ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ผ่านแมทช์ที่ 2 กันไปเป็นที่เรียบร้อยและตัวเก็งเต็งแชมป์เปลี่ยนโฉมหน้าจาก “สิงโตคำราม” อังกฤษ มาเป็น“ไก่ทองคำ” ฝรั่งเศส
ทั้งสองทีมออกสตาร์ทก็ไม่ได้ดีเด่อะไรมากนัก ชนะกับเสมอทีมละ 1 เกม และยังไม่แพ้ใคร แต่สิ่งที่พูดถึง และภาพที่ฉายออกมานั้น
ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่เมื่อคุณได้ดูเกมและเปิดกว้างพอ ก็น่าจะร้องอ๋อว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสองทีมนี้
ฝรั่งเศส เองยังไม่สามารถ “ทำประตูได้ด้วยตัวเอง” ด้วยซ้ำไปหลังจากเกมแรกได้การสงเคราะห์ของฝั่งตรงข้าม ชนะ ออสเตรีย 1-0 จากนั้นก็เสมอกับ เนเธอร์แลนด์ 0-0 สิ่งที่พวกเขายังดูดีคือ ไม่เสียประตู แต่กลับทำประตูใครไม่เป็น
เมื่อ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ดาวยิงคนสำคัญบาดเจ็บที่จมูกจากเกมแรก เกมรุกปรับไป-มาใช้วิธีการขยับหมาก ก็สร้างความแตกต่างกันออกไป
แต่สิ่งที่เห็นคือ ยังไม่เฉียบคมพอ
อังกฤษก็คล้ายกัน เนื่องจากว่าการยิงประตูของพวกเขาทั้งสองลูกที่เกิดขึ้น ไม่ได้สวยงามอะไร แต่มาจากจังหวะ “เป็นใจ” และสามารถจบได้ทั้งสกอร์ชัยของ จู๊ด เบลลิ่งแฮม เหนือ เซอร์เบีย 1-0 และเสมอ เดนมาร์ก 1-1
เป็นการขึ้นทางด้านขวา และเปิดแฉลบมาทั้งสองประตู
เมื่อเรามองตรงนี้ เยอรมนี ออกสตาร์ทได้ดุดันที่สุด กับ 2 เกมยิงได้ถึง 7 ประตู แต่ยังไม่ได้ขึ้นมาเป็นท็อป จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ผมถือว่า “ดีแล้ว” เพราะแค่แบกความหวังในฐานะเจ้าภาพ ก็อ่วมอยู่แล้ว และนักบอลทั้งหมดก็ยังไม่ถึงระดับที่จะถูกยกให้เป็นเต็งท็อป แต่อยู่ในกลุ่มเต็งนับว่า เหมาะสมดี
ทีนี้ภาพรวมที่ว่าทำไม ฝรั่งเศส ถึงถูกตั้งคำถามน้อยกว่า อังกฤษ ส่วนหนึ่งก็มาจากการจัดการบริหารทีม
ดีดิเย่ร์ เดส์ชองป์ส คุมทัพเลส เบลอส์ มานานถึง 12 ปีเหมือนกับรู้ว่า เขาควรทำอย่างไรกับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการพูดการจาที่ระแวดระวัง บัวไม่ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
ตรงกันข้ามกับ แกเร็ธ เซาธ์เกต ที่ดูเหมือนกับว่า เขากำลังถูกต้อนให้จนมุม และเจ้าตัวดันไม่ยอมให้ถูกต้อนซะด้วย
ประเด็นสำคัญคือ เซาธ์เกต ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ทีมขาดหายไปนั่นคือ มิดฟิลด์ต้วรับ ที่เขาโพล่งไปว่า ยังหาตัวแทนของ คัลวิน ฟิลลิปส์ ไม่ได้เลย
นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิด เพราะเอาเข้าจริง ฟิลลิปส์ พังร่างตัวเองมาตั้งแต่ย้ายมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อสองปีที่ผ่านมาแล้ว
เมื่อหาตัวแทนไม่ได้ สิ่งที่โค้ชจะต้องทำก็คือ หาวิธีที่เหมาะสมที่สุด แล้วสุดท้ายมันก็คือการทำที่ไม่เหมาะเท่าไหร่นักกับตำแหน่งของ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์
อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรของอังกฤษ มันไม่ได้น้อยถึงขั้นนั้น และยุทธวิธีต่าง ๆ กับนักบอลสมัยใหม่ที่สามารถ “พลิกบทบาท” ของตัวเอง เล่นได้หลายตำแหน่ง ไม่ได้หมายว่า จะสามารถ “เล่นได้ทุกตำแหน่ง” ตั้งแต่ออกสตาร์ท
ตรงกันข้ามเหมือนกับ เดส์ชองป์ส เอาเข้าจริงเขามีนักเตะที่มี“คุณภาพโดยรวม” ที่ดี แต่มีนักบอลที่ “พลิกบทบาท” ของตัวเอง ได้น้อยกว่า นักบอลอังกฤษ ด้วยซ้ำ แต่เขาใช้วิธีการ “เคลื่อนตัว” ให้เป็นธรรมชาติได้มากกว่า
เราจะเห็นการเล่นของ อองตวน กรีซมันน์ ที่โอเวอร์โหลดลงมาเหมือนเป็นกองกลาง และขยับขึ้นไปเป็นกองหน้าตัวที่ 4 ซึ่ง เดส์ชองป์ส เคยทำสำเร็จในตอนใช้ แบลส มาตุยดี้ ตอนบอลโลก ที่แนบในฝั่งซ้ายเพื่อเปิดพื้นที่ให้ ลูกาส์ แอร์กนองเดส ได้อย่างลงตัว
เขากำลังต้องการใช้แผนนี้ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า กองหน้าที่มีนั้นมันไม่ได้เฉียบคมเลย ก็เลยต้องเอาแบบนี้ อย่าลืมว่า ฝรั่งเศสมีปัญหากองหน้าตัวเป้ามาแทบจะทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ เดส์ชองป์ส ยังไม่เป็นนักบอลด้วยซ้ำ
สองตัวเต็งสลับไปมาระหว่าง อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส ที่ออกสตาร์ทเหมือนกัน ชนะ 1 เสมอ 1 แต่ผลสะท้อนต่างกันชัดเจน
แต่พอ เอ็มบัปเป้ ลงไม่ได้ บวกกับสถานการณ์ที่ไม่สมควรจะแพ้ เดส์ชองป์ส เลือกที่จะอัดกลางเน้นผล และก็ได้คะแนนตามที่ต้องการจาก เนเธอร์แลนด์ แม้แฟนบอลบางส่วนอาจไม่พอใจ
ผลลัพธ์ไม่ได้อยู่ที่ความพอใจหรือไม่พอใจ เพราะผลลัพธ์สำคัญคือคะแนน
ทีนี้พอเราเห็น “วิธีการ” ของฝรั่งเศส เมื่อมามองฝั่ง อังกฤษ แล้ว พวกเขาก็เล่นเพื่อผลลัพธ์เช่นกัน แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นจากแผน
พวกเขากำลังทำตามสถานการณ์เกม หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
อย่างที่ เซาธ์เกต เคยพูดไปก็จริง เขาบอกว่าจะดูเป็นแมทช์ๆ ดูเป็นเกมๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเพื่อไม่ให้กดดัน แต่การที่ อังกฤษ พอขึ้นนำแล้วเล่นแบบนั้น ก็ต้องโดนถล่มจากทุกฝ่ายเป็นธรรมดา
1.หมั่นไส้ 2.ขิงกัน 3.มันก็เรื่องจริง
ฟุตบอลอังกฤษ เล่นกดดันคู่แข่งแบบนี้ มันนิ่งเฉยเกินไปทั้งสองเกมนั้น เซอร์เบีย กับ เดนมาร์ก มีเวลาทั้งวันในการจับบอลเพราะเหตุนี้
โครงสร้างของทีม ณ เวลานี้ ถ้าไม่แก้ ถือว่าแย่มากๆ เมื่อนักบอลอย่าง แฮร์รี่ เคน, จู๊ด เบลลิ่งแฮม, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, เดแคลน ไรซ์, จอห์น สโตนส์ ไม่ได้ดูดี ทั้งที่พวกนี้ล้วนแต่เป็นนักฟุตบอลระดับโลกกันแล้วทั้งนั้น
หรือการเปลี่ยนตัวแปลกๆ อาทิ ในเกมกับ เดนมาร์ก ที่เอาบูคาโย่ ซาก้า ที่กำลังเล่นได้ดีมากๆ ออกไป ทั้งที่เขาทำได้หมดโดยเฉพาะจังหวะการเล่นแบบ 1 ต่อ 1
สำคัญก็คือ เทรนท์ ไม่ใช่กองกลาง
มีเหตุผลว่าทำไม เจอร์เก้น คล็อปป์ อดีตบอสใหญ่ลิเวอร์พูล ต้นสังกัด เทรนท์ จึงแทบไม่ได้ส่งเขาลงเล่นที่นั่นเลยตลอดช่วงเวลาที่อยู่กับลิเวอร์พูล
การเตะฟุตบอล ไม่ใช่เพียงเพราะคุณเป็นผู้เล่นที่จ่ายบอลที่ดี นั่นไม่ได้ทำให้คุณเป็นกองกลางได้โดยอัตโนมัติ การเป็นกองกลางต้องใช้ทักษะบางอย่าง ที่นักบอลจากตำแหน่งอื่นทำไม่ได้
สำคัญก็คือ เทรนท์ ไม่ใช่กองกลางตัวรับแบบ “บล็อกต่ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เซาธ์เกต อยากให้เขาเป็น
เทรนท์ ดูดีภายใต้การคุมทีมของคล็อปป์ในบทบาทลูกผสม หรือไฮบริด โรล ดังนั้น คนที่ดูฟุตบอลจะเห็นได้ว่า ไม่ต้องแปลกใจ หรือประหลาดใจอะไรเลยที่จะเห็นว่า เทรนท์ “ไม่มีประสิทธิภาพ” ในตำแหน่งนั้น
เพราะชีวิตประจำวัน ได้แสดงให้เห็นว่าทำไมเขาไม่ได้เล่นตรงนี้ให้กับ ลิเวอร์พูล
สองตัวเต็งสลับไปมาระหว่าง อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส ที่ออกสตาร์ทเหมือนกัน ชนะ 1 เสมอ 1 แต่ผลสะท้อนต่างกันชัดเจน
เขาดูสับสนและหลงทาง ระยะห่างระหว่างเขากับ ไรซ์ นั้นบางจังหวะอยู่กันห่างอยู่กันไกลมาก จนส่งให้กันไม่ได้
แต่บางครั้งก็ใกล้เกินไปจนส่งให้กันไม่ได้เหมือนกัน
นี่คือกระจกใบใหญ่ที่ส่องเข้าไปเป็นลำดับแรก
แต่จากนั้นคันฉ่องที่ส่องลงไปอีกจะเห็นได้เลยว่า มีปัญหากันอีกหลายต่อหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะทางซ้ายมีปัญหาทั้งยวง
แฮร์รี่ แม็กไกวร์ กลายเป็น มาร์ก เกฮี, ลุค ชอว์ กลายเป็น คีแรน ทริปเปียร์ มันส่งผลต่อการเล่นไปหนึ่งฝั่งทันที
เพราะ คีแรน ทริปเปียร์ แบ๊กซ้ายจำเป็นที่เล่นได้แค่ตัวประคอง และ ฟิล โฟเด้น โดนตีกรอบไร้อิสระ จึงหายไปจากเกม กระทั่งเจ้าตัวยอมแผนแตกลงมาล่าบอลด้วยตัวเองช่วยท้ายครึ่งแรก กับ เดนมาร์ก
แม้แต่ตัวของ จู๊ด เบลลิ่งแฮม ก็ต้องเล่นเพื่อทีมและพี่ๆ มากกว่านี้ เพราะหลายจังหวะเห็นแก่ตัวกับบอลเหมือนกัน เขาไม่ได้ส่งบอลให้ เคนหรือ ซาก้า แต่บางจังหวะแค่ทำงานเพื่อเกียรติยศส่วนตัว
การออกบอลไม่กล้าได้กล้าเสีย จุดนี้เขายังห่างจาก เกล็นฮ็อดเดิ้ล, พอล แกสคอยน์, แฟรงค์ แลมพาร์ด, สตีเว่น เจอร์ราร์ด,พอล สโคลส์ จากตำแหน่งการเล่นจากจุดเดียวกันกับที่ทีมต้องการ “บอลเสี่ยง”
เมื่อบอลขึ้นที่ จู๊ด ก็จะต้องเล่นเสี่ยงบ้าง หรือไม่ จู๊ด เองก็อยากเล่น แล้วใครกันแน่ที่สั่งให้เด็ก “ไม่กล้าเสี่ยง”
มันก็คล้ายกับเคสการตีกรอบใส่ โฟเด้น หรือไม่
แน่นอนที่สุด การโฟกัสไปที่ เคน, เทรนท์, โฟเด้น หรือแพะรับบาปใดๆ ก็ตามที่ “บางคน” ต้องการชี้ไปที่นั้นเป็นเรื่องไร้สาระอย่างยิ่ง เพราะเด็กดูยังรู้เลยว่า ปัญหาของอังกฤษ มีเรื่องเดียวเท่านั่น คือ แท็กติก
1.1.แทคติคในระหว่างการครองบอล กับ 1.2 แทคติคในระหว่างไม่ได้ครองบอล
เสมือนว่า เซาท์เกต กำลังขับรถเฟอร์รารี่ เแต่ขับมันด้วยความเร็ว 10 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ ขับให้มันพังเป็นเกียร์ๆ ไป
เสมือนว่า เซาธ์เกต ทำให้โทรศัพท์ของเขาอยู่ในโหมดพลังงานต่ำ ทั้งที่ยังเหลือแบตเตอรี่ 99%
เสมือนว่า กิจกรรมโปรดของ เซาธ์เกต คือการดูการทาสีบ้านแล้วค่อยๆ เห็นมันแห้งคาตา
เอาเข้าจริง กุนซือระดับเขาที่เคยพาทีมทะลุเข้าถึงรอบรองบอลโลก เข้าถึงชิงแชมป์ยูโร ย่อมมีดี ไม่งั้น เอฟเอ คงจะไม่หลับหูหลับตาหรือว่า มืดบอดในการให้เขาทำงานเสี่ยงโดนด่าแบบนี้ แต่ผ่านมา 2 นัดในทัวร์นาเมนท์นี้ เหมือนกับว่า เซาธ์เกต กำลังแพ้ยาอะไรบางอย่าง หรือนอนนานจนเส้นหลับทับเส้นตื่น
ดังนั้นเขาจำเป็นต้องแก้ไขในรอบน็อกเอาท์ และเลิกฝันถึง
แฟนเก่าอย่าง ฟิลลิปส์ ซะที(เหอะ)
เพราะตอนนี้ทีมอยู่กันครบหมดแล้ว แต่ผู้เล่นต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยด่วน
ไม่ใช่จากแฟนบอล, นักวิจารณ์ หรือโลกโซเชียล
แต่จากโค้ชตัวเอง
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี