการรับผิดชอบเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 0-6 ปี จำนวน 1,159 คน ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ
จากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว พบผู้ที่สูบบุหรี่ 461 คน คิดเป็นร้อยละ 39.8 โดยกลุ่มอายุที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ21-30 ปี รองลงมาคือ 31-40 ปี แบ่งเป็นบุหรี่มวน 356 คนคิดเป็นร้อยละ 77.22 บุหรี่ไฟฟ้า 57 คน คิดเป็นร้อยละ 12.36 และสูบทั้ง 2 ชนิด 48 คน คิดเป็นร้อยละ 10.42 โดยภาคใต้สูบบุหรี่มวนสูง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคตะวันออก
ส่วนภาคที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด คือ ภาคตะวันออก รองลงมาคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ แต่อีกด้านหนึ่ง มีพ่อที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 228 คน คิดเป็นร้อยละ 20 โดย “สาเหตุที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้คือมีลูกเป็นแรงจูงใจทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่” มากถึงร้อยละ 88.16 และต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ร้อยละ 88.16
“กลุ่มที่ยังสูบอยู่ให้เหตุผลว่า ช่วยให้คลายเครียด และเคยชินกับการสูบสาเหตุหลักที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้คือความเคยชิน และเครียดจากฐานะทางเศรษฐกิจ โดย 77.87% ของกลุ่มที่สูบบุหรี่รู้ว่าการสูบบุหรี่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของลูกในอนาคต แม้จะยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ แต่มีความตั้งใจที่จะให้ความรู้และพูดคุยกับบุตรหลานเรื่องความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ต่อไป ทั้งนี้ยังพบว่า พ่อมีความรู้ที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำยาและส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.วศิน ระบุ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การสูบบุหรี่ ถือเป็นปัญหาที่คงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มที่นักสูบจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มจากคนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อ มีส่วนสำคัญส่งผลต่อเด็ก ที่อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ นำไปสู่การกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดควันมือสอง มือสามที่ส่งผลโดยตรงกับการเกิดปัญหาสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด และการติดเชื้อในหู และยับยั้งพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ดังนั้น สสส. จึงได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูบบุหรี่ในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก เยาวชนตั้งแต่ต้นทาง
“บุหรี่ไฟฟ้านอกจากมีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่มวนแล้ว ยังมีโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และสารปรุงแต่งกลิ่นรสอีกกว่า 16,000 ชนิด ที่ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลม และเส้นเลือดฝอยอักเสบ เพิ่มความเสี่ยงเสี่ยงโรคปอด หลอดเลือด หัวใจให้กับผู้ที่ได้รับควัน ที่สำคัญคือเกินกว่าครึ่งของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทยเป็นเยาวชน อายุ 15-24 ปี มีข้อมูลพบว่า เด็กและเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนถ้าเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนโดยตรง” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
แบบอย่างของคนที่เลิกบุหรี่ได้เพราะเป็นห่วงลูกอนุวัฒน์ เดชพรพงศ์ ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า ตนเห็นพ่อสูบบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มเป็นวัยรุ่นคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ใหญ่เลยทดลองสูบ และสูบต่อเนื่องมา 20 ปี ถึงแม้จะรู้ว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่เลิกไม่ได้ มีความพยายามเลิกบุหรี่มาหลายครั้งด้วยหลายวิธี จนกระทั่งภรรยาตั้งครรภ์ จึงพยายามเลิกจนสำเร็จเพราะไม่ต้องการให้ควันบุหรี่ทำร้ายสุขภาพคนในครอบครัว
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น กล่าวว่า “พ่อและแม่เป็นต้นแบบที่สำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนในครอบครัว เพราะเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี”โดยในครอบครัวที่ผู้เป็นพ่อใช้การสูบบุหรี่เพื่อรับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวัน อาจเป็นสาเหตุให้เด็กในครอบครัวเริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อพวกเขาเองเผชิญกับปัญหาที่ต้องจัดการกับอารมณ์ได้ อีกทั้งสังคมควรสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าหน้าที่การเลี้ยงดูเด็กไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่
ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนในฐานะคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้ขับเคลื่อนนโยบายบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ผ่านคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบเรื่องบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า มีข้อเสนอหลัก 3 ส่วนคือ 1.ด้านกฎหมาย รัฐบาลต้องวางมาตรการด้านกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น
2.ด้านบริบทของคนที่เกี่ยวข้องต่อเด็ก ทั้งในโรงเรียนและชุมชน มีมาตรการเชิงเฝ้าระวังและป้องกัน และ 3.ด้านครอบครัว ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวและคนรอบตัวเด็กถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดอื่นๆ เพราะเมื่อพูดถึงบทบาทในความเป็นพ่อ พ่อต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เพราะต้นแบบที่ดีเริ่มจากในครอบครัว ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าคนในครอบครัวไม่มีใครสูบบุหรี่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็หวังให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องผลกระทบการสูบบุหรี่ภายในบ้าน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี