กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งในปีนี้ภาพรวมปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติหรือมากกว่าเล็กน้อยประมาณ 5-10% โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2568 แนวโน้มมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
นอกจากนี้ช่วงระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2568 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือจังหวัดเชียงราย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่สายที่อยู่ในระหว่างการขุดลอกลำน้ำ รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้มีการประเมินสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 บางพื้นที่มีแนวโน้มเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่งได้
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ประสาน MRCS เพื่อหารือแนวทางการป้องกัน โดยได้มีการประชุมหารือทวิภาคีด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ซึ่งมีข้อสรุปที่จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Flood Task Team) ระหว่างไทย - สปป. ลาว และ MRC เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับเตรียมการรับมือพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในช่วงฤดูฝนนี้
รวมทั้งยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงร่วมกันในรูปแบบลุ่มน้ำ เนื่องจาก สปป.ลาว มีเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำสาขาจำนวนมากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทั้งนี้ หากแนวโน้มปริมาณฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีจำนวนมาก ต้องวางแผนเร่งพร่องและระบายน้ำออกไปก่อน จะช่วยบรรเทาผลกระทบน้ำล้นตลิ่งได้
ล่าสุด สทนช. ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี และสกลนคร ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุมรับทราบสถานการณ์และเตรียมการในเชิงป้องกันล่วงหน้าโดยเฉพาะการทำคันกั้นน้ำชั่วคราวหรือการจัดเรียงกระสอบทรายให้ได้มาตรฐานและมีความมั่นคงแข็งแรงให้สามารถรองรับแรงดันจากน้ำ และเตรียมการป้องกันในพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงพยาบาล สำนักงานประปาสาขาต่างๆ ของการประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ว่า ประเทศไทยอาจมีพายุจรพาดผ่านเข้ามา 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2568 แม้ว่าปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซ่ ยังมีค่าความเป็นกลาง แต่หลังจากนั้นในช่วงปลายปี ประมาณเดือนตุลาคม ปรากฏการณ์ลานีญาอาจกลับมาและส่งผลให้ฝนตกเพิ่มมากขึ้น จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีผลการระบายน้อยกว่าแผนหรือมีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำจะเต็มอ่าง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน เป็นต้น สทนช. ได้กำชับให้เร่งพร่องน้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่ตกหนักในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจังหวัดต่างๆ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย และเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน
สทนช. ยังเน้นย้ำเป็นพิเศษ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเร่งสร้างการรับรู้ด้านสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี